ปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนเหตุอักเสบเรื้อรัง หรือ โรคพีเอมอาร์ (Polymyalgia rheumatic หรือ PMR)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผู้สูงอายุหลายๆท่านจะมีอาการปวดเมื่อยทั่วตัว อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำๆ ไปพบแพทย์และไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร สุดท้ายก็ไปซื้อยาชุดทาน อาการดีขึ้นในช่วงแรก แต่ช่วงหลังก็ทรุดลง เกิดภาวะติดเชื้อจากการใช้ยาชุด ซึ่งโรคที่เป็นสาเหตุของความผิดปกติดังกล่าว คือ “โรค Poly myalgia rheumatic เรียกย่อว่า PMR” ซึ่งชื่อภาษาไทยเป็นทางการยังไม่มี ผมขอเรียกว่า “โรคปวดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนเหตุอักเสบเรื้อรัง” หรือ “โรคพีเอมอาร์” แล้วโรคนี้คืออะ ไร ไม่เคยทราบมาก่อน คุณลองอ่านบทความนี้ดูนะครับ อาจช่วยเพิ่มเข้าใจในโรคนี้ได้

โรคพีเอมอาร์คืออะไร? เกิดได้อย่างไร?

โรคพีเอมอาร์

โรคพีเอมอาร์ คือ โรคที่เกิดการอักเสบเรื้อรังของกล้ามเนื้อ เอ็น เนื้อเยื่ออ่อน และข้อต่าง ๆทั่วร่างกาย

กลไกการเกิดโรคพีเอมอาร์ ที่แน่ชัดยังไม่ทราบ แต่สันนิษฐานว่า อาจมีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุ โดยพบผู้ป่วยมีความสัมพันธ์กับการตรวจพบยีน/จีนผิด ปกติชื่อ HLA-DRB1

โรคพีเอมอาร์ พบบ่อยในบางประเทศ และบางภูมิภาค (เช่น แถบสแกนดิเนเวีย/Scandi navia) พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชาย และมักพบในคนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

โรคพีเอมอาร์ พบเกิดบ่อยในช่วงฤดูร้อนมากกว่าในช่วงฤดูหนาว และพบร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ก่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ คือ Mycoplasma pneumonia และ Chlamydia pneumonia และ เชื้อไวรัสบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรคไข้ขึ้นผื่น คือ Parvovirus B19 บางการศึกษาพบความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ โดยมีความผิดปกติของฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol ฮอร์โมนความเครียด) และฮอร์โมนอีกหลายชนิดร่วมด้วย

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคพีเอมอาร์?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคพีเอมอาร์ คือ

  • ผู้หญิง โดยผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าผู้ชาย
  • ผู้สูงอายุมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคนี้สูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อย
  • ผู้ที่มีประวัติทางพันธุกรรมเป็นโรคนี้ หรือมีจีน/ยีนที่ผิดปกติ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ
  • มีการติดเชื้อแบคทีเรีย Mycoplasma pneumonia และ Chlamydia pneumonia หรือติดเชื้อไวรัส Parvovirus B19

โรคพีเอมอาร์มีอาการอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคพีเอมอาร์ จะมีลักษณะ/อาการ เช่น

  • ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ
  • เคลื่อนไหวลำบาก เช่น บริ เวณไหล่ สะโพก คอ และปวดร้าวไปถึงบริเวณ ข้อศอก ข้อเข่า
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ากล้ามเนื้อและข้อเคลื่อนไหวลำบาก ยึดตึงในช่วงเช้าหลังตื่นนอนนานมากกว่า 30 นาที (Morning stiffness)
  • อาการทรุดลงหลังจากหยุดพัก
  • โดยอาการเกิดทั้ง 2 ข้างของร่างกาย (ซ้ายและขวา)
  • ร่วมกับผู้ป่วยมีอาการดังจะกล่าวต่อไปร่วมด้วย ซึ่งพบอาการร่วมด้วยเหล่านี้ได้เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย ได้แก่
    • อ่อนเพลีย
    • ปวดเมื่อย
    • เบื่ออาหาร
    • น้ำหนักลด
    • ไข้ต่ำๆ

อะไรเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น?

ปัจจัยกระตุ้นให้อาการโรคพีเอมอาร์รุนแรงขึ้น ได้แก่

  • ภาวะติดเชื้อ
  • ความเครียด
  • และการพักผ่อนไม่เพียงพอ

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม เพราะมีโรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายกันกับโรคพีเอมอาร์ โดยเฉพาะภาวะติดเชื้อ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาอาจไม่ตรงกับสาเหตุ โรคจึงไม่หาย (แต่ทำให้อาการปวดดีขึ้นเพียงชั่วคราว) และยังอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาด้วย

ซึ่งผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ

  • มีอาการปวดเมื่อยตามตัว ร่วมกับ
  • มีไข้ และมีอาการอ่อนเพลีย
  • และอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเองภายใน 7-10 วัน หรือเมื่ออาการต่างๆเลวลง

แพทย์วินิจฉัยโรคพีเอมอาร์อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคพีเอมอาร์ได้โดยพิจารณาจาก

  • ประวัติอาการผู้ป่วยดังกล่าวแล้วในหัว ข้อ อาการ โดยเฉพาะการยึดตึงของข้อในช่วงเช้า
  • การตรวจร่างกาย
  • ร่วมกับการตรวจเลือด ดูการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR/Erythrocyte sediment rate) ที่สูงขึ้นมากกว่า 40 มม. /ชั่วโมง
  • ทั้งนี้โดยมีเกณฑ์ประกอบการวินิจฉัย ดังนี้
    • อายุมากกว่า 65 ปี
    • มีอาการมานานมากกว่า 2 สัปดาห์
    • ปวดและยึดตึงบริเวณข้อไหล่ 2 ข้าง
    • ปวดแขน 2 ข้าง
    • ESR สูงมากกว่า 40 มม./ชั่วโมง
    • มีการยึดตึงของข้อกล้ามเนื้อนานมากกว่า 1 ชั่วโมง
    • มีภาวะซึมเศร้า และน้ำหนักลด

อนึ่ง ในการวินิจฉัยโรคนี้ นอกจากดังกล่าวแล้ว อาจจำเป็นต้องมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นๆ (ดังจะกล่าวในหัวข้อต่อไป) เช่น

  • ตรวจเลือด ดู
    • ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด/ซีบีซี (CBC)
    • ดูการทำงานของตับ ของไต และ/หรือของต่อมไทรอยด์
    • การเอกซเรย์ปอดดูการติดเชื้อที่ปอด
    • และ อาจตรวจอุจจาระดูภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้ยาสเตียรอยด์

โรคอื่นที่ต้องแยกจากโรคพีเอมอาร์มีอะไรบ้าง?

โรคอื่นๆที่มีอาการคล้ายคลึงและต้องแยกจากโรคพีเอมอาร์ มีหลากหลายโรค เช่น

  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • โรคเกาต์
  • โรคหลอดเลือดอักเสบ
  • ข้อไหล่อักเสบ
  • โรคไฟโบรมัยอัลเจีย
  • โรคพีเอมเอส
  • โรคต่อมไทรอยด์
  • ภาวะติดเชื้อ
  • โรคมะเร็ง
  • ภาวะซึมเศร้า
  • โรคพาร์กินสัน
  • และอาการปวดกล้ามเนื้อจากผลข้างเคียงของยาลดไขมัน

โรคพีเอมอาร์รักษาอย่างไร?

แพทย์รักษาโรคพีเอมอาร์ด้วยการให้ยา เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone ยาสเตียรอยด์ชนิดหนึ่ง) ขนาดประมาณ 20-30 มก./วัน นานประมาณ 2-4 สัปดาห์ และค่อยๆลดขนาดยาลงเมื่ออาการดีขึ้น บางกรณีอาจต้องรักษานาน 1-2 ปี และในบางกรณีอาจจำเป็นต้องให้ยากดภูมิ คุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย/ยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย

โรคพีเอมอาร์มีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคพีเอมอาร์ คือ เป็นโรคที่รักษาหายได้ แต่ต้องใช้เวลารักษานาน และต้องระวังผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนของยาสเตียรอยด์ (เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เบาหวาน และติดเชื้อได้ง่าย) และยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ติดเชื้อโรคได้ง่าย)

ทั้งนี้โรคพีเอมอาร์มีโอกาสการกลับเป็นซ้ำได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้อง

  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
  • และห้ามหยุดยาเอง เพราะการหยุดยานั้น แพทย์จะ
    • ต้องค่อยๆลดชนิดและขนาดยาที่ใช้เป็นระยะๆอย่างช้าๆ
    • และต้องมีการประเมินอาการโดยละเอียดทุกครั้งว่าสมควรที่จะลดยาหรือไม่
    • และแพทย์ยังต้องมีการติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอภายหลังการลดยา

*ทั้งนี้ โรคพีเอมอาร์ ถ้าได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลให้เกิดการอักเสบอย่างเรื้อรังของอวัยวะอื่นๆร่วมด้วยได้ เช่น หลอดเลือดขมับอักเสบ

ควรดูแลตนเองอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

เมื่อเป็นโรคพีเอมอาร์ การดูแลตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการรักษาต้องทานยาสเตียรอยด์ และ/หรือยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อเนื่อง ดังนั้นจะมีโอกาสเกิดผลข้าง เคียง/ผลแทรกซ้อนจากยาที่ใช้ได้สูง การดูแลตนเองที่ดีนั้น คือ

  • การทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ไม่ทานยาอย่างอื่นเพิ่มเติมนอกจากที่แพทย์สั่งเพราะอาจเกิดภาวะดื้อยาได้
  • ไม่ควรให้เกิดภาวะติดเชื้อ ต้องทานอาหารปรุงสุกเสมอ และรักษาสุขอนามัยพื้น ฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และ
  • รักษาสุขภาพจิต ไม่เครียด
  • พบแพทย์ตรงตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ มีอาการทรุดลง หรือมีผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนจากยาที่ใช้รักษา เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมากขึ้น หรือมีอุจจาระเป็นเลือด

ป้องกันโรคพีเอมอาร์ได้อย่างไร?

โรคพีเอมอาร์ เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะยังไม่ทราบกลไกการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่การพักผ่อนที่เพียงพอ ไม่เครียด ร่วมกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพ ก็จะช่วยทำให้อาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่รุนแรง และสามารถรักษาได้ง่ายขึ้น

สรุป

โรคพีเอมอาร์ เป็นโรคที่พบไม่บ่อยแต่ถ้าเป็นจะทรมานมาก จึงแนะนำให้ผู้สูงอายุที่มีอา การปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คล้ายมีไข้ พบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูก ต้องต่อไป