โรคหัวใจของคนอกหัก (ตอนที่ 3 และตอนจบ)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 8 เมษายน 2562
- Tweet
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคอกหัก ได้แก่
- เพศ – มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน)
- อายุ – มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- มีประวัติทางด้านระบบประสาทผิดปกติ เช่น ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือเป็นโรคลมบ้าหมู ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคอกหักเพิ่มขึ้น
- เคยหรือกำลังมีความแปรปรวนทางจิตเวช (Psychiatric disorder) เช่น เป็นโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า
สำหรับการวินิจฉัยโรคนี้ทำได้ด้วยการ
- สอบถามประวัติส่วนตัว เช่น เรื่องที่ทำให้เครียด การสูญเสียคนรัก และตรวจร่างกาย
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram = ECG)
- ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
- ตรวจเลือด – เพราะคนที่เป็นโรคนี้จะมีเอนไซม์ในเลือดบางตัวที่สูง
- เอกซเรย์หน้าอก – เพื่อดูขนาดและรูปร่างของหัวใจ
- ตรวจเอ็มอาร์ไอ
- ฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) – เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน
- ถ่ายภาพรังสีหัวใจห้องล่างซ้ายเพื่อดูขนาดของหัวใจและความสามารถในการสูบฉีด (Ventriculogram)
โรคนี้ยังไม่มีการรักษาที่เป็นมาตราฐาน แพทย์มักจ่ายยาที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจวาย ทั้งนี้เพื่อช่วยลดภาระการทำงานของหัวใจ เช่น
- ยาลดความดันโลหิต (Angiotensin-converting enzyme inhibitors = ACE inhibitors)
- ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blockers)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics)
ซึ่งอาการมักจะหายใน 1 เดือน และมักจะไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำอีก
ทั้งนี้ การรักษาด้วยการทำบอลลูน การขยายหลอดเลือดหัวใจโดยใส่ขดลวด หรือการผ่าตัดจะใช้ไม่ได้ผลสำหรับการรักษาโรคนี้
ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบถึงวิธีป้องกันโรคนี้ แต่การเรียนรู้ที่จะจัดการกับความเครียด การแก้ปัญหา และการใช้เทคนิคการผ่อนคลายจะช่วยทำให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขี้น
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงกับการหาวิธีคลายเครียดในทางที่ผิดๆ เช่น การดื่มเหล้าแก้เครียด การกินแก้เครียด การใช้ยาเสพติด หรือการสูบบุหรี่ ซึ่งไม่ใช่ทางออกที่ดี ตรงกันข้ามอาจก่อให้เกิดปัญหากับสุขภาพเพิ่มขึ้นอีก
แหล่งข้อมูล:
- Broken heart syndrome. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/broken-heart-syndrome/symptoms-causes/syc-20354617 [2019, April 6].
- Broken Heart Syndrome. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17857-broken-heart-syndrome[2019, April 6].