โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน (Skin and soft tissue infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน(Skin and soft tissue infection ย่อว่า SSTI) คือ โรคเกิดจากมีการติดเชื้อโรคที่ตำแหน่งของเนื้อเยื่อ/อวัยวะเหล่านี้ คือ

  • ผิวหนัง
  • เนื้อเยื่อส่วนลึกใต้ผิวหนัง ซึ่งเรียกว่า เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง(Subcutaneous tissues) เช่น เนื้อเยื่อ เส้นใย, พังผืด, เซลล์ไขมัน
  • และที่เนื้อเยื่ออ่อน(Soft tissue)ที่อยู่ลึกใต้ต่อเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เช่น เนื้อเยื่อไขมันและพังผืดที่หุ้มกล้ามเนื้อ แลที่ตัวกล้ามเนื้อเอง

อนึ่ง ชื่ออื่นของโรคกลุ่มนี้ คือ Skin and skin structure infection ย่อว่า SSSI หรือถ้าเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลัน เรียกว่า Acute bacterial skin and skin structure infection ย่อว่า ABSSSI

โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนน้อยเป็นการติดเชื้อไวรัส หรือ เชื้อรา/โรคเชื้อรา โดยโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออ่อนจัดเป็นกลุ่มโรค ซึ่งประกอบด้วยโรคติดเชื้อของอวัยวะ/เนื้อเยื่อต่างๆดังได้กล่าวในตอนต้น และอาจเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง รักษาหายด้วยตนเอง เช่น ฝีขนาดเล็กที่ผิวหนัง(เช่น สิวติดเชื้อ) ไปจนถึงโรคที่มีความรุนแรงสูงมากจนอาจทำให้ตายได้ เช่น โรคเนื้อเน่า

โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน เป็นโรคพบบ่อย จากการศึกษาต่างๆพบโรคนี้ในแต่ละปีประมาณ 25รายต่อประชากร 1,000 คน พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบทุกเพศ และทุกวัย ตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ

โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน แบ่งตามความรุนแรงของโรคเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

ก. โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนแบบไม่ซับซ้อน(Uncomplicated SSTI): โรคกลุ่มนี้มีการติดเชื้อไม่รุนแรง ติดเชื้อในเนื้อเยื่อชั้นตื่นๆ/แผลไม่ลุกลามลงลึก รักษาดูแลได้หายเสมอ ทั้งด้วยตนเองหรือจากแพทย์ และถึงแม้จะเกิดซ้ำๆได้เสมอก็ตาม เช่น ฝี/หนองขนาดเล็ก, แผลติดเชื้อที่ผิวหนังที่มีขนาดเล็ก มักเล็กกว่า 1.5 เซนติเมตร/ซม., รูขุมขนอักเสบ, แผลพุพอง, การรักษาโรคในกลุ่มนี้จะเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ด้วยการกินยาปฏิชีวนะ อาจร่วมกับเจาะฝีเพื่อเอาหนองออก การพยากรณ์โรคจัดอยู่ในกลุ่มมีการพยากรณ์โรคที่ดี

ข. โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนแบบซับซ้อน(Complicated SSTI ย่อว่า cSSTI): เป็นการติดเชื้อที่ลามลงไปในเนื้อเยื่อชั้นที่อยู่ลึก การรักษามักเป็นการรักษาในโรงพยาบาล การใช้ยาปฏิชีวนะจะเป็นแบบฉีดโดยเฉพาะการให้ยาทางหลอดเลือดดำ และมักร่วมกับการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเนื้อเยื่อแผลที่ติดเชื้อ/เนื้อเยื่อที่ตายออก(Debridement) หรือ ตัดอวัยวะที่ติดเชื้อออก เช่น ตัดขากรณีแผลเกิดที่ขา เป็นต้น การติดเชื้อแบบนี้ แบ่งเป็น2 กลุ่มย่อย คือ

  • การติดเชื้อที่ไม่มีเนื้อเน่าตาย(Non necrotizing cSSTI): เป็นการติดเชื้อรุนแรง ซับซ้อน อาจลุกลามเป็นภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เช่น แผลอุบัติเหตุขนาดใหญ่, แผลไฟไหม้/น้ำร้อนลวกขนาดใหญ่, หรือ แผลติดเชื้อในผู้ป่วยเบาหวาน, ซึ่งการพยากรณ์โรคจัดว่ามีการพยากรณ์โรคดีปานกลาง
  • โรคเนื้อเน่า(Necrotizing fasciitis): เป็นการติดเชื้อที่ ลุกลามรวดเร็ว รุนแรงที่สุด ผู้ป่วยมีโอกาสตายสูง การรักษามักเป็นการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ และมักร่วมกับการตัดอวัยวะที่ติดเชื้อออก เป็นกลุ่มมีการพยากรณ์โรคที่เลว

นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนตามความรุนแรงของอาการและวิธีรักษาเป็น 4 ชั้น/ระดับ(Class)ได้แก่

  • Class1: แผลไม่รุนแรง มีขนาดเล็ก เกิดเฉพาะที่ ไม่ลุกลามเป็นแผลกว้างหรือแผลลึก ผู้ป่วยอาจมีโรคประจำตัวแต่เป็นโรคฯที่ควบคุมได้ดี ผู้ป่วยกลุ่มนี้การรักษาจะเป็นผู้ป่วยนอก และใช้ยาปฏิชีวนะเป็นชนิดรับประทานได้ผลดี
  • Class2: ผู้ป่วยมีอาการที่แสดงว่าเชื้อลุกลาม อาจลุกลามเข้ากระแสเลือดแต่ไม่รุนแรง เช่น มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร แต่ยังเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่ควบคุมโรคประจำตัวได้ดี, หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มควบคุมโรคประจำตัวไม่ได้หรือควบคุมโรคได้ไม่ดีแต่ไม่มีอาการของการติดเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือด, ผู้ป่วยกลุ่ม Class2นี้ แพทย์จะพิจารณาให้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และได้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด
  • Class3: ผู้ป่วยมีอาการเชื้อลุกลามเข้ากระแสเลือดและมีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้หรือควบคุมได้ไม่ดี ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาลร่วมกับให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด
  • Class4: ผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่รุนแรง/วิกฤติ(หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ สับสน กระวนกระวาย) ผู้ป่วยจำเป็นต้องรักษาในโรงพยาบาล อาจต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติ และอาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดอวัยวะที่ติดเชื้อออก

โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนมีสาเหตุจากอะไร?

โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน

โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน เป็นโรคเกิดจากผิวหนังมีการบาดเจ็บหรือมีบาดแผล ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อโรคต่างๆเข้าสู่ผิวหนังจนเกิดติดเชื้อ และถ้าปริมาณเชื้อมีมากและ/หรือเป็นเชื้อชนิดรุนแรง เชื้อโรคเหล่านี้ก็สามารถลุกลามเข้าสู่ผิวหนังชั้นในและเนื้อเยื่อต่างๆที่อยู่ลึกใต้ผิวหนัง เช่น เนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อพังผืด เนื้อเยื่อพังผืดที่หุ้มกล้ามเนื้อ และตัวกล้ามเนื้อเอง โดยเชื้อโรคที่พบบ่อยและเป็นเกือบทั้งหมดของโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อลึกใต้ผิวหนัง/เนื้อเยื่ออ่อนคือ ‘เชื้อแบคทีเรีย’ ส่วนน้อยจะเป็น เชื้อไวรัส (เช่น โรคงูสวัด หรือ โรคเริม)

ทั้งนี้ เชื้อแบคทีเรียที่พบเป็นสาเหตุโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนมีหลากหลายชนิด พบได้ทั้ง ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียว หรือติดเชื้อจากแบคทีเรียหลายชนิดพร้อมๆกัน ที่พบบ่อย คือ

  • เชื้อ Staphylococcus aureus ซึ่งพบบ่อยที่สุด รองลงมาคือ เชื้อ Streptococcus pyogenes ซึ่งทั้ง2ชนิดนี้เป็นสาเหตุการติดเชื้อกับผิวหนังฯได้ทุกส่วนของร่างกาย
  • ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังฯส่วนรอบๆรูทวารหนัก มักเป็นจากเชื้อแบคทีเรียชนิด แกรมลบ
  • ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังฯในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ มักเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียหลายชนิดพร้อมกัน เช่น Streptococcus + Staphylococcus +แกรมลบแบคทีเรีย หรืออาจเป็นการติดเชื้อชนิดรุนแรงที่ไม่ค่อยเกิดในคนทั่วไป เช่นเชื้อ Clostidium, Bacteroides

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน เช่น

  • ผิวหนังบาดเจ็บ/มีแผล จากแผลทุกประเภท เช่น แกะ เกา ของมีคม แผลจากถูกทิ่มตำ แผลจากการถูกคนหรือแมลงกัด/ต่อย แผลไฟ้ไหม้/น้ำร้อนลวก แผลจากการฉีดยา และรวมถึงแผลผ่าตัด แต่ที่มักมีการติดเชื้อรุนแรงมากที่สุด คือ แผลจากถูกกัด ทั้งจากคนหรือสัตว์
  • ผิวแห้งมาก เช่นผู้ป่วย โรคผิวหนัง, โรคออโตอิมมูน
  • ผิวที่มีการระคายเคืองตลอดเวลา เช่น ผู้ที่สัมผัสกับสารเคมีตลอดเวลา เช่น อาชีพแม่บ้าน
  • ผู้เป็นโรคมีการไหลเวียนเลือดไม่ดี เช่น โรคหลอดเลือด โรคหลอดเลือดอักเสบ โรคหลอดเลือดดำขาขอด โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ผู้มีการไหลเวียนระบบน้ำเหลืองไม่ดี เช่น ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกไป เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีการรักษาโดยผ่าตัดเต้านมร่วมกับผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านเดียวกับมะเร็งเต้านม หรือฉายรังสีรักษาบริเวณรักแร้เพื่อรักษามะเร็งชนิดต่างๆ
  • ผู้มีโรคระบบประสาท เช่น โรคเส้นประสาท ที่ทำให้ผิวหนังรับความรู้สึกลดลงจนเกิดเป็นแผลเรื้อรังได้ง่าย เช่น แผลที่นิ้วเท้า/ที่เท้าในผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กเล็ก, ผู้สูงอายุ, มีโรคประจำตัวเรื้อรังโดยเฉพาะที่ควบคุมโรคได้ไม่ดี, ติดสุรา, ติดสารเสพติด

โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน ถึงแม้จะมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ได้หลายชนิด แต่อาการส่วนใหญ่จะเหมือนกัน ต่างกันที่ความรุนแรงของอาการมากน้อยตามปริมาณเชื้อที่ได้รับและชนิดของแบคทีเรีย/ไวรัสที่เป็นชนิดรุนแรงหรือไม่ ทั้งนี้ ทั่วไป อาการ เช่น

  • มีแผลที่ผิวหนังลักษณะเป็นแผลติดเชื้อ คือ แผลบวม แดงร้อน เจ็บ/ปวด มักมีน้ำเหลือง/ของเหลวซึมออกจากแผล อาจมีหนอง อาจมีสะเก็ดปกคลุม หรือเป็นตุ่มน้ำ ถ้ารุนแรงมาก สีแผลจะคล้ำ หรือเปลี่ยนเป็นสีดำ มีเนื้อเน่า และอาจมีเสียงกรอบแกรบกรณีเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สร้างแก๊สได้
  • ผิวหนังที่มีแผล/รอยโรคอาจคัน หรือแสบร้อน/ระคายเคือง
  • มีไข้ มีได้ทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ หรือ หนาวสั่น ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
  • อาจคลื่นไส้ อาจมีอาเจียนแต่ไม่มาก
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีแผลที่ผิวหนังและ/หรือมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” และอาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเองในประมาณ 5-7วัน หรือมีอาการรุนแรงตั้งแต่แรก หรือเมื่ออาการเลวลงหลังการดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอโดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน หัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติการมีแผล โรคประจำตัว อาขีพ การใช้ยาต่าง การใช้สารเคมี ต่างๆ
  • การตรวจสัญญาณชีพ
  • การตรวจร่างกาย
  • และที่สำคัญที่สุดคือการตรวจแผล/รอยโรค ดูลักษณะ/ตำแหน่ง
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจเชื้อหรือการตรวจเพาะเชื้อจากหนอง/แผล
    • การตรวจเพาะเชื้อจากเลือด
    • การตรวจเลือดดูค่า ซีบีซี/CBC (ค่าความสมบูรณ์ของเลือด) และเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ เช่นดูว่า โรคประจำตัวนั้นๆควบคุมได้ดีหรือไม่ เช่น การตรวจเลือดดู ค่าน้ำตาลในเลือด, ค่าการทำงานของ ตับ, ไต
    • และ/หรือการตรวจรอยโรค/อวัยวะที่เกิดติดเชื้อด้วย เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน, และ/หรือเอมอาร์ไอ ดูภาพรอยโรคเพื่อดูการลุกลามของเชื้อว่าลุกลามรุนแรงกินลึกถึงเนื้อเยื่อชั้นไหนบ้าง และเพื่อประเมินว่า จำเป็นต้องมีการผ่าตัดระบายหนอง หรือผ่าตัดอวัยวะที่ติดเชื้อ หรือไม่

รักษาโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน จะขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

ก. กรณีมีแผลขนาดเล็ก เล็กว่า 1-1.5 เซ็นติเมตร(ซม.), ไม่มีอาการของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, แผลอยู่ใน Class1, การรักษาคือ การพบแพทย์เพื่อการใช้ยาปฏิชีวนะที่มักเป็นชนิดกิน และการดูแลแผลด้วยตนเองตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ ทั่วไปได้แก่

  • กินยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • ทำแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อวันละ 2-3 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง
  • ไม่บีบเค้นแผล เช่น สิว เพื่อเอาหนอง/สารคัดหลั่งออก
  • ไม่เจาะหนองออกเอง เช่น ใช้เข็ม เพราะเข็มอาจสะอาดไม่พอ จึงเป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังส่วนลึกโดยตรง และ
  • ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อ อาการเลวลง เช่น
    • มีไข้ หรือ ไข้สูงขึ้น
    • แผล บวม ปวด มากขึ้น
    • มีหนอง/สารคัดหลั่งมากขึ้น กลิ่นเหม็นขึ้น
    • แผลขยายใหญ่ขึ้น
    • มีต่อมน้ำเหลืองใกล้แผลโต คลำได้ เจ็บ

ข. กรณีแผลใหญ่ มีอาการมาก คือ Class2-4: การรักษาทั่วไป เช่น

  • เป็นการรักษาในโรงพยาบาลด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะแบบฉีดและเป็นยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้กับโรคซับซ้อนที่มีผลข้างเคียงรวมถึงค่าใช้จ่ายสูง
  • อาจต้องมีการเจาะแผลระบายหนอง
  • และ/หรือการผ่าตัดเอาเนื้อตายออก(Debridement)
  • และร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น
    • ยาแก้ปวด
    • ยาลดไข้
    • ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำกรณี กินได้น้อย, มีภาวะขาดน้ำ, หรือมี เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ เป็นต้น
  • และถ้าอาการกลับเลวลง แผลลุกลามมากขึ้น การติดเชื้อควบคุมไม่ได้ด้วยยาปฏิชีวนะที่ให้ทางหลอดเลือดดำ การรักษาอาจเป็นการผ่าตัดอวัยวะออก เช่น การตัดเท้ากรณีมีแผลที่เท้า

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน ทั่วไป เช่น

ก. กรณีเป็นแผล Class1: การดูแลตนเอง คือ การดูแลแผลตามที่กล่าวใน’หัวข้อการรักษาฯ’ และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลถ้าแผลเกิดหนอง หรือแผลมีลักษณะเลวลง(เช่น แผลขยายใหญ่ขึ้น สีแผลคล้ำลง มีกลิ่นเหม็น และ/หรือมีไข้ร่วมด้วย) หลังจากนั้นปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ

ข. กรณีเป็นแผลClass2-4: การดูแลตนเองคือรีบด่วนพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ส่วนการดูแลตนเองที่บ้านหลังแพทย์อนุญาติให้กลับมาดูแลตนเองต่อที่บ้าน เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ โดยเฉพาะในการดูแลรักษาความสะอาดแผล
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเองโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะถึงแม้แผล/อาการจะดีขึ้นแล้ว
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ตามควรกับสุขภาพ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อเป็นโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน ไม่ว่าโรคจะอยู่ในระดับClassใด ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • แผลและอาการต่างๆไม่ดีขึ้น หรือเลวลง เช่น หนองมากขึ้น แผลใหญ่ขึ้น ปวดแผลมากขึ้น แผลเหม็นมากขึ้น มีไข้
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสีย หรือท้องผูก ต่อเนื่อง เวียนศีรษะมาก เบื่ออาหารมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน เช่น

  • การติดเชื้อรุนแรงเฉพาะอวัยวะที่ติดเชื้อจนอาจต้องรักษาด้วยการตัดอวัยวะนั้นออก และ/หรือ
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ที่อาจเป็นเหตุให้ตายได้

โรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน ได้แก่

ก. กรณีโรครุนแรงน้อย คือเป็นโรคในClass1: การพยากรณ์โรคดี รักษาได้หาย

ข. กรณีโรครุนแรงปานกลาง คือ เป็นโรคในClass2-3: การพยากรณ์โรคดีปานกลาง มีโอกาสรักษาหาย แต่การรักษายุ่งยากซับซ้อน และมีโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจนอาจตายได้

ค. กรณีโรครุนแรงมาก คือเป็นโรคใน Class4: การพยากรณ์โรคไม่ดี มีโอกาสต้องรับการรักษาด้วยการตัดอวัยวะสูง และมีโอกาสตายสูงจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ป้องกันโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนได้อย่างไร?

ทั่วไป สามารถป้องกันโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนได้ดังนี้ เช่น

  • รักษาความสะอาดของมือเสมอ ด้วยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อยๆ
  • รักษาความสะอาดเท้าเสมอ โดยเฉพาะหลังย่ำน้ำสกปรก
  • รักษาความสะอาดของผิวหนังทั่วร่างกาย เช่น อาบน้ำก่อนการเข้านอนเสมอ รวมถึงหลังการเล่นกีฬา หรือทำงานที่ทำให้ ผิวหนัง เสื้อผ้า สกปรก
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผล โดยเฉพาะแผลที่เท้า และโดยเฉพาะในผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน
  • ไม่ใช้เครื่องนุ่งห่ม ของใช้ส่วนตัว ร่วมกับผู้อื่น
  • รักษาความสะอาดของใช้ เครื่องนุ่งห่มเสมอ
  • ระมัดระวังไม่สัมผัส แผล ผื่นคัน ของผู้อื่น
  • ระมัดระวังการเกิดบาดแผลกับผิวหนัง เช่น การใช้ของมีคม การระวังสัตว์กัด/ต่อย
  • รักษาความสะอาดเล็บ และถ้ามีแผล/ผื่นคันควรตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันแผลติดเชื้อจากการเกา
  • เมื่อมีบาดแผลที่ผิวหนัง ต้องรักษาความสะอาด ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ และปิดแผลไม่ให้สัมผัสสิ่งสกปรก จนกว่าแผลจะหายดี
  • เมื่อมีแผล และแผลไม่ดีขึ้นในประมาณ 5-7วันหลังดูแลตนเอง หรือแผลแย่ลง หรือมีอาการอื่นๆร่วมด้วยโดยเฉพาะมีไข้ ควรรีบด่วนพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

บรรณานุกรม

  1. Cardona,A. and Wilson,S. Antimicrobials for Skin Structure Infections.CDI 2015;61(suppl2):s69-s78
  2. Dry,M. J Antimicrob. 2010;65(suppl3): 35-44
  3. Ki,W. and Rotstein,R. Can J Infect Dis Med Microbiol.2008; 19(2):173-184
  4. Ramakrishnan, K. et al. Am Fam Physician. 2015;92(6):474-483
  5. https://emedicine.medscape.com/article/1830144-overview#showall[2019,Nov16]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Skin_and_skin_structure_infection [2019,Nov16]