โรคหลอดเลือดสมองในเด็ก (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 11 สิงหาคม 2563
- Tweet
Anna Wasylewski แม่ของเด็กหญิงอายุ 14 ปี Zosia Wasylewski ในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ได้กล่าวกับหนังสือพิมพ์ว่า ลูกสาวเธอได้ล้มลงกลางห้องเรียนเนื่องมาจากอาการของโรคหลอดเลือดสมอง เธอจึงอยากเตือนทุกคนว่า โรคนี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยแล้ว
โดย Zosia Wasylewski เป็นคนไข้ที่มีอายุน้อยที่สุดของ Spectrum Health ที่ได้รับการรักษาด้วยวิธี Mechanical thrombectomy ซึ่งเป็นการนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดสมองออกผ่านทางสายสวน เพื่อเปิดหลอดเลือดให้เลือดสามารถไปเลี้ยงสมองได้
Zosia Wasylewski เล่าว่าระหว่างที่เธอนั่งเล่นเกมบนพื้นห้องเรียนวิชาเรขาคณิต เธอได้ล้มทับเพื่อนเธอ ตอนแรกเพื่อนๆ หัวเราะเธอ แต่หลังจากนั้นทุกคนก็กลับมานั่งที่เก้าอี้ ยกเว้น Zosia ที่ไม่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแขนและขาได้ ทั้งเธอยังพูดติดตลกว่า สงสัยว่าเธอจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โดยไม่รู้ว่านั่นคือความจริง
เมื่อเธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แพทย์ได้ทำซีทีสแกนสมองและพบว่าหลอดเลือดแดง (Artery) ได้อุดตันทางสมองซีกขวา ภายหลังจากได้รับการรักษา หลังเกิดเหตุ 2 ชั่วโมง เธอจึงเริ่มกลับมาพูด เดิน และ เคลื่อนไหว แต่ก็ยังปวดศีรษะอยู่ ซึ่ง Dr. Justin Singer แพทย์ผู้รักษากล่าวว่า หากเธอมารักษาช้ากว่านี้เธออาจจะเป็นอัมพาตหรือไม่สามารถเดินได้อีก
Dr. Justin Singer กล่าวว่า โรคนี้หากได้รับการรักษาที่รวดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งดีกับผู้ป่วยเท่านั้น
โรคหลอดเลือดสมองในเด็ก (Pediatric stroke) เป็นโรคที่พบยาก โดย CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ของสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่ามีโอกาสเกิดประมาณร้อยละ 0.025 ของเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
โดยสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในเด็กอาจเกิดได้จาก
- หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตันเพราะมีลิ่มเลือด (Thromboembolus) หรือหลอดเลือดอาจมีการตีบเอง จึงทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งสามารถพบได้ในเด็กที่เป็นโรคโมยาโมยา (Moyamoya disease)
- เลือดมีออกซิเจนไม่พอ ซึ่งอาจเกิดได้ในกรณีที่เด็กไม่สามารถหายใจเป็นเวลานาน การได้รับก๊าซพิษคาร์บอนมอนอไซด์ (Carbon monoxide poisoning) หรือกรณีที่หัวใจเต้นผิดปกติทำให้เลือดหมุนเวียนไปยังสมองไม่เร็วพอ สมองจึงขาดออกซิเจน
- สมองอาจถูกกดทับ ซึ่งสามารถเกิดได้กรณีที่สมองบวมหลังการมีอุบัติเหตุ หรือมีเลือดออกในสมองจนทำลายเนื้อเยื่อสมองและทำให้ออกซิเจนไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้
- พันธุกรรม (Genetic)
โดยสรุปก็คือ การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อสมองและการขาดออกซิเจนสามารถทำให้เซลล์สมองตาย และมีผลทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
แหล่งข้อมูล:
- After collapsing in class, 14-year-old hopes to raise awareness of pediatric stroke. https://www.yahoo.com/news/collapsing-class-14-old-hopes-174600855.html/ [2020, August 10].
- Stroke in Children. http://www.childrenshospital.org/conditions-and-treatments/conditions/s/strokel [2020, August 10].
- Pediatric Stroke Types, Causes, and Symptoms. https://www.chp.edu/our-services/brain/neurology/stroke-program/causes-and-symptoms [2020, August 10].