โรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง (Hypertensive encephalopathy)

สารบัญ

บทนำ

ความดันโลหิตสูง เป็นภัยเงียบของมนุษย์เรา เป็นโรคที่พบบ่อยมาก และเป็นต้นเหตุก่อ ให้เกิดโรคต่างๆมากมาย เช่น โรคหัวใจขาดเลือด (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย) หัวใจวาย โรคไตวาย และโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางสมอง เช่น สับสน ชัก ซึม ได้ กลุ่มอาการผิดปกติต่างๆทางสมองที่เกิดขึ้น ที่มีสาเหตุจากความดันโลหิตสูง (โรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง/Hypertensive encephalopathy) มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รักษาและป้องกันอย่างไร ควรมีความรู้เบื้องต้นเรื่องนี้ครับ

ความดันโลหิตสูงมีกี่ระดับ?

โรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง คือ ความดันโลหิตที่สูงตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอท (มิลลิเมตรปรอท) โดยแบ่งความรุนแรงง่ายๆเป็น 3 ระยะ/ระดับจากความรุนแรงน้อยไปหามาก คือ

  • ระยะที่ 1 ค่าความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 140/90 ถึง 159/99 มม.ปรอท
  • ระยะที่ 2 ค่าความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 160/100 ถึง 179/119 มม.ปรอท และ
  • ระยะที่ 3 หรือ ความดันโลหิตสูงวิกฤติ (Hypertensive crisis) ค่าความดันโลหิตสูงตั้ง แต่ 180/120 มม.ปรอท ขึ้นไป

ทั้งนี้ ภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤติประกอบด้วย 2 ภาวะ คือ

  • ภาวะความดันโลหิตสูงฉุกเฉิน (Emergency) คือ ภาวะที่ตรวจพบว่า มีอวัยวะที่เกี่ยว ข้องได้ถูกทำลาย เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว เลือดออกในจอตา ไตวาย และมีกลุ่มอาการทางสมอง เช่น ชัก สับสน
  • ภาวะความดันโลหิตสูงเร่งด่วน (Urgency) คือ ภาวะที่ตรวจไม่พบว่ามีอวัยวะที่เกี่ยว ข้องถูกทำลาย

ภาวะความดันโลหิตสูงฉุกเฉินที่ก่อโรคสมองเรียกว่าอะไร?

ภาวะความดันโลหิตสูงฉุกเฉินร่วมกับมีโรค/กลุ่มอาการทางสมอง เรียกว่า “โรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง (Hypertensive encephalopathy)” โดยเป็นโรค/ภาวะ/ กลุ่มอาการ ที่เกิดจากมีการสูงขึ้นของความดันโลหิต ตั้งแต่180/120 มม.ปรอทขึ้นไป อย่างรวด เร็ว ส่งผลให้มีความผิดปกติทางสมองเกิดขึ้น

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง?

ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง ได้แก่

  • ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงและรักษาไม่ดี ขาดยา และ/หรือมีภาวะไตวายร่วมด้วย
  • ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ
  • ทานยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  • หญิงตั้งครรภ์

กลุ่มโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูงมีอาการอย่างไร?

โรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูงนี้ จะมีความดันที่สูง ตั้งแต่ 180/120 มม.ปรอทขึ้นไป ร่วมกับมีอาการทางสมองที่เกิดจากสมองบวม ได้แก่

  • ปวดศีรษะรุนแรงและอาเจียน
  • กระสับกระส่าย สับสน
  • ชัก และ
  • หมดสติ โคม่า
  • ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการตาบอดได้

อนึ่ง โรคนี้ จะไม่พบอาการแขนขาอ่อนแรง และอาการผิดปกติทั้งหมด รวมทั้งอาการตาบอด จะกลับเป็นปกติ หลังการรักษาได้ผล คือ ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้

เมื่อใดควรพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการปวดศีรษะรุนแรง เริ่มกระ สับกระส่าย ไม่ควรรอจนตามัว หรือ ซึม ชัก ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนเกิดปัญหาที่รุนแรงเหล่านี้เสมอ

แพทย์วินิจฉัยกลุ่มโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูงได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูงได้จาก อาการผิดปกติดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ร่วมกับการตรวจวัดความดันโลหิตที่สูงตั้งแต่ 180/120 มม.ปรอทขึ้นไป และการตรวจร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองจะต้องไม่มีแขนขาอ่อนแรง เพราะถ้ามีแขนขาอ่อนแรง น่าจะเป็นจากโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า

อนึ่ง ถ้าผู้ป่วยมีเพียงภาวะ/อาการสับสน ปวดศีรษะไม่รุนแรง และแพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติอื่น แพทย์อาจไม่ส่งตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ แต่ถ้ามีตาบอด ชัก ซึมมาก โคม่า แพทย์มักส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอสมอง เพื่อแยกว่ามีรอยโรคในสมองหรือไม่ ซึ่งผลการตรวจที่จะช่วยวินิจฉัยกลุ่มอาการนี้ คือ อาจพบ ว่ามีสมองบวมทั่วๆไป หรือ พบว่าสมองใหญ่กลีบท้ายทอย (Occipital lobe) มีอาการบวม หรืออาจพบสมองส่วนอื่นๆบวมด้วยก็ได้ แต่อาการบวมจะเป็นเฉพาะสมองเนื้อสีขาว (White matter ) ซึ่งเมื่อควบคุมความดันโลหิตได้ดี แก้ไขสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ ความผิดปกติเหล่านี้ มักกลับเป็นปกติในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

รักษาโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูงอย่างไร?

การรักษาโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูงที่สำคัญ คือ ต้องรีบควบคุมความดันโลหิต โดยการให้ยาลดความดันโลหิตชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดความดันลงมาให้ปกติภายใน 2-4 ชั่วโมง โดยลดลงครั้งละประมาณ 15-20% และถ้ามีอาการชักรุนแรง ก็อาจให้ยากันชักระยะเวลาสั้นๆร่วมด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการ/ภาวะชักต่อเนื่อง

กลุ่มโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูงมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่ผลการรักษาดีมาก ผู้ ป่วยหายเป็นปกติรวมทั้งอาการตาบอดด้วย

อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเกิดกลุ่มอาการเหล่านี้ซ้ำ เมื่อควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดี หรือเมื่อเคยมีอาการชัก

กลุ่มโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูงก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

กรณีให้การรักษาไม่ทันผู้ป่วยโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง อาจมีผลข้างเคียง/โอ กาสเกิดภาวะชักต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะชักต่อเนื่อง), ไตวาย, หัวใจวาย, และ/หรือ หลอดเลือดสมองแตก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก) ที่ส่งผลให้เกิดอัมพาต ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้ ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

เมื่อเกิดโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ผู้ป่วยโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง หลังจากออกจากโรงพยาบาลมาพักรักษาต่อที่บ้าน ควรต้อง

  • ทานยาให้สม่ำเสมอ ห้ามขาดยา
  • ต้องติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
  • ไม่ทานอาหารเค็ม (เกลือแกง เกลือโซเดียม)
  • ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างดี และ
  • ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • มีอาการบวมตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ที่เท้า ที่รอบดวงตา
    • ปวดศีรษะรุนแรง
    • ตามัว
    • สับสน
    • ซึม
    • ชัก
    • และ/หรือมีอาการผิดปกติที่ไม่เคยมีมาก่อน

ป้องกันโรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูงได้อย่างไร?

โรคสมองเหตุจากความดันโลหิตสูง ป้องกันได้โดย ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง ต้องควบ คุมความดันโลหิตให้ดีตลอดเวลา ไม่ควรขาดยาทันที และกรณีผู้ป่วยเป็นหญิงตั้งครรภ์ ต้องหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตตามแพทย์แนะนำ และพบแพทย์ตรงตามนัดสม่ำเสมอ