โรคูโรเนียม (Rocuronium)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโรคูโรเนียม (Rocuronium) เป็นยาคลายกล้ามเนื้อประเภท Nondepolarizing neuro muscular blocker (กลุ่มยาออกฤทธ์ต่อกระแสประสาทที่จุดต่อระหว่างกล้ามเนื้อกับเส้นประ สาท เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง) ถูกนำมาใช้ระหว่างการผ่าตัดและช่วยทำให้การสอดท่อหายใจให้กับผู้ป่วยเป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้น ยานี้จะออกฤทธิ์ปิดกั้นกระแสประสาทที่จะถูกส่งไปยังกล้ามเนื้อ เป็นผลให้กล้ามเนื้อคลายตัวและเกิดอัมพาตชั่วคราว

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาฉีดและมีใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น ก่อน การใช้ยานี้แพทย์จะต้องตรวจสอบสถานภาพทางการแพทย์ของผู้ป่วยก่อนทุกครั้งเช่น แพ้ยาชนิดนี้หรือไม่ มีปัญหาทางด้าน ตับ - ไต หรืออยู่ในภาวะตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยได้รับยาประเภทใดมาก่อน

หลังการให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำกับผู้ป่วย ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์โดยใช้เวลาเพียงประ มาณ 1 - 2 นาทีหรือไม่เกิน 4 นาทีเป็นอย่างมาก ปกติการได้รับยาครั้งหนึ่งจะมีช่วงเวลาที่ยาออกฤทธิ์ประมาณ 30 นาที ตัวยาในกระแสเลือดประมาณ 30% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาเฉลี่ย 1.2 - 1.4 ชั่วโมงเพื่อกำจัดปริมาณยา 50% ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

โรคูโรเนียมเป็นยาคลายกล้ามเนื้ออีกหนึ่งรายการที่คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โรคูโรเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โรคูโรเนียม

ยาโรคูโรเนียมมีสรรพคุณดังนี้

  • ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวระหว่างการผ่าตัด
  • ช่วยให้การสอดท่อช่วยหายใจเข้าท่อลมทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น

โรคูโรเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโรคูโรเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งคำสั่งจากกระแสประสาทที่ส่งไปยังกล้ามเนื้อ โดยตัวยาจะแย่งการจับตัวของสารสื่อประสาทชนิด Acetylcholine กับตัวรับ (Receptor) ที่มีอยู่ตามกล้ามเนื้อของอวัยวะของร่างกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานจึงเป็นเหตุให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ จนทำให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ

โรคูโรเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโรคูโรเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีด ขนาด 50 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร

โรคูโรเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างขนาดยาโรคูโรเนียมสำหรับคลายกล้ามเนื้อและช่วยในการสอดท่อช่วยหายใจก่อนการผ่าตัดดังนี้

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาช้าๆทางหลอดเลือดดำโดยตรง 600 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขนาดที่ใช้คงระดับยาในกระแสเลือด 150 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือถ้าหยดเข้า ทางหลอดเลือดดำ 300 - 600 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง
  • ผู้สูงอายุ: ให้ลดขนาดที่ใช้คงระดับยาในกระแสเลือดลงมาเป็น 75 - 100 ไมโครกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม
  • เด็กแรกเกิดที่มีอายุ 28 วันขึ้นไปจนอายุ 18 ปี: สามารถให้ขนาดยาเท่ากับผู้ใหญ่ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็กที่อายุต่ำกว่า 28 วัน: ไม่มีข้อมูลการศึกษาแน่ชัดถึงการใช้ยานี้และขนาดยา ดังนั้นในเด็กวัยนี้การใช้ยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษา แพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโรคูโรเนียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโรคูโรเนียม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลาย ประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โรคูโรเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโรคูโรเนียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ดังนี้เช่น เกิดอาการผื่นคันหรือผื่นบวม หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัว ใจ (ECG) พบความผิดปกติ เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของหลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงบริเวณหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น

การได้รับยานี้เกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะหยุดการหายใจด้วยกะบังลมและกล้ามเนื้อช่วงซี่โครงเกิดอัมพาต

มีข้อควรระวังการใช้โรคูโรเนียมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโรคูโรเนียมดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคปอดต่างๆ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยด้วยโรคท่อน้ำดี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ/ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโรคูโรเนียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โรคูโรเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโรคูโรเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาโรคูโรเนียมร่วมกับยาบางตัวจะทำให้ฤทธิ์ของยาโรคูโรเนียมเพิ่มมากขึ้น การจะใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป ยากลุ่มดังกล่าวเช่น Lidocain, Procainamide, Quinidine, Verapamil, Aminoglycosides, ยาสลบ และ Vanco mycin
  • การใช้ยาโรคูโรเนียมร่วมกับยา Clindamycin จะทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นอัมพาตได้นานขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโรคูโรเนียมร่วมกับยา Pyridostigmine (ยาเพิ่มการหดตัวของกล้ามเนื้อ) และ Galantamine (ยาโรคสมองเสื่อม) อาจทำให้ฤทธิ์ของยาโรคูโรเนียมลดน้อยลง การใช้ยาร่วมกัน จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • การใช้ยา Carbamazepine หรือ Phenytoin เป็นเวลานานสามารถทำให้ร่างกายผู้ป่วยดื้อต่อยาโรคูโรเนียมได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโรคูโรเนียมอย่างไร?

ควรเก็บยาโรคูโรเนียมที่อุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บ ยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โรคูโรเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโรคูโรเนียมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นๆและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Esmeron (เอสมีรอน) NV Organon
ZEMURON (ซีมูรอน) Organon (lreland) Ltd. Asian Union

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/cdi/rocuronium.html [2015,May16]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Rocuronium_bromide[2015,May16]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/194#item-9078 [2015,May16]
  4. https://www.mims.com/usa/drug/info/rocuronium%20bromide/?type=full&mtype=generic#Dosage[2015,May16]
  5. http://www.empr.com/zemuron/drug/3667/[2015,May16]
  6. http://xpil.medicines.org.uk/ViewPil.aspx?DocID=8179[2015,May16]