ตืดแคระ โรคพยาธิตืดแคระ (Dwarf tapeworm infection)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคพยาธิตืดแคระ หรือ โรคติดเชื้อพยาธิตืดแคระ (Dwarf tapeworm infection) ชื่อวิทยาศาสตร์ของโรคคือ Hymenolepiasis เป็นโรคพยาธิตัวตืดในระบบทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง ที่ส่วนใหญ่พยาธิอยู่ในลำไส้เล็กตอนล่าง ส่วนที่เรียกว่า Ileum (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร) โดยเกิดจากคนติดพยาธิตืดแคระ(Dwarf tapeworm, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hymenolepis nana) ด้วยการกินไข่พยาธินี้ที่ปนออกมากับอุจจาระของคนเป็นโรคพยาธินี้โดยที่ไข่/อุจาระปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม หรือสัมผัสติดมือคน

 

พยาธิตืดแคระ เป็นพยาธิตัวตืดที่มีขนาดเล็กที่สุด คือ ตัวแก่/ตัวโตเต็มวัย(Adult, พยาธิที่พร้อมสืบพันธ์ และ/หรือ ออกไข่) มักมี ลำตัวใส ไม่มีสี ขนาดประมาณยาว 15-40 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ในขณะที่พยาธิตัวตืดชนิดอื่นๆจะยาวเป็นเมตร เช่น ตืดหมู ตืดวัว ตืดปลา เป็นต้น

 

พยาธิตืดแคระ มีคนเป็น “โฮสต์จำเพาะ (Definitive host, โฮสต์ที่พยาธิอาศัยอยู่จนเป็นตัวแก่ จนสามารถผสมพันธ์ และออกไข่แพร่พันธ์ได้)” และเป็นพยาธิที่วงจรชีวิต ไม่ต้องการโฮสต์ตัวกลาง (Intermediate host, โฮสต์ที่ตัวอ่อนพยาธิอาศัยอยู่ โดยไม่สามารถเจริญไปเป็นตัวแก่ได้) ทั้งนี้ พยาธิตืดแคระ เป็นพยาธิที่ก่อโรคในคน ที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มพยาธิตัวตืด

 

โรคพยาธิตืดแคระ พบทั่วโลกในทุกทวีป ในแหล่งที่มีคนอาศัยอยู่แออัด ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบได้ประมาณ 0.1-58% ของประชากรแต่ละประเทศ พบในทุกเพศ(ผู้หญิงและผู้ชายพบเกิดโรคได้เท่ากัน) และในทุกวัย แต่มักพบในเด็กช่วงวัยเรียน อายุ 4-10ปี, ในสถานที่ ที่มีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก (เช่น สถาบันการศึกษาต่างๆ), ประเทศที่มีอากาศค่อนข้างอบอุ่นและแห้ง, และในประเทศด้อยพัฒนาหรือที่กำลังพัฒนา

 

อนึ่ง บางครั้งพบหนูเป็น โฮสต์จำเพาะของพยาธินี้ได้ พยาธินี้จึงมีอีกชื่อว่า “พยาธิตืดหนู (Rat tapeworm)”

 

วงจรชีวิตของพยาธิตืดแคระเป็นอย่างไร? ติดต่อสู่คนได้อย่างไร?

โรคพยาธิตืดแคระ

วงจรชีวิตของพยาธิตืดแคระและการติดโรคสู่คน มี 3 แบบ คือ

 

ก. แบบที่พบบ่อย คือ เริ่มจากตัวแก่ในลำไส้เล็กของคน ออกไข่ ไข่อยู่ในปล้อง หรือปนในอุจจาระ ซึ่งทั้งไข่และปล้องพยาธิ ปนมากับอุจจาระของคน(มีอายุอยู่ได้ประมาณ 10 วันในสิ่งแวดล้อม) คนกินไข่/ปล้องพยาธินี้จากการปนเปื้อนอุจจาระ จาก มือ อาหาร น้ำดื่ม จากนั้น ไข่เข้าสู่กระเพาะอาหาร เจริญเป็น ‘ตัวอ่อน (Larva)ที่เรียกว่า Oncosphere’ ตัวอ่อนนี้จะเข้าไปอาศัยภายในผนังลำไส้เล็ก ภายใน 3-4 วัน ตัวอ่อนนี้จะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะก่อนเจริญเป็น ‘ตัวแก่ เรียกว่า Cysticercoid’ ซึ่งหัวของมันจะเกี่ยวยึดติดกับผนังลำไส้เล็ก และเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ที่ออกไข่ ไข่ปนมาในอุจจาระ (ซึ่งสามารถตรวจพบไข่ในอุจจาระได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากการติดโรคนี้) เป็นอันครบวงจรชีวิตของ พยาธิตืดแคระ

 

ข. อีกแบบหนึ่ง แบบที่ 2 ของวงจรชีวิต และวิธีติดต่อสู่คนของพยาธิตืดแคระที่พบได้น้อยกว่าวิธีแรก คือ ไข่พยาธินี้ที่ปนในอุจจาระ จะถูกกินโดยแมงชนิดที่มีขาเป็นปล้อง (Arthropod) เช่น ในกลุ่มเต่าทอง เห็บ หมัด ที่เป็นโฮสต์ตัวกลาง ซึ่งในลำไส้ของโฮสต์ตัวกลาง ไข่พยาธินี้จะเจริญเป็น ‘ตัวอ่อนระยะ Cysticercoid’ ที่เป็นระยะติดต่อ เมื่อ คน หรือ หนู กินโฮสต์ตัวกลางเหล่านี้เข้าไป ตัวอ่อนนี้ก็สามารถเจริญเติบโตในลำไส้คนหรือหนู ไปเป็นตัวแก่ที่เจริญจนออกไข่จนสามารถตรวจพบไข่ในอุจจาระ (โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ มักใช้เวลาในการเจริญเติบโตนานกว่าวิธีแรก)ที่ก่อการติดต่อสู่คนได้ด้วยวิธีเช่นเดียวกับวิธีแรก วนเวียนเป็นวงจรชีวิต และการติดเชื้อของคนอีกรูปแบบหนึ่ง

 

ค. นอกจากนั้น พยาธิตืดแคระ ยังมีวงจรชีวิตได้อีกแบบ เป็นวิธีที่ 3 เรียกว่า “Autoinfection” ซึ่งเป็นวิธีที่พบเกิดได้บ่อยเช่นกัน คือ การติดพยาธิด้วยตัวของพยาธิเอง กล่าวคือ ไข่พยาธินี้ที่อยู่ในลำไส้เล็ก สามารถเจริญเป็น ‘ตัวอ่อนระยะ Oncosphere’ และต่อมาเจริญ เป็น ‘ตัวอ่อนระยะ Cysticercoid’ และเจริญเป็น ‘ตัวแก่ที่ออกไข่ได้’ ในลำไส้เล็กของคน โดยไม่ต้องผ่านออกมากับอุจจาระก่อน เป็นอันครบวงจรชีวิต และเป็นวิธีเกิดโรคในคนเป็นวิธีที่3 ซึ่งวิธีนี้เป็นอีกวิธีที่พบได้บ่อย ที่ทำให้เมื่อติดพยาธินี้ ถ้าไม่รักษา คนสามารถมีพยาธินี้ในตัวได้นานเป็นปีหรือหลายปี ทั้งๆที่ ตัวแก่ พยาธิ์นี้แต่ละตัวแก่ มีชีวิตในลำไส้คนได้นานเพียงประมาณ 4-6 สัปดาห์

 

สรุป พยาธิตืดแคระ ติดต่อสู่คนได้ 3 วิธี คือ

  • จากคนกินไข่พยาธินี้ที่ปนเปื้อนในอุจจาระ ซึ่งอุจจาระปนเปื้อนที่ มือ อาหาร และน้ำดื่ม เป็นวิธีติดเชื้อที่พบบ่อย
  • จากคนกินสัตว์ชนิดมีขาเป็นปล้องที่มีตัวอ่อนพยาธินี้ วิธีนี้พบน้อย
  • จากการติดเชื้อในตัวคนเอง ที่เรียกว่า Autoinfection ซึ่งเป็นอีกวิธีที่พบบ่อย

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดพยาธิตืดแคระ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดพยาธิตืดแคระ คือ

  • เด็กวัยเรียน
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งขาดสุขอนามัยพื้นฐาน โดยเฉพาะในระบบส้วม ในการกำจัดอุจจาระ และในระบบน้ำกิน น้ำใช้
  • ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตนตามหลักสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

 

โรคพยาธิตืดแคระมีอาการอย่างไร?

อาการของพยาธิตืดแคระ:

  • โดยทั่วไป ถ้าเป็นการติดพยาธิตืดแคระในผู้ใหญ่ มักไม่ก่ออาการ
  • แต่พบเกิดอาการในเด็กที่ติดพยาธิ ซึ่งอาการในเด็กที่พบได้บ่อย คือ
    • อาการในระยะยาว โดยพบเด็กมีการเจริญเติบโตของร่างกายที่ต่ำกว่าเกณฑ์จากภาวะทุโภชนา

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็กที่มีอาการ(มักพบกรณีติดพยาธิปริมาณมาก) อาจมีอาการอื่นๆ ที่พบได้ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากกินไข่พยาธิ และอาจเป็นๆหายๆ โดยอาการที่พบ ไม่ใช่อาการเฉพาะของโรค แต่เป็นอาการทั่วไปของโรคทางเดินอาหาร เช่น

  • คลื่นไส้ อาจมีอาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ปวดท้องที่ไม่รุนแรง
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดศีรษะ
  • มีอาการคันก้น ซึ่งคล้ายในโรคพยาธิเส้นด้าย

 

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’, หรือเมื่ออยู่ในแหล่งที่มีพยาธิตืดแคระเป็นโรคประจำถิ่น, หรือเมื่อเดินทางไปยังแหล่งของพยาธิตืดแคระ, ก็ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อขอให้แพทย์ตรวจอุจจาระดูไข่/ปล้องของพยาธิตืดแคระ

 

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตืดแคระได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคพยาธิตัวแคระ ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติสัมผัสโรค(เช่น การกินอาหาร การท่องเที่ยว การพักอาศัยในถิ่นมีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น)
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอุจจาระดูไข่/ปล้องพยาธิ
  • ทั้งนี้โดยทั่วไป การวินิจฉัยโรคไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆอีก เช่น การตรวจภาพช่องท้อง หรือลำไส้ ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน

 

รักษาโรคพยาธิตืดแคระอย่างไร?

การรักษาโรคพยาธิตืดแคระ คือ การกินยาฆ่าตัวพยาธิ(ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าไข่พยาธิ) และ การรักษาประคับประคองตามอาการ

 

ก. กินยาฆ่าพยาธิ/ยาถ่ายพยาธิ: ยากินที่มีประสิทธิภาพ เช่นยา Paraziquqntel, Niclosamide, Paromomycin ซึ่งการเลือกใช้ชนิดยา ขึ้นกับ อาการ, ความรุนแรงของอาการ, ผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดกับผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์

 

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือ ผู้ป่วยมีอาการอย่างไรก็รักษาตามนั้น เช่น

  • ยาแก้ปวดท้องเมื่อมีอาการปวดท้อง
  • ยาแก้ท้องเสียเมื่อมีอาการท้องเสีย และ/หรือ
  • ยาแก้คันเมื่อมีอาการคันก้น/คันทวารหนัก เป็นต้น

 

โรคพยาธิตืดแคระก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

พยาธิตืดแคระ เป็นพยาธิไม่ค่อยก่ออาการ ดังนั้นจึงมักไม่พบผลข้างเคียงที่เกิดจากโรค

 

โรคพยาธิตืดแคระมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคพยาธิตืดแคระมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้ง่าย และยังไม่พบรายงานถึงแม้จะติดเชื้อในเด็กว่า ทำให้เด็กเกิดการเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์ หรือผอมลง แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้เกิดซ้ำได้เสมอตลอดเวลา ถ้าไม่รู้จักรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน

 

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคพยาธิตืดแคระ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) ป้องกันการติดเชื้อซ้ำ เช่น ล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย
  • ตรวจอุจจาระเป็นระยะๆ บ่อยตาม แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข หรืออาสาสมัครสุขภาพ แนะนำ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

 

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • มีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น ปวดท้องเรื้อรัง เบื่ออาหารมากจนผอมลง
  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ท้องเสียเรื้อรัง คันก้น/คันทวารหนักเรื้อรัง
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่ง จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้อาเจียนมาก
  • กังวลในอาการ

 

ป้องกันโรคพยาธิตืดแคระอย่างไร?

โรคพยาธิตืดแคระ เป็นโรคที่การติดต่อหลัก คือ จากอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระที่มีไข่พยาธินี้ (Food born illness) ดังนั้น การป้องกันโรคนี้ที่มีประสิทธิภาพ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ล้างมือให้สะอาดเสมอ และทุกครั้งก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ระวังในเรื่อง อาหาร และน้ำดื่ม ต้องให้สะอาดอยู่เสมอ รู้จักการล้างผักและผลไม้ รู้จักการปลอกเปลือกผลไม้ ก่อนรับประทาน
  • กินอาหารที่ปรุงสุกทั่วถึงทั้งด้านนอกและด้านในชิ้นอาหาร
  • รู้จักการใช้ส้วม และมีวิธีกำจัดอุจจาระที่ถูกต้องตามหลักสาธารณสุข
  • ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมของบ้านและของชุมชนให้ถูกสุขอนามัย และให้ปลอดจากเป็นที่อยู่ของสัตว์ที่เป็นโฮสต์ของพยาธินี้ คือ หนู และสัตว์ที่มีขาเป็น ปล้อง เช่น เต่าทอง เห็บ หมัด
  • ถ้าอยู่ในแหล่งที่มีโรคพยาธินี้เป็นโรคประจำถิ่น หรือเดินทางกลับจากแหล่งเหล่านี้ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจอุจจาระ หาไข่พยาธิ เพื่อการรักษา จะได้เป็นการตัดวงจรชีวิตของพยาธินี้

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Hymenolepiasis[2019,May18]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/998498-overview#showall[2019,May18]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Hymenolepis_nana[2019,May18]
  4. https://animaldiversity.org/accounts/Hymenolepis_nana/[2019,May18]
  5. https://www.cdc.gov/parasites/hymenolepis/faqs.html[2019,May18]
  6. https://www.cdc.gov/parasites/hymenolepis/biology.html [2019,May18]
  7. https://www.msdmanuals.com/professional/infectious-diseases/cestodes-tapeworms/hymenolepis-nana-dwarf-tapeworm-infection [2019,May18]