โรคลูปัสกับการตั้งครรภ์ (Systemic Lupus Erythematosus in Pregnancy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคลูปัส (Lupus) เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง หรือโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูนชนิดหนึ่ง หรือที่คนไทยเรียกว่า “โรคพุ่มพวง” มีชื่อทางการแพทย์ที่เรียกย่อว่า “โรคเอส เอล อี (SLE, Systemic lupus erythematosus) เกิดจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Antibody) ในร่างกาย เกิดการเปลี่ยนแปลงไป โดยภูมิคุ้มกันฯในร่างกาย จำเนื้อเยื่อและเซลล์ในร่างกายของตนเองไม่ได้ จึงเข้าไปจับในเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ซึ่งการที่ภูมิคุ้มกันฯเข้าจับกับเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆนี้ จะกระตุ้นให้เนื้อเยื่อและอวัยวะนั้นๆเกิดการอักเสบ และเกิดอาการของโรคลู ปัส ขึ้นมา

โรคลูปัสนี้ มักพบในผู้หญิง อายุระหว่าง 20-45 ปี โดยเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชายถึง 9-10 เท่า สาเหตุการเกิดโรคนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยบางอย่างที่มีความ สัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ เช่น

  • กรรมพันธุ์
  • ฮอร์โมนเพศหญิง
  • การตั้งครรภ์
  • สภาพแวดล้อม เช่น แสงแดด (หรือ รังสียูวี ultraviolet)
  • การติดเชื้อ
  • การได้รับสารเคมีบางชนิด

โรคลูปัสมีอาการอย่างไร?

โรคลูปัสกับการตั้งครรภ์

อาการและอาการแสดงของโรคลูปัส มีดังนี้

  • อาการทางผิวหนัง เช่น มีผื่นแดงที่ใบหน้า ที่โหนกแก้มทั้งสองข้าง มีแผลที่ไม่เจ็บในปาก ผมร่วง
  • อาการทางข้อและกล้ามเนื้อ เช่น ปวดตามข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า กล้ามเนื้ออักเสบ
  • อาการทางไต เช่น เปลือกตา/หนังตาและใบหน้าบวม เท้าบวมทั้งสองข้าง ความดันโล หิตสูง ปัสสาวะออกน้อย ปัสสาวะเป็นฟอง
  • อาการทางระบบประสาท เช่น ปลายประสาทอักเสบ สมองอักเสบ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี)
  • อาการทางระบบโลหิต เช่น ภาวะซีด มีจ้ำเลือดตามตัว เลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • อาการทางหัวใจและปอด เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่าย ปอดอักเสบ
  • อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น หลอดอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ

อนึ่ง โรคลูปัส เป็นโรคที่เรื้อรัง รักษาไม่หายขาด จะมีการกำเริบของโรคสลับกับโรคสงบ ผู้ ป่วยเหล่านี้บางราย อาจมีโรคอื่นๆซ่อนเร้นร่วมด้วย เช่น โรคลิ่มเลือดอุดตัน โรคความดันในปอดสูง โรคไต เป็นต้น ซึ่งในอดีตผู้ป่วยเหล่านี้มักจะเสียชีวิตในเวลาอันสั้นจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แต่ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ได้มีการพัฒนา และคิดค้นยาในการรักษาที่ดีขึ้น โดยพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มีอายุยืนยาวมากกว่าในอดีต ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป บางรายสามารถแต่งงาน มีครอบครัว และสามารถมีบุตรได้

โรคลูปัสตั้งครรภ์ได้ไหม?

ผู้ป่วยโรคลูปัส สามารถตั้งครรภ์ได้เหมือนคนปกติ แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนการตั้งครรภ์เสมอ เพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งครรภ์

การอนุญาตให้ตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป ขึ้นกับอาการความรุนแรงของโรค และระยะเวลาที่โรคสงบ เนื่องจากความผิดปกติของอวัยวะในมารดา บางระบบจะส่งให้เกิดการกำเริบของโรคในขณะตั้งครรภ์ได้ และยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคลูปัส อาจส่งผลให้เกิดความพิการในทารก

โดยทั่วไป มักจะมีเกณฑ์การพิจารณาหลักๆในการให้ตั้งครรภ์ ดังนี้

  • ระยะเวลาสงบของโรคก่อนตั้งครรภ์ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
  • ไม่มีการใช้ยารักษาที่มีผลต่อทารก เช่น ยา Methotrexate, Cyclophosphamide เป็นต้น
  • การทำงานของไตปกติ โดยไม่พบโปรตีนในปัสสาวะ
  • ไม่พบว่ามีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคแอนตี้ฟอสโฟไลปิด (Antiphos pholipid syndrome/โรคออโตอิมมูนชนิดหนึ่ง)

ในกรณีที่แพทย์ผู้ให้การรักษาโรคลูปัส เห็นควรให้ผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ได้ ผู้ป่วยโรคลู ปัส จะถูกส่งต่อมาพบสูติแพทย์ เพื่อปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลระหว่างการตั้ง ครรภ์ และในช่วงคลอดบุตร สูติแพทย์จะทำการนัดฝากครรภ์ในคลินิกการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง และให้การดูแลร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคข้อและโรคภูมิแพ้ เพื่อเฝ้าระวังการกำเริบของโรคและภาวะแทรกซ้อน ที่อาจจะเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ รวมทั้งจากการใช้ยาของผู้ป่วยโรคลู ปัส จนกระทั่งตั้งครรภ์และคลอดบุตร ผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยาด้วยตนเอง เนื่องจากการหยุดใช้ยาด้วยตนเอง จะมีโอกาสเกิดการกำเริบของโรคได้มาก และเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทา รกในครรภ์

การตั้งครรภ์มีผลต่อการกำเริบของโรคลูปัสหรือไม่?

โอกาสเกิดการกำเริบของโรคลูปัสขณะตั้งครรภ์นั้น ยังไม่สามารถทำนายได้ชัดเจน จากการศึกษาทั่วโลกพบว่า

  • 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคลูปัส เกิดการกำเริบของโรคขณะตั้งครรภ์
  • ส่วนอีก 1 ใน 3 ของผู้ป่วย อาการของโรคคงที่
  • ส่วนผู้ป่วยที่เหลืออาการของโรคมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

จากสถิติที่กล่าวมา จะพบว่าการตั้งครรภ์จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการกำเริบของโรคได้ แม้โรคจะเคยสงบมาก่อนที่จะเกิดการตั้งครรภ์ โดยการศึกษาวิจัยที่รพ.ศรีนครินทร์พบว่า ผู้ป่วยโรคลู ปัสที่ตั้งครรภ์จำนวน

  • 40% เกิดการกำเริบของโรคที่รุนแรงจนต้องได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูง
  • 27.3% เกิดการกำเริบของโรคจนต้องยุติการตั้งครรภ์
  • และมารดาที่มีการกำเริบของโรคเกิดภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ 2%

ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อทำการประเมินความเสี่ยงและเฝ้าระวังการกำเริบของโรค

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคลูปัสกำเริบขณะตั้งครรภ์?

โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคลูปัสขณะตั้งครรภ์ โรคมักจะสงบจนการคลอดดำเนินเสร็จสิ้น มีเพียงบางส่วนที่มีการกำเริบของโรค โดยพบปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการกำเริบของโรค คือ การตั้ง ครรภ์เองก็เป็นส่วนหนึ่งของการกำเริบของโรค เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย จึงทำให้ผู้ป่วยโรคลูปัสมีโอกาสเกิดการกำเริบของโรคได้ แม้จะไม่มีปัจจัยอื่นมากระตุ้นให้เกิดกำเริบก็ตาม นอกจากนั้นยังมีปัจจัยต่างๆที่กระ ตุ้นโอกาสเกิดการกำเริบของโรค ได้แก่

  • สาเหตุทั่วไป
    • ยาหลายชนิดที่ใช้รักษาควบคุมโรคลูปัสช่วงตั้งครรภ์ เช่น
    • ยาลดความดันโลหิตบางตัว เช่น Hydralazine)
    • ยากันชักบางชนิด เช่น Phenytoin
    • ยารักษาวัณโรคบางชนิด เช่น Isoniazid
    • การสูบบุหรี่
    • การย้อมสีผม
    • รังสียูวี (Ultraviolet) ในแสงแดด
  • อาหารบางชนิด
    • การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวปริมาณมาก
  • การติดเชื้อของร่างกาย เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อไวรัส
  • การใช้ฮอร์โมนต่างๆ เช่น เอสโตรเจน

ดูแลตนเองอย่างไรก่อนตั้งครรภ์?

ในกรณีที่ต้องการจะมีบุตร/ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคลูปัส ควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคกำเริบอย่างที่กล่าวไว้ในรายละเอียดในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ข้างต้น, ควรปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนเสมอ, ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อลดโอกาสในการกำเริบของโรคในระหว่างตั้งครรภ์, ควรพักผ่อนให้เพียงพอ, ไม่เครียด, เนื่องจากความเครียดและการพักผ่อนน้อยเป็น ปัจจัยในการชักนำให้เกิดการกำเริบของโรค, ทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ, และสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ

ก่อนการตั้งครรภ์ แพทย์มักจะพิจารณาให้ยาโฟลิก แอซิด (Folic acid) ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อช่วยป้องกันความพิการทางระบบประสาทในทารก

ผู้ป่วยโรคลูปัส ควรได้รับการตรวจเลือดและตรวจสุขภาพ จากแพทย์ผู้ให้การรักษาโรค และสูตินรีแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อประเมินโอกาสเกิดการกำเริบของโรคในขณะตั้งครรภ์ และเพื่อให้มีความพร้อมในการตั้งครรภ์

ดูแลตนเองอย่างไรขณะตั้งครรภ์?

ผู้ป่วยโรคลูปัสขณะตั้งครรภ์ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค เนื่องจากความเครียดและการพักผ่อนน้อย เป็นปัจจัยในการชักนำให้เกิดการกำเริบของโรค, การออกกำลังกาย แพทย์มักจะแนะนำให้ออกกำลังกาย โดยการเดินเล่นเป็นระยะทางสั้นๆ ไม่ควรวิ่งหรือออกกำลังกายอย่างหนักเพราะจะส่งผลต่อการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด และกระตุ้นให้เกิดการกำเริบของโรคได้, บางการศึกษาแนะนำให้ทานอาหารที่มีรสจืด ไม่ให้ทานอาหารรสเค็ม เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูงได้, หมั่นสังเกตตนเองว่ามีผื่นแดง ตัวบวมทั้งตัว ปวดตามข้อ ข้อบวมแดงร้อน ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ มีจ้ำห้อเลือดตามตัวหรือไม่ ถ้ามีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลก่อนนัด เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม, และ

ที่สำคัญควรสังเกตทารกดิ้นในแต่ละวัน โดยปกติทารกมักจะเริ่มดิ้นจนมารดารับรู้ได้ เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18-20 สัปดาห์เป็นต้นไป และมักจะดิ้นมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน ดังนั้นถ้ามารดาสังเกตว่าทารกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งต่อวัน ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เนื่องจากผู้ป่วยโรคลูปัสมีโอกาสเกิดภาวะรกเสื่อมก่อนกำหนดได้มากกว่าคนปกติ ซึ่งการเกิดรกเสื่อมก่อนกำหนด ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของสุขภาพของทารก และการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น การนับทารกดิ้น จะสามารถช่วยประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ได้ในเบื้องต้น

เพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ในโรคลูปัสควรเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคลูปัสที่ตั้งครรภ์ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นเดียวกับหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป ยก เว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะแท้งคุกคาม (ภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ที่เสี่ยงต่อการแท้งบุตร), มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์, มีภา วะรกเกาะต่ำ, มีเกล็ดเลือดหรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, หรือในช่วงที่มีการกำเริบของโรค

ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ได้เป็นข้อห้ามในผู้ป่วยโรคลูปัสที่ตั้งครรภ์ ยกเว้นผู้ป่วยมีปัจ จัยดังที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ป่วยจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และเมื่อมีข้อสงสัย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลรักษา เพื่อตรวจหาความผิดปกติตั้งแต่แรกเริ่ม

การฝากครรภ์ในโรคลูปัสต่างจากในครรภ์ปกติหรือไม่?

ผู้ป่วยโรคลูปัส จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง และการกำเริบของโรคได้ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องได้ รับการดูแลอย่างใกล้ชิด จากทั้งสูติแพทย์และแพทย์เฉพาะทางด้านโรคข้อและภูมิแพ้ ซึ่งการฝากครรภ์ของผู้ป่วยโรคลูปัส จะแตกต่างจากการฝากครรภ์ปกติ คือ สูติแพทย์จะทำการนัดฝากครรภ์ให้ผู้ป่วยโรคลูปัส ในคลินิกการตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง โดยแพทย์จะนัดดูแลการฝากครรภ์ถี่ขึ้นเป็นทุก 2 สัปดาห์ และมีการตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ หรือตามความเหมาะสมในแต่ละราย มีการตรวจอัลตราซาวด์ทารก เพื่อตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปากแหว่ง เพดานโหว่ และประเมินน้ำหนักทารก นอกจาก นั้น ยังมีการตรวจติดตามสุขภาพทารกเป็นระยะจนกว่าจะคลอดบุตร

ภาวะแทรกซ้อนในโรคลูปัสขณะตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่สามารถเกิดได้ในขณะตั้งครรภ์ในผู้ป่วยโรคลูปัส ค่อนข้างหลากหลาย บางรายอาจไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนตลอดการตั้งครรภ์ หรือบางรายอาจเกิดรุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตได้ทั้งมารดาและทารก

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคลูปัสต่อมารดาขณะตั้งครรภ์ที่อาจพบได้ เช่น ภาวะความดันโล หิตสูง, ครรภ์เป็นพิษ, ไตวาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตก่อนการตั้งครรภ์, เบา หวานขณะตั้งครรภ์, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, ภาวะซีด, เส้นเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด, และคลอดก่อนกำหนด

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคลูปัสต่อทารกในครรภ์ เช่น ทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์, ทา รกคลอดก่อนกำหนด, ทารกหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ทารกเสียชีวิตในครรภ์, และเกิดโรคลูปัสในทารก

โดยพบว่าโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว มักสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคลูปัสก่อนการตั้งครรภ์, การกำเริบของโรคลูปัสในขณะตั้งครรภ์, และ/หรือโรคอื่นๆที่พบร่วมกับโรคลู ปัส โดยเฉพาะโรคแทรกซ้อนที่ไต ดังนั้น ผู้ป่วยโรคลูปัส จึงควรต้องมาฝากครรภ์ตรงตามแพทย์นัดและสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าว

ผู้ป่วยโรคลูปัสจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดหรือไม่?

วิธีการคลอดของผู้ป่วยโรคลูปัสที่ตั้งครรภ์นั้น สูติแพทย์จะพิจารณาวิธีการคลอดเป็นรายๆไปตามความเหมาะสม โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยโรคลูปัสที่ตั้งครรภ์จะสามารถคลอดเองตามธรรม ชาติได้เมื่อครบกำหนดคลอด ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดคลอด หรือต้องมีการชักนำการคลอด

ในกรณีผู้ป่วยโรคลูปัสเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคที่รุนแรง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเสีย ชีวิตของผู้ป่วย แพทย์มักจะพิจารณายุติการตั้งครรภ์ทันที อาจจะโดยการชักนำคลอดโดยการใช้ยา หรืออาจจะพิจารณาผ่าตัดคลอด ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค และความพร้อมของปากมดลูกของผู้ป่วย

ดูแลตนเองหลังคลอดอย่างไร?

ภายหลังคลอด ผู้ป่วยโรคลูปัส สามารถที่จะให้นมบุตรได้เหมือนคนปกติทั่วไป การให้นมบุตรไม่ส่งผลให้เกิดการกำเริบของโรค และไม่มีผลต่อการเกิดโรคในบุตร ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยโรคลูปัสใช้ยาในการรักษาโรคที่ส่งผลต่อทารกได้ เช่นยา Cyclophosphamide, Methotre xate เป็นต้น

ในบางราย อาจเกิดการกำเริบของโรคได้ในช่วงหลังคลอด ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องสัง เกตตนเองอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการเกิดภา วะแทรกซ้อนดังกล่าว

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้โรคลูปัสกำเริบหลังคลอด?

ผู้ป่วยโรคลูปัสส่วนใหญ่ มักจะไม่มีกำเริบของโรคภายหลังคลอด จากการศึกษาทั่วโลกพบว่า โอกาสเกิดการกำเริบของโรคจะพบมากขึ้น ในผู้ป่วยลูปัสที่มีประวัติมีการกำเริบของโรคระหว่างการตั้งครรภ์, และ มีภาวะของการล้มเหลวของอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะที่ไต ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดกำเริบของโรค แพทย์ผู้ดูแลจะทำการส่งตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ภายหลังคลอด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดกำเริบของโรค

ปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเกิดการกำเริบของโรคหลังคลอด ได้แก่ การพักผ่อนไม่เพียงพอ และ ความเครียด ดังนั้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าว

ผู้ป่วยโรคลูปัสควรคุมกำเนิดด้วยวิธีใด?

ในกรณีที่มีบุตรเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยโรคลูปัส สามารถคุมกำเนิดโดยการทำหมันหลังคลอดได้ทันที เมื่อผู้ป่วยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ในกรณีที่ผู้ป่วยยังอยากมีบุตรในอนาคต แพทย์จะพิจารณาวิธีคุมกำเนิดเป็นรายๆไป ขึ้น กับความรุนแรงของโรค และความถี่ในการกำเริบของโรค ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรง เป็นอันตรายต่อชีวิต และมีการกำเริบของโรคถี่ แพทย์มักจะแนะนำให้คุมกำเนิดโดยการทำหมัน เนื่องจากโรคมักจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อตั้งครรภ์

ส่วนในรายที่อาการของโรคไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถที่จะมีบุตรได้ในอนาคต ดังนั้นผู้ป่วยเหล่านี้ จะสามารถใช้การคุมกำเนิดได้ทุกวิธี เช่น การใส่ถุงยางอนามัยชาย, การใช้ยาเม็ดคุมกำ เนิด, ยาฉีดคุมกำเนิด เป็นต้น ยกเว้นในรายที่มีโรคร่วม เช่น มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด, มีโรคไต, มีโรคความดันโลหิตสูงในปอด เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยในกลุ่มนี้ แพทย์จะพิจารณาวิธีการคุม กำเนิดตามความเหมาะสม โดยจะไม่แนะนำให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด และการคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมน เพราะจะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคลูปัสมากขึ้น

การพยากรณ์โรคของโรคลูปัสขณะตั้งครรภ์เป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคลูปัสขณะตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “การตั้ง ครรภ์มีผลต่อการกำเริบของโรคลูปัสหรือไม่” อ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อนั้น

การตั้งครรภ์มีผลระยะยาวต่อโรคลูปัสหรือไม่?

จากข้อมูลในการพยากรณ์โรคระยะยาวถึงผลของการตั้งครรภ์ต่อโรคลูปัส ปัจจุบัน ยังมีการศึกษาจำนวนไม่มาก ในเมืองไทยยังไม่มีการศึกษาในแง่มุมดังกล่าว แต่จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า การตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อการพยากรณ์ของโรคลูปัสในระยะยาว ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีการกำเริบของโรคก่อนการตั้งครรภ์ ที่จะส่งผลต่อการพยากรณ์ของโรคระยะยาว คือ มีการทำงานของอวัยวะต่างๆผิดปกติ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่เกิดการกำเริบก่อนการตั้งครรภ์

ถึงแม้จากการศึกษาข้างต้น จะพบว่าการตั้งครรภ์ไม่มีผลต่อการพยากรณ์ของโรคในระ ยะยาว แต่จากข้อมูลการศึกษาอื่นๆพบว่า การกำเริบของโรคในขณะตั้งครรภ์ ส่งผลต่อการพยา กรณ์ของโรคในระยะยาวได้ อีกทั้งการพยากรณ์การกำเริบของโรคในขณะตั้งครรภ์ ยังไม่สามารถทำนายได้อย่างแม่นยำ

ดังนั้นทุกครั้งที่ผู้ป่วยตั้งครรภ์ จึงถือว่ามีโอกาสเกิดความเสี่ยงของการกำเริบของโรคได้เสมอ ซึ่งส่งผลต่อการพยากรณ์ของโรคระยะยาว ฉะนั้นก่อนตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคลูปัสจึงควรปรึก ษาแพทย์เสมอ ทั้งแพทย์ผู้รักษาโรคลูปัส และสูติแพทย์

ผู้ป่วยโรคลูปัสสามารถตั้งครรภ์ได้กี่ครั้ง?

ผู้ป่วยโรคลูปัส สามารถตั้งครรภ์ซ้ำได้ แต่มีโอกาสเกิดการกำเริบของโรคมากขึ้น การตั้ง ครรภ์อาจส่งผลต่อการพยากรณ์ระยะยาวของโรคลูปัสได้ โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคแทรกซ้อน มักจะเกิดการกำเริบของโรคที่รุนแรงมากขึ้นในการตั้งครรภ์ครั้งต่อๆไป และมีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษ และเสี่ยงต่อการเกิดการเสียชีวิตในมารดาและในทารกสูง

โดยทั่วไปแพทย์มักจะพิจารณาให้ติดตามการรักษาโรคลูปัสหลังคลอดสักระยะหนึ่ง จนแน่ใจว่าไม่เกิดการกำเริบของโรค และโรคสงบ จึงอนุญาตให้สามารถตั้งครรภ์ได้

จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่อการพยากรณ์โรคในระยะยาว แพทย์มักจะแนะ นำให้ผู้ป่วยมีบุตรเพียง 1-2 คนเท่านั้น เนื่องจากในการตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง ผู้ป่วยมีโอกาสกำ เริบของโรคได้เสมอ การกำเริบของโรคมีผลต่อการพยากรณ์ของโรคในระยะยาว ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ซ้ำหลายครรภ์

ระยะระหว่างการตั้งครรภ์แต่ละครั้งควรนานเท่าไร?

ระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง พิจารณาจากการกำเริบของโรคลูปัส, และภา วะแทรกซ้อนที่พบร่วมด้วยเป็นหลัก และร่วมกับวิธีการคลอดของการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

กรณีที่มีการกำเริบของโรคขณะตั้งครรภ์ก่อน แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยคุมกำเนิดจนแน่ใจว่า โรคสงบโดยไม่ต้องใช้ยาอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะอนุญาตให้ตั้งครรภ์ในครั้งต่อไป ยก เว้นกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เกิดภาวะไตทำงานพร่อง, เกิดครรภ์เป็นพิษ แพทย์ผู้ดู แลจะไม่อนุญาตให้ตั้งครรภ์ซ้ำ เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวซ้ำในการตั้งครรภ์ต่อไป และมักจะรุนแรงกว่าครั้งก่อน

ทั้งนี้การตั้งครรภ์ครั้งต่อไป ยังต้องพิจารณาวิธีการคลอดในครั้งก่อน ถ้าเป็นการคลอดปกติ ผู้ป่วยโรคสงบ อาจพิจารณาให้ตั้งครรภ์ต่อได้ โดยระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์ควรมาก กว่า 1 ปี ในกรณีที่ผ่าตัดคลอดจะอนุญาตให้ตั้งครรภ์ โดยระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์ควรมาก กว่า 2 ปี

ถ้ามีบุตรยาก ใช้วิธีการใดช่วยให้ตั้งครรภ์?

ผู้ป่วยโรคลูปัส มีบางส่วนที่มีภาวะมีบุตรยากร่วมด้วย อาจเกิดจากตัวโรคลูปัสเอง หรือเกิดจากยาที่ใช้ในการรักษาโรคลูปัส ซึ่งการรักษาภาวะมีบุตรยากโดยวิธีการที่ใช้ในการรักษาคนทั่วไป สามารถนำมาใช้ได้ แต่มีความเสี่ยงในการเกิดการกำเริบของผู้ป่วยมากขึ้นกว่าการมีบุตรตามธรรมชาติ เนื่องจากยาที่ใช้ในการกระตุ้นรังไข่ เป็นยาที่มีฮอร์โมนในขนาดสูง ฮอร์โมนที่มีขนาดสูงนี้ จะเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นให้เกิดการกำเริบของโรคลูปัส ดังนั้นแพทย์ผู้ทำการรักษา มักจะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นในผู้ป่วย โดยจะพิจารณาการใช้ยา จากระยะเวลาโรคที่สงบ และภาวะแทรกซ้อนที่พบร่วมด้วย

ทารกจากมารดาโรคลูปัสต่างจากทารกทั่วไปอย่างไร?

โดยทั่วไป ทารกที่เกิดจากมารดาที่มีโรคลูปัส มักจะปกติ มีเพียงส่วนน้อยที่ตรวจพบความผิดปกติเกิดขึ้น

โดยความผิดปกติที่อาจพบในทารก คือ เกิดกลุ่มอาการ ลูปัสแรกคลอดได้ แต่มีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวน้อย สาเหตุของกลุ่มอาการลูปัสในทารกแรกคลอด เกิดจาก มีสารภูมิต้าน ทานจากมารดาข้ามผ่านรกไปยังทารก โดยกลุ่มอาการดังกล่าวของทารก มีอาการแสดงดังนี้ คือ มีผื่นที่เกิดขึ้นจากการที่ทารกถูกแสงสว่าง เกิดขึ้นที่ใบหน้า และหนังศีรษะ, พบผื่นจ้ำเลือดที่ผิวหนังตามร่างกาย, มีตับและม้ามโต ทั้งนี้ ส่วนใหญ่อาการต่างๆมักจะดีขึ้นเอง โดยไม่ต้องรักษาประมาณ 8 เดือนหลังคลอด ซึ่งการดูแลทารกที่เกิดกลุ่มอาการนี้ คือ ควรหลีกเลี่ยงแสง แดด

อีกภาวะที่มีโอกาสเกิดขึ้นในทารก คือ อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยพบเพียง 1% มัก จะวินิจฉัยภาวะดังกล่าวได้ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์ โดยจะทำการรักษาภายหลังทารกคลอด ซึ่งพบว่า 1 ใน 2 ของทารกที่พบภาวะนี้ อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจช่วยในการรักษา

สรุป

โรคลูปัส เป็นโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาเพื่อให้โรคสงบได้

ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคลูปัส ต้องการมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษาและสูติแพทย์ เพื่อวางแผนในการรักษา และพิจารณาหยุดยาบางชนิดก่อนที่จะตั้งครรภ์ เนื่องจากยาอาจส่งผลต่อความพิการของทารกได้

ผู้ป่วยโรคลูปัสทุกคน โยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอาจส่งผลให้โรคกำ เริบและรุนแรงขึ้น

ผู้ป่วยโรคลูปัส มีโอกาสเกิดกำเริบของโรคได้ขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นผู้ป่วยโรคลูปัสจึงต้องไปฝากตั้งครรภ์ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดโอกาสเกิดการกำเริบของโรค และควรหมั่นสังเกตตนเอง เมื่อพบอาการที่ผิดปกติไปจากเดิม และ/หรือกังวลในอาการ ทั้งของตนเองและของทารกในครรภ์ ต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Hahn BH: Systemic Lupus Erythematosus. In Fauci AS. Braunwald E, Kasper DL, et al. (eds): Harrisons’ Principles of Internal Medicine, 17th ed, New York, McGraw-Hill, 2008:2075.
  2. Gary F., Kenneth J leveno, Steven LB, John CH, Dwight JR, Catherine YS. Connective-Tissue Disorder. In:Williams Obtetrics 23rd ed, New York McGraw-Hill, 2010:1145-63.
  3. Foocharoen C, Nanagara R, Salang L, Suwannaroj S, Mahakkanukrauh A.,Pregnancy and disease outcome in patients with systemic lupus erythematosus (SLE): a study at Srinagarind Hospital. J Med Assoc Thai. 2009 Feb;92(2):167-74.
  4. Clowse ME, Magder LS, Witter F,Petri M. the impact of increased lupus activity on obstetric outcomes. Arthritis Rheum 2005;52:514-21.
  5. Chakravaty EF, Colon I, Langen ES, et al. Factors that predict prematurity of preeclampsia in pregnancies that are complicated systemic lupus erythematosus. Am J Obstet Gynecol 2005;192:1897-903.
  6. Egerman RS, Ramsey RD, Kao LW, et al. Hypertension disease in pregnancies complicated by systemic lupus erythematosus. Am J Obstet Gynecol 2005;193:1676-84.
  7. Bobrie G, Liote F, Houillier P, et al. Pregnancy in lupus nephritis and related disorders. Am J Kidney Dis 1987;9:339-50.
  8. Clowse M. Lupus activity in pregnancy. Rheum Dis Clin North AM 2007;33:327-52.
  9. Clowse ME, Magder LS, Witter F, Petri M. Early risk factors for pregnancy loss in lupus. Obstet Gynecol. 2006 Feb;107(2 Pt 1):293-9.
  10. Andrade R, Sanchez ML, Alarcón GS, Fessler BJ, Fernández M, Bertoli AM, Apte M, ViláLM, Arango AM, Reveille JD, LUMINA Study Group. Adverse pregnancy outcomes in women with systemic lupus erythematosus from a multiethnic US cohort: LUMINA. Clin Exp Rheumatol. 2008;26(2):268-74.
  11. Andrade R, Sanchez ML, Alarcón GS, Fessler BJ, Fernández M, Bertoli AM, Apte M, ViláLM, Arango AM, Reveille JD, LUMINA Study Group. Predictor of post-partum damage accrual in systemic lupus erythematosus: data from a LUMINA, a multiethnic US cohort (XXXVIII). Rhuematology 2006;45:1380-84.