โรคภัยไข้เจ็บ ตอนที่ 18 – บุหรี่ไฟฟ้า (2)

โรคภัยไข้เจ็บ ตอนที่ 18 – บุหรี่ไฟฟ้า (2)

 

ของเหลว (Fluids) ดังกล่าว ประกอบด้วยอย่างน้อย 7 กลุ่มของส่วนประกอบที่อาจ (Potentially) เป็นพิษ (Toxic Compound) และผลพวงของไอระเหย (Vapor) อาจประกอบด้วยสารที่เป็นอันตราย (Harmful) เช่น นิโคตีน (Nicotine), สารเคมีปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติ (Flavoring) ซึ่งเชื่อมโยงไปยังโรคปอดร้ายแรง, สารเคมีก่อมะเร็ง, และโลหะหนัก (Heavy metal) เช่น ตะกั่ว (Lead)

งานวิจัยแสดงว่า ละอองลอย (Aerosol) เป็นสาเหตุของความเสียหาย (Injury) ต่อทางเดินหายใจ (Airway) ของปอด การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเพิ่มโอกาส (Odd) ของการไอเรื้อรัง, เสมหะ (Phlegm) รุนแรง, และหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) ร้ายแรง ละอองลอยที่สูดเข้า อาจเป็นสาเหตุของความเสียหายจากสารเคมีต่อปอดอย่างเฉียบพลัน (Acute) ของบุหรี่ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า EVALI (= Electronic-cigarette vaping-associated lung injury)

ณ เดือนมกราคม ค.ศ. 2020 ผู้ป่วยชาวอเมริกันจำนวน 2,711 คน ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วย EVALI โดยมี 60 คนที่ได้รับการยืนยัน (Confirm) ว่าตายแล้ว กรณีที่ตายส่วนมากเกี่ยวข้องกับของเหลวที่ประกอบด้วยสารกัญชาที่ชื่อ THC (= Tetra-hydro-cannabinol) หรือ CBD (= Cannabidiol) ซึ่งปรุงเป็นตำรับ (Formulated) ด้วยน้ำมัน เช่น ไวตามิน E แต่ 17% ของกรณีที่ตายมิได้ประกอบด้วย THC หรือ CBD

เราเริ่มเห็นข้อมูลที่เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ระเหยเป็นไอ (Vape) กับมะเร็ง การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้พบว่า หนูทดลองที่เสี่ยง (Exposed) ต่อไอระเหย (Vapor) ซึ่งประกอบด้วยนิโคตีน ได้เพิ่มความเสี่ยงของการวิวัฒนามะเร็งปอดและการเปลี่ยนแปลงของระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Pre-cancerous) ในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder)

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปผล (Conclusion) เกี่ยวกับความเสี่ยงในมนุษย์ แม้ว่าผลจากห้องปฏิบัติการและการทดสอบในสัตว์ แสดงความน่าห่วงใย (Worrisome)

บุหรี่ไฟฟ้าได้รับการทำตลาด (Marketing) ว่าเป็นหนทางให้ผู้ใหญ่อเมริกัน เลิก (Quit) สูบบุหรี่ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับตรงกันข้าม (Opposite) ข้อมูลแสดงว่า วัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน หันมาสนใจไอระเหย ที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ วัยรุ่นดังกล่าวมีแนวโน้ม (Likelihood) ที่จะเพิ่มการสูบบุหรี่ไฟฟ้า

ถ้าเคยลองสูดไอระเหยมาก่อน วัยรุ่นอเมริกัน มีแนวโน้มที่จะทดลองสูบบุหรี่ถึง 7 เท่าตัว และสำหรับผู้สูบบุหรี่อยู่แล้วในปัจจุบัน ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้น 8 เท่าตัว บุหรี่ไฟฟ้าน่าจะได้รับการตำหนิติเตียน [ว่าเป็นผู้ร้าย] (Culpable) ในบรรดาผู้สูบบุหรี่รายใหม่เกือบ 200,000 คน

การสูบบุหรี่เป็นการเสพติด (Addiction) และการเลิกสูบบุหรี่ในภายหลังเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก ผู้สูบบุหรี่วัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้สูบบุหรี่ในระยะยาว ประมาณ 3 ใน 4 คน ที่สูบบุหรี่ มักลงเอยด้วยการสูบต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยที่ 90% ของผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่เริ่มต้นนิสัยนี้ก่อนอายุ 18 ปี

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ผู้ใหญ่ที่เสพติดบุหรี่แบบดั้งเดิม สามารถใช้ไอระเหยในการช่วยหยุดยั้งนิสัยเสพติดได้หรือไม่

แหล่งข้อมูล

  1. Ramirez, Lucas, MD. (2022). Simplify Your Health: A Doctor’s Practical Guide to a Healthier Life. Texas, USA: Black Rose Writing.
  2. สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. (2560). สุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง: Good Health by Yourself (eBook). พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.