โรคม้าม หรือ โรคของม้าม (Splenic disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคม้าม หรือ โรคของม้าม (Splenic disease หรือ Splenic disorder) คือ โรค/ภาวะผิดปกติที่เกิดกับม้าม ที่ส่งผลให้การทำงานของม้ามผิดปกติ เช่น ม้ามโตผิดปกติ ม้ามติดเชื้อ ม้ามแตก มีถุงน้ำเกิดในม้าม มีเนื้องอกหรือมะเร็งเกิดในม้าม จนส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น เช่น แน่นท้อง/อึดอัดท้อง, ปวดท้องด้านซ้ายตอนบนจากม้ามโต, ภาวะซีด, ภาวะเลือดออกง่าย จากม้ามทำงานเกิน และ/หรือ มะเร็งของม้าม เป็นต้น

ม้าม(Spleen) จัดเป็นอวัยวะในกลุ่มต่อมน้ำเหลือง เพราะเนื้อเยื่อของม้ามเป็นเนื้อเยื่อคล้ายกับต่อมน้ำเหลือง และในช่วงเป็นทารกในครรภ์โดยเฉพาะช่วงอายุครรภ์ต่ำกว่า 5 เดือนที่ไขกระดูกทารกยังไม่เจริญพอที่จะสร้างเม็ดเลือดได้ ม้ามจะเป็นอวัยวะที่สร้างเม็ดเลือดให้กับทารก

ม้าม เป็นอวัยวะเดี่ยว อยู่ในช่องท้องด้านซ้ายตอนบน ใต้ต่อกะบังลม และใต้กระดูกซี่โครงซ้าย ซีที่9-11 (ดังนั้นในคนทั่วไป เราจึงคลำช่องท้องไม่พบม้าม) ม้ามมีขนาด แตกต่างกัน ขึ้นกับ อายุ เพศ และน้ำหนักตัว ทั่วไปในผู้ใหญ่ ม้ามรูปร่างคล้ายกำปั้นมือ ขนาดยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร(ซม.), กว้างประมาณ 4-5 ซม., หนาประมาณ 4-5ซม., น้ำหนักประมาณ 150-200 กรัม ผิวเรียบ และสีออกแดงคล้ำ บางคนบอกว่าสีออกม่วงคล้ำ เพราะเป็นสีที่ได้จากเนื้อเยื่อม้ามที่เป็นส่วนเก็บกักสะสมเม็ดเลือดไว้ใช้ยามเมื่อร่างกายต้องการเม็ดเลือดเพิ่ม

ทั้งนี้ หน้าที่ของม้าม คือ

  • สร้างเม็ดเลือด โดยเฉพาะทารกในครรภ์วัยไม่เกิน 5 เดือน และหน้าที่นี้จะลดน้อยลงตามลำดับเมื่อโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่ที่ไขกระดูกทำงานได้สมบูรณ์แล้ว แต่ในทุกวัย หากเกิดโรคของไขกระดูก ม้ามก็จะกลับมาทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดเลือดชดเชย
  • ช่วยกำจัดเม็ดเลือดตัวแก่ และเม็ดเลือดที่เสียหาย ทั้ง เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ออกจากร่างกาย และนำธาตุเหล็กจากเม็ดเลือดแดงที่ถูกกำจัด กลับมาใช้ช่วยไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่
  • ช่วยเก็บเม็ดเลือดไว้ใช้ชดเชยเมื่อร่างกายมีเม็ดเลือดแดงลดลง
  • ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคให้กับร่างกายโดยการปล่อย/สร้างเม็ดเลือดขาวออกมาจับกิน/ทำลายเชื้อโรคต่างๆที่หลุดลอดเข้าสู่ร่างกาย

โรคของม้าม มีหลากหลายชนิด เช่นเดียวกับโรคของอวัยวะต่างๆ เป็นโรคพบเรื่อยๆ ไม่บ่อย พบทั่วโลก ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ทารกในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานสถิติเกิดโรคม้ามในภาพรวม

ม้ามเป็นโรคอะไรได้บ้าง?มีสาเหตุจากอะไร?มีอาการอย่างไร?

โรคม้าม

ทั่วไป ม้ามไม่ค่อยเกิดโรค และม้ามเป็นอวัยวะที่ผ่าตัดออกได้ โดยไม่ทำให้ร่างกายเสียชีวิต(Non vital organ)

โรค/ภาวะผิดปกติที่เกิดกับม้ามมีได้หลากหลาย ที่พบได้บ่อยกว่า ได้แก่

ก. ม้ามโต: จนคลำพบเป็นก้อนเนื้อผิดปกติในช่องท้องด้านซ้ายตอนบน ร่วมกับมีอาการ

  • แน่นท้อง/อึดอัดท้อง
  • ท้องอืด
  • ปวดท้อง
  • นอกจากนั้น จะเป็นอาการจากโรคที่เป็นสาเหตุให้ม้ามโต เช่น
    • อาการของโรคเลือด เมื่อม้ามโตเกิดจากโรคเลือด เป็นต้น

ในส่วนสาเหตุม้ามโต มีได้หลากหลาย เช่น

  • ในเด็กแรกเกิด หรือเด็กเล็ก อาจคลำม้ามได้ แต่ไม่โตมาก ถือว่าเป็นปกติ
  • โรคเลือด: เพราะจะมีความผิดปกติของไขกระดูก ส่งผลให้ม้ามต้องทำงานสร้างเม็ดเลือดชดเชย ม้ามจึงโตขึ้น เช่น โรคธาลัสซีเมีย
  • โรคตับ: ซึ่งจะส่งผลให้มีการไหลเวียนผิดปกติในระบบเลือดของทั้งตับและม้าม ส่งผลให้ม้ามโตได้ เช่น โรคตับแข็ง
  • โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ไข้จับสั่น โรคติดเชื้ออีบีวี
  • โรคมะเร็งที่พบม้ามโตได้บ่อย คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • โรคถุงน้ำในม้าม เป็นโรคพบน้อยเช่นกัน
  • อื่นๆ: ที่พบได้น้อยมากๆ เช่น เนื้องอกของม้าม มะเร็งซาร์โคมาของม้าม

อนึ่ง โรคต่างๆดังกล่าว นอกจากส่งผลให้ม้ามโตแล้ว ยังส่งผลให้เกิดภาวะม้ามทำงานเกิน/ทำงานมากเกินปกติ เกิดการกำจัดเม็ดเลือดต่างๆสูงกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะซีด และเลือดออกง่าย ที่เรียกภาวะนี้ว่า ‘ภาวะม้ามทำงานเกิน(Hypersplenism)’

ข. ม้ามแตก: จะเกิดการเสียเลือดรุนแรง เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ และเป็นภาวะที่วินิจฉัยได้ยาก ยกเว้น มีประวัติอุบัติเหตุชัดเจนที่ช่องท้อง ซึ่งผู้ป่วยมักมีภาวะซีด และถ้าเลือดออกจากม้ามมาก ผู้ป่วยมักมีภาวะช็อกจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

ค. ม้ามติดเชื้อเป็นหนอง: พบได้น้อย มักเกิดจาก ภาวะติดเชื้อทางกระแสเลือด หรือ ติดเชื้อจากอวัยวะที่อยู่ที่ติดกับม้าม(เช่น ตับอ่อน ลำไส้) หรือ วัณโรค ทั่วไปมักเกิดจากแบคทีเรีย แต่ในคนที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ(เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี) จะเกิดจากติดเชื้อราได้ ซึ่งทั่วไป ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น

  • มีไข้
  • ปวดท้อง และ
  • ร่วมกับมีม้ามโต

ง. ม้ามขาดเลือด(Splenic infarction): คือ ภาวะที่หลอดเลือดของม้ามเกิดการอุดตัน เช่นเกิดจากลิ่มเลือด หรือจากการอุดตันของเซลล์มะเร็งในมะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่งผลให้เนื้อเยื่อม้ามเกิดเนื้อตายในส่วนที่ขาดเลือด อาการที่พบบ่อย คือ ม้ามโตร่วมกับอาการปวดอย่างมากที่ม้าม

จ. ภาวะไม่มีม้าม(Asplenia): เป็นภาวะพบน้อย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ม้ามสูญเสียการทำงานโดยสิ้นนเชิงสาเหตุจากโรคบางโรค เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
  • ไม่มีม้ามตั้งแต่กำเนิด ซึ่งไม่ใช่โรคทางพันธุกรรม แต่เป็นภาวะผิดปกติแต่กำเนิดของผู้ป่วยเอง
  • ผู้ป่วยถูกตัดม้าม จากโรคต่างๆของม้าม เช่น ม้ามแตก ม้ามโตมากในโรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น

ซึ่งภาวะไม่มีม้าม จะส่งผลให้ผู้ป่วยติดเชื้อต่างๆได้ง่าย จากมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเพราะขาดม้ามที่จะสร้างเม็ดเลือดขาวเพื่อช่วยกำจัดเชื้อโรค แพทย์มักรักษาด้วยการให้ผู้ป่วยกินยาปฏิชีวนะป้องกันการติดเชื้อไปตลอดชีวิต

ฉ. ภาวะม้ามเคลื่อนที่ได้(Wandering spleen): เป็นภาวะพบน้อยมาก เกิดจากเนื้อเยื่อเอ็นที่ยึดม้ามให้อยู่กับที่เกิดการหย่อนยาน หรือมีขนาดยาวผิดปกติ จนส่งผลให้ม้ามซึ่งปกติเป็นอวัยวะที่อยู่กับที่ เกิดการเคลื่อนไหว เปลี่ยนที่อยู่ไปอยู่ในตำแหน่งต่างๆได้ทั่วช่องท้อง และอาจเกิดการบิดของเส้นเอ็นเหล่านี้ จนก่อให้เกิดอาการปวดท้องเรื้อรัง หรือ ปวดท้องรุนแรงเฉียบพลันเมื่อเส้นเอ็นนี้บิดตัวมากจนส่งผลให้หลอดเลือดที่เลี้ยงม้ามที่อยู่ในเส้นเอ็นอุดตัน ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดภาวะม้ามขาดเลือดได้

ง. มะเร็งม้าม: มะเร็งของม้ามพบได้น้อย พบได้หลากหลายชนิด ชนิดพบบ่อยคือ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยอาการหลัก คือ อาการของโรคมะเร็งชนิดนั้นๆร่วมกับมีม้ามโต

จ. เนื้องอกม้าม: ป็นโรคพบน้อยมากๆ อาการหลัก คือ ม้ามโต

ฉ. ถุงน้ำ/ซีสต์(Splenic cyst):เป็นภาวะพบบน้อย มักพบโดยบังเอิญจากการตรวจภาพช่องท้องจากโรคต่างๆ เช่น โรคตับ ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ทั่วไปถุงน้ำของม้าม มีขนาดเล็ก ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา ทั่วไปไม่ทราบสาเหตุเกิดที่ชัดเจน แต่น้อยรายมากๆที่เกิดจากโรคต่างๆ ซึ่งการรักษาถุงน้ำของม้ามจะทำเมื่อถุงน้ำ ก่ออาการ และจะเป็นไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดซีสต์

ช. ภาวะม้ามเกิน(Acessory spleen): เป็นภาวะที่มีก้อนเนื้อเยื่อม้ามก้อนเล็กๆขนาดทั่วไปมักไม่เกิน 1 ซม.(แต่พบ 2-3ซม. ได้)เกิดเพิ่มเติมจากม้ามปกติ โดยเกิดในช่องท้องได้ทุกตำแหน่ง ม้ามเกินนี้พบได้ประมาณ 10% ของคนทั่วไป โดยอาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด หรือเกิดในภายหลังเป็นผู้ใหญ่ จากมีการฉีกขาดของม้าม(เช่น จากอุบัติเหตุที่ท้อง) แล้วเนื้อเยื่อม้ามหลุดออกไปเกาะเจริญเติมโตได้ทั่วทุกแห่งในช่องท้อง ทั่วไปมักไม่ก่ออาการ แต่เมื่อตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจช่องท้องด้วย อัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จะส่งผลให้เกิดการวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาดได้ง่ายว่า เป็นต่อมน้ำเหลืองโต หรือเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งที่แพร่กระจายเข้าช่องท้อง

และม้ามเกินนี้ สามารถทำงานได้เหมือนม้ามปกติทั่วไป รวมทั้งทำให้เกิดภาวะม้ามทำงานเกินได้ด้วย

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ ร่วมถึงอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ที่เมื่อดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการรุนแรงตั้งแต่แรก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคของม้ามได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคของม้าม ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เช่น อาการ ประวัติโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเลือด ประวัติอุบัติเหตุต่างๆโดยเฉพาะในบริเวณช่องท้อง
  • การตรวจร่างกาย การตรวจคลำช่องท้อง เพื่อดูว่ามีม้ามโต หรือมีก้อนเนื้อผิดปกติ หรือมีน้ำในท้อง/ท้องมานหรือไม่
  • และการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจเลือด ซีบีซี/CBC
    • การตรวจเลือดดูการทำงานของ ตับ ไต
  • และโดยทั่วไป โรคของม้ามมักวินิจฉัยได้จาก การตรวจภาพช่องท้องด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • ทั้งนี้ทัวไปมักไม่มีการตัดชิ้นเนื้อจากม้ามเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพราะดังกล่าวแล้วในบทนำว่า ม้ามเป็นอวัยวะที่เก็บกักเลือด ดังนั้นการตัดชิ้นเนื้อจึงเป็นสาเหตุเกิดแผลเลือดออก ที่เลือดอาจออกมากจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

มีแนวทางรักษาโรคของม้ามอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคของม้าม คือ การรักษาสาเหตุ, และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะม้ามผิดปกติ: ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ เช่น

  • การรักษามะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว กรณีโรคม้ามเกิดจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ส่งผลให้ม้ามโต
  • การผ่าตัดม้าม กรณีม้ามโตมากจนเสี่ยงกับ ม้ามแตก หรือ มีภาวะม้ามทำงานเกิน

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือ การรักษาอาการทั่วๆไปของผู้ป่วย เช่น

  • ยาแก้ปวด
  • ยาลดไข้
  • การให้ออกซิเจน
  • การให้เลือดกรณีซีดมาก

โรคของม้ามรุนแรงไหม?

ทั่วไป โรคของม้าม มักเป็นโรคที่มีสาเหตุเรื้อรัง เช่น โรคเลือด หรือสาเหตุรุนแรง เช่น โรคมะเร็ง รวมถึงจากการรักษาที่ถ้าต้องผ่าตัดม้ามออกไป ก็จะส่งผลให้ร่างกาย ติดเชื้อง่ายตลอดชีวิต ดังนั้นโรคของม้าม จึงต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ และผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลตนเองตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำเสมอ

ดังนั้น การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคของม้ามโดยทั่วไป จึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย และแพทย์ผู้ดูแลรักษาผู้ป่วยเท่านั้นที่จะบอกความรุนแรง/การพยากรณ์โรคได้ถูกต้อง โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคม้าม คือ

  • สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคม้าม
  • อายุผู้ป่วย
  • โรคประจำตัวอื่นๆของผู้ป่วย
  • การตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละคนต่อการรักษา

ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคของม้าม ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อเพราะโรคของม้ามจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ จึงจะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย รวมถึงเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดีด้วย เพราะโรคของน้ำมักเป็นโรคเรื้อรัง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ในปริมาณที่เหมาะสมในทุกๆวัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทุกวัน ตามควรกับสุขภาพ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น มีจ้ำห้อเลือดขึ้นตามตัวมากขึ้น บวมเนื้อตัว ใบหน้า ขา เท้า
    • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น อ่อนเพลียมาก หายใจลำบาก อุจจาระเป็นเลือด
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น ท้องผูกหรือท้องเสียต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

มีการตรวจคัดกรองโรคของม้ามไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคม้าม ตั้งแต่ในระยะต้น ที่โรคยังไม่ก่ออาการ

ป้องกันโรคของม้ามได้อย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีวิธีป้องกันการเกิดโรคของม้าม ยกเว้นสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งคือการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)

ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ ที่ภายหลังดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอเพื่อการวินิจฉัย/รักษาโรคแต่เนิ่นๆที่จะช่วยให้ผลการรักษาดีกว่า และวิธีรักษายุงยากซับซ้อน ค่าใช้จ่ายจะน้อยกว่าเมื่อรอรักษาจนโรคอาการหนัก

บรรณานุกรม

  1. Seng Thipphavong, et al, American Journal of Roentgenology 2014; 203(2):315-322
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Splenic_disease[2019,Nov30]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Spleen[2019,Nov30]
  4. https://www.nhs.uk/conditions/spleen-problems-and-spleen-removal/ [2019,Nov30]
  5. https://rarediseases.org/rare-diseases/wandering-spleen/[2019,Nov30]
  6. http://haamor.com/th/%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1/ [2019,Nov30]