โรคหลอดเลือดสมองตอน 10 ประการที่ต้องรู้เมื่อทานยาละลายลิ่มเลือด

โรคหลอดเลือดสมอง-44

....

  1. ยาละลายลิ่มเลือด ได้แก่ ยาชื่อ วาร์ฟาริน คูมาดิน เป็นต้น และในปัจจุบันมียาละลายลิ่มเลือดที่มีกลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกับยาละลายลิ่มเลือดกลุ่มเดิม เรียกสั้นๆ ว่ากลุ่ม โนแอค (NOAC) ซึ่งจะมีคุณสมบัติเด่น คือ ไม่ต้องตรวจเลือดเพื่อการประเมินผลการรักษา แต่ราคาแพงกว่ามาก และยังมีใช้ไม่กว้างขวาง มีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น
  2. ออกฤทธิ์ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ให้แข็งตัวยากกว่าปกติ เนื่องจากโรคที่ต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือดรักษานั้น จะมีปัญหาการแข็งตัวของเลือดง่ายกว่าปกติ และเกิดการตกตะกอนของเลือด เกิดเป็นลิ่มเลือดได้ง่าย จึงมีข้อบ่งชี้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอัมพาตเหตุโรคหัวใจ ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน หลอดเลือดแดงปอดอุดตันจากลิ่มเลือด โพรงหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน
  3. ระยะเวลาการรักษาขึ้นกับโรคและสาเหตุ เช่น รักษาหลอดเลือดดำที่ขาอุดตันที่เกิดจากการนอนนาน ไม่มีสาเหตุจากอื่นๆ ให้การรักษานานประมาณ 6 เดือน ถ้าใส่ลิ้นหัวใจเทียมก็ต้องทานยาตลอดชีวิต อัมพาตเหตุโรคหัวใจก็ต้องรักษาตลอดชีวิต
  4. ต้องมีการติดตามค่าการแข็งตัวของเลือด (INR: ไอเอ็นอาร์) ทุกครั้งที่มีการนัดมาติดตามการรักษา ค่าที่ต้องการให้มีผลการรักษาที่ดีคือ 2-3 เท่าของค่าปกติ ถ้าผลการตรวจไม่ได้ตามระดับที่ต้องการ ก็จะมีการปรับขนาดยา เพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมาย
  5. อาจเกิดรอยฟกช้ำ จ้ำเลือดออกใต้ผิวหนังได้ง่าย ไม่ต้องตกใจ แต่ถ้ามีอาการถ่ายดำ ซีด อ่อนเพลีย ปวดหัวรุนแรงต้องรีบพบแพทย์ทันที
  6. ระวังไม่ให้มีการกระแทก หรือศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน เพราะจะเกิดเลือดออกในสมองได้ง่าย เนื่องจากการทานยาละลายลิ่มเลือดนั้นจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ง่ายมาก ถ้าศีรษะเกิดการกระทบกระเทือน ถ้ามีเลือดออกก็จะออกไม่หยุด ทำให้เสียชีวิตได้ ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
  7. กีฬาที่เล่นได้ ต้องไม่มีการประทะ กระแทกร่างกายโดยเฉพาะศีรษะ หรือล้มง่าย จึงไม่ควรเล่นกีฬา ชกมวย รักบี้ จักรยานเสือภูเขา ไต่หน้าผา ตะกร้อ ฟุตบอล ถ้ามีการกระทบกระเทือนจะเกิดภาวะเลือดออกในสมอง อาจส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้
  8. ห้ามทานสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ถ้าต้องทานยารักษาโรคอื่นๆ เพิ่มเติม ต้องบอกแพทย์ทุกครั้งว่าทานยาละลายลิ่มเลือด เนื่องจากยาละลายลิ่มเลือดเกิดการตีกันกับยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ ส่งผลให้เกิดระดับยาเกินขนาด เลือดออกในอวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง ทางเดินอาหาร เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
  9. อาหารที่ทานไม่ควรเน้นไปที่ผักสีเขียวชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ เนื่องจากยาละลายลิ่มเลือดออกฤทธิ์ต้านวิตะมินเค ซึ่งผักสีเขียวจะมีวิตะมินเคสูง ทำให้ยาออกฤทธิ์ลดลง การทานยาละลายลิ่มเลือดไม่ควรทานใกล้กับอาหาร เพราะยาจะตีกับอาหารได้ง่าย ก็จะส่งผลต่อระดับยาที่ออกฤทธิ์ ทำให้ผลการรักษาไม่เป็นไปตามที่ต้องการ
  10. ต้องหยุดยาละลายลิ่มเลือดก่อนทุกครั้ง ถ้าวางแผนล่วงหน้าในการทำฟัน ผ่าตัดทุกชนิด เนื่องจากการทำหัตถการใดๆ ที่มีเลือดออกแล้ว ก็จะหยุดยากมาก จึงต้องหยุดยาล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้การแข็งตัวของเลือดกลับมาเป็นปกติ ค่าไอเอ็นอาร์เป็นปกติ จึงปลอดภัยในการทำหัตถการ หรือผ่าตัด

ยาละลายลิ่มเลือดมีประโยชน์และปลอดภัย เพียงแค่ท่านปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด