โรคร่างกายกลั่นสุราได้เอง (Auto-brewery syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 7 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองเกิดได้อย่างไร?
- กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
- รักษากลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองอย่างไร?
- กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองส่งผลข้างเคียงอย่างไร?
- กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันกลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคพิษสุรา (Alcoholism หรือ Alcohol use disorder)
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคโครห์น (Crohn’s disease)
- ลำไส้สั้น (Short bowel syndrome)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง(Auto-brewery syndrome)คือ โรคที่ร่างกายหมักและกลั่นสุรา/แอลกอฮอล์ชนิดเอธธานอล(Ethanol หรือ เอธธิลแอลกอฮอล์/Ethyl alcohol)ได้เอง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการคล้ายคนดื่มสุราหรือคล้ายอาการเมาค้างตลอดเวลาทั้งๆที่ไม่มีประวัติดื่มสุรา ซึ่งสาเหตุโรคนี้เกิดจากขาดสมดุลของเชื้อรา หรือของแบคทีเรีย ในลำไส้เล็กจึงส่งผลให้เชื้อราหรือแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้เล็กชนิดที่สามารถหมักและกลั่นสุราได้เจริญเกินปกติมากจนสามารถหมัก/กลั่นสุราได้จากอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล(คาร์โบไฮเดรต)ที่ผู้ป่วยบริโภคในปริมาณมากๆ และสุราจากลำไส้นี้ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด/ร่างกายจึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีปริมาณสุรา/แอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินปกติเช่นเดียวกับผู้ดื่มสุรา จึงเกิดเป็น ’โรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง’ขึ้น
อนึ่ง ชื่ออื่นของโรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง ได้แก่
- โรค/กลุ่มอาการลำไส้หมักสุราได้เอง (Gut fermentation syndrome)
- โรคร่างกายหมักเอธธานอลได้เอง (Endogenous ethanol fermentation)
- โรคมึนเมาสุรา(Drunkenness disease)
โรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง/โรค/กลุ่มอาการลำไส้หมักสุราได้เอง/โรคร่างกายหมักเอธธานอลได้เอง/โรคมึนเมาสุรา พบทั่วโลก แต่พบน้อยมากๆเป็นเพียงรายงานผู้ป่วยเป็นรายๆเท่านั้น พบทุกอายุ และพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย
กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองเกิดได้อย่างไร?
โรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง/ลำไส้กลั่นสุราได้เอง/โรคมึนเมาสุรา/โรคร่างกายหมักเอธธานอลได้เอง เกิดจากการขาดสมดุล ของเชื้อรา หรือ ของแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้เล็กที่ส่งผลให้เชื้อราหรือแบคทีเรียเหล่านั้นชนิดที่สามารถหมักและกลั่นสุราได้เกิดเจริญเกินปกติมากจนสามารถหมัก/กลั่นสุราได้จากอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล(คาร์โบไฮเดรต)ในลำไส้เล็กที่ผู้ป่วยบริโภคในปริมาณมากๆ และสุราจากลำไส้นี้ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด/เข้าร่างกายจึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีปริมาณสุรา/แอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินปกติจนเกิดอาการเมาสุราหรืออาการเมาค้างขึ้นเช่นเดียวกับคนดื่มสุราทั่วไป
อนึ่ง เชื้อรา และแบคทีเรียในลำไส้ ที่สามารถหมักกลั่นสุราได้มีหลากหลายชนิด ทั่วไปพบเกิดจากเชื้อรามากกว่าจากเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อราในลำไส้ที่หมัก/กลั่นสุราได้ ที่พบบ่อย คือ เชื้อราในกลุ่ม แคนดิดา(Candida ย่อว่า) เช่น C. albicans, C. tropicalis, C. krusei
แบคทีเรียในลำไส้ที่หมักกลั่นสุราได้มีได้หลากหลายชนิดเช่นกัน ที่พบบ่อย เช่น Klebsiella pneumoniae, Enterococcus faecium
กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุให้เชื้อราหรือแบคทีเรียในลำไส้เกิดเจริญจนขาดสมดุลจนส่งผลให้ลำไส้/ร่างกายหมัก/กลั่นสุราได้เอง แต่พบปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น
- เป็นโรคเบาหวานที่มักควบคุมโรคไม่ได้
- บริโภคอาหารแป้งและน้ำตาลปริมาณสูง เป็นประจำ ต่อเนื่อง
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- โรคในระบบทางเดินอาหารที่เป็นโรคเรื้อรังบางโรค เช่น
- โรคลำไส้สั้น (ในเด็ก มักพบเกิดจากสาเหตุนี้)
- โรคโครห์น
- โรคลำไส้แปรปรวน(โรคไอบีเอส)
- มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ
- โรคตับบางชนิดที่ส่งผลให้ตับเสียการทำงาน ส่งผลให้ตับทำลายสารสร้างแอลกอฮอล์/ หรือทำลายแอลกอฮอล์ที่เกิดในร่างกายได้ลดลง เช่น โรคไขมันพอกตับชนิดรุนแรง, โรคตับแข็ง
- กินยาปฏิชีวนะยาวนานต่อเนื่อง หรือกินบ่อย ที่มักเป็นสาเหตุให้เกิดการไม่สมดุลของแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้
- อาจมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ หรือมีโรคทางพันธุกรรม เช่น ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร หรือ ระบบภูมิคุ้มกันตานทานโรคผิดปกติ
กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองมีอาการอย่างไร?
โรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง/ลำไส้กลั่นสุราได้เอง/โรคมึนเมาสุรา/โรคร่างกายหมักเอธธานอลได้เอง มีอาการหลัก คือ ‘อาการเหมือนคนเมาสุราทุกประการ’ หรือ ’เหมือนคนเมาค้าง’ เพราะเป็นอาการจากพิษสุรา(แอลกอฮอล์ชนิดเอธธานอล)เช่นเดียวกัน ได้แก่
- สมองไม่แจ่มใส มึนงง คิดไม่ออก คิดช้า จำอะไรไม่ได้ชัดเจน
- ขาดสมาธิ
- ขาดสติ
- พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ เช่นเดียวกับคนดื่มสุรา
- พูดวกไปเวียนมา
- วิงเวียนศีรษะ
- ปวดหัว
- ปวดกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้-อาเจียน
- สับสน
- เดินเซ เดินได้ไม่ตรง
- เรอ หรือ สะอึกบ่อย
- ผิวโดยเฉพาะใบหน้าแดง
- ลมหายใจ กลิ่นปาก มีกลิ่นสุรา ซึ่งคือกลิ่นสารพิษ อะเซททัลดีไฮด์(Acetaldehyde)ที่เกิดจากร่างกายสันดาปสุราเอธธานอล
- ปากคอแห้ง
- อ่อนเพลีย อ่อนล้า
- ระงับอารมณ์ไม่ได้
- มีภาวะขาดน้ำจากปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก
- มีภาวะขาดอาหาร/ทุพโภชนา จากมีอาการมึนเมาตลอดเวลาที่ส่งผลถึงการบริโภค
แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองอย่างไร?
กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง/ลำไส้กลั่นสุราได้เอง/โรคมึนเมาสุรา/โรคร่างกายหมักเอธธานอลได้เอง เป็นโรควินิจฉัยยากมาก แพทย์เชื่อว่า หลายคนแพทย์วินิจฉัยไม่ได้เพราะวินิจฉัยว่า อาการผู้ป่วยเกิดจากดื่มสุราซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรคนี้พบได้น้อยมากๆ อย่างไรก็ตาม ทั่วไปแพทย์วินิจฉัยโรคนี้ได้จาก
- ประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วยที่เหมือนคนดื่มสุรา โดยผู้ป่วยยืนยันและแพทย์เชื่อถือได้ว่า ผู้ป่วยไม่ได้ดื่มสุรา, ประวัติโรคสมอง, โรคจิตเวช, หรืออุบัติเหตุที่สมอง
- ประวัติโรคประจำตัว
- ประวัติการบริโภคอาหารแป้งและน้ำตาลสูงต่อเนื่องเป็นประจำ
- ประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- ประวัติการกิน/ใช้ยาปฏิชีวนะยาวนานต่อเนื่องยาวนาน
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น
- ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจ/ลมปาก และ/หรือจากเลือด
- การตรวจอุจจาระ ดูชนิดและปริมาณของเชื้อราและแบคทีเรีย
- การตรวจเพาะเชื้อรา, เชื้อแบคทีเรีย จากอุจจาระ
- ตรวจเลือดดูภาวะน้ำตาลในเลือด ที่เรียกว่า Carbohydrate challenge test
- การตรวจปัสสาวะดูปริมาณแอลกอฮอล์ในปัสสาวะ
- ส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร และนำสารคัดหลั่งตรวจหาเชื้อรา และ/หรือ เชื้อแบคทีเรีย
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์
เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ คือ รู้สึกว่าตนเองเหมือนเมาสุรา หรือ เมาค้าง ตลอดเวลาทั้งๆที่ไม่ดื่มสุรา ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุ เพราะผู้ป่วยโรคนี้เมื่อมีปัญหาหรือเกิดอุบัติเหตุมักถูกกล่าวหาว่ามีความผิดจากการดื่มสุราเสมอ
รักษากลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง/ลำไส้กลั่นสุราได้เอง/โรคมึนเมาสุรา/โรคร่างกายหมักเอธธานอลได้เอง ทั่วไปได้แก่
ก. การรักษาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดให้ลดลงด้วยการรักษาโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุ เช่น
- ปรับพฤติกรรมบริโภค/การใช้ชีวิต ที่สำคัญ คือ
- ปรับเปลี่ยนอาหารให้เป็นอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ, โปรตีนสูง, กรณีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการบริโรคอาหารคาร์โบไฮเดรตสูง ซึ่งอาจจำเป็นต้องปรึกษาโภชนากรร่วมด้วย
- จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มทุกชนิดที่มีน้ำตาล
- จำกัดปริมาณอาหารเพื่อไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อฟื้นฟูสุขภาพและช่วยป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ให้อาหารเสริมกลุ่ม วิตามิน แร่ธาตุ กรณีมีภาวะทุพโภชนาร่วมด้วย
- ยกเลิก/ปรับเปลี่ยนการใช้ยาปฏิชีวนะ กรณีใช้ยานี้
- ให้ยาต้านเชื้อรา กรณีตรวจพบว่าสาเหตุมาจากเชื้อรา
- รักษา ควบคุม โรคต่างๆที่เป็นต้นเหตุ เช่น เบาหวาน, โรคโครห์น, โรคลำไส้แปรปรวน, ลำไส้สั้น (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคเหล่านี้เพิ่มเติมที่รวมถึงวิธีดูแลรักษา จากเว็บhaamor.com)
ข. รักษาอาการต่างๆที่เกิดจากภาวะที่มีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงตามแต่ละอาการนั้นๆ เช่น
- แก้ไขภาวะขาดน้ำ, ภาวะขาดอาหารต่างๆ
- ให้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
- ให้อาหารประเภทโปรไบโอติคเพื่อปรับสมดุลของเชื้อโรคต่างๆในลำไส้
ค. ดูแลรักษาโรคต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงของโรคนี้ เช่น โรคตับแข็ง, โรคซึมเศร้า, กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง (แนะนำอ่านรายละเอียดโรคเหล่านี้เพิ่มเติมที่รวมถึงวิธีดูแลรักษา จากเว็บhaamor.com)
*อนึ่ง เนื่องจากเป็นโรคพบน้อยมากๆ ปัจจุบันจึงยังไม่มียารักษาเฉพาะของโรคนี้
กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองส่งผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียงที่เกิดจากโรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง/ลำไส้กลั่นสุราได้เอง/โรคมึนเมาสุรา/โรคร่างกายหมักเอธธานอลได้เอง ได้แก่
- มักมีปัญหาทางด้านกฎหมาย เมื่อมีปัญหา มักถูกประเมินว่าทำผิดเพราะเกิดจากเมาสุราเสมอ ถึงแม้จะปฏิเสธก็มักไม่มีใครเชื่อ เพราะการตรวจต่างๆจะบ่งชี้ว่าเกิดจากสุรา
- ผู้ป่วยมักมีปัญหาครอบครัวและสังคม จากถูกเข้าใจว่าดื่มสุราเป็นประจำหรือดื่มฯระหว่างงานจนเสียงาน ถ้าเกิดโรคในวัยเรียนก็จะเกิดปัญหาทางการเรียน
- การมีแอลกอฮอล์ในเลือดสูงตลอดเวลา อาจส่งผลให้เกิดโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือ โรคติดสุรา
- ถ้าไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อาจเกิด โรคตับแข็ง, โรคพิษสุรา, โรคสมองเสื่อม เช่นเดียวกับผู้ติดสุราเรื้อรังได้
- โรคนี้อาจก่อให้เกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ หรือ ทำให้โรคนั้นๆอาการแย่ลงได้ เช่น
- กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง
- โรคลำไส้แปรปรวน
- โรคซึมเศร้า
- โรควิตกกังวล
- โรคสมองเสื่อม
กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง/ลำไส้กลั่นสุราได้เอง/โรคมึนเมาสุรา/โรคร่างกายหมักเอธธานอลได้เองคือ เป็นโรคที่แพทย์สามารถให้การรักษาควบคุมโรคได้แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยในการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลด/ควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้ได้อย่างดี
และถ้าผู้ป่วย ยังควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้ไม่ดีพอ ภายหลังการรักษาควบคุมโรคได้แล้วผู้ป่วยก็สามารถกลับมามีอาการโรคนี้ได้อีก
ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองในโรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง/ลำไส้กลั่นสุราได้เอง/โรคมึนเมาสุรา/โรคร่างกายหมักเอธธานอลได้เอง ที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามแพทย์ พยาบาล โภชนากรแนะนำ ทั่วไป ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การรักษาฯ ข้อย่อย ก.’
- ไม่ซื้อยากินเองโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ
- ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ กินยาเฉพาะที่แพทย์สั่ง
- เมื่อจำเป็นต้องซื้อยาใช้เอง ต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆแย่ลง
- มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูก หรือ ท้องเสียเรื้อรัง
- กังวลในอาการ
ป้องกันกลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เองอย่างไร?
โรค/กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง/ลำไส้กลั่นสุราได้เอง/โรคมึนเมาสุรา/โรคร่างกายหมักเอธธานอลได้เอง ไม่สามารถป้องกันได้เต็มร้อยเพราะแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงร่วมกับการดูแล รักษา โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง(ดังได้กล่าวใน หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’)ให้ได้ดี ก็สามารถลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคนี้ลงได้