โรคติดเชื้อจุลชีพแฝง (Stealth infection)

บทความที่เกี่ยวข้อง
โรคติดเชื้อจุลชีพแฝง

Stealth(สทีลธ) หมายถึง ลับ แฝง อำพราง ปกปิด ซ่อนเล้น ไม่เปิดเผย ส่วน คำว่า Microbe คือ จุลชีพ, และ Pathogen คือ เชื้อโรค

Stealth microbe หรือ Stealth pathogen คำเรียกนี้ ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์เฉพาะในภาษาไทย ผู้เขียนจึงขอเรียกเองว่า “จุลชีพแฝง” ซึ่งทางการแพทย์หมายถึงเชื้อจุลชีพ/เชื้อโรคทุกชนิดที่ไม่ใช่เชื้อประจำถิ่น แต่เป็นจุลชีพก่อโรค ชนิดไม่รุนแรง ไม่ทำให้ติดโรคเฉียบพลัน และเชื้อนี้หลุดรอดการตรวจจับของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค(ภูมิคุ้มกันฯ)ของร่างกาย เข้าไปหลบอาศัยในร่างกายได้เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน แล้วค่อยๆทำให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันฯ ที่ส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรังต่างๆ ซึ่งทั่วไป มักส่งผลต่อ ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก และระบบประสาท โดยเรียกการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อจุลชีพแฝงนี้ว่า “Stealth infection ที่ผู้เขียนเองขอแปลเป็นไทยว่า โรคติดเชื้อจุลชีพแฝง”

สาเหตุ: ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน แน่นอน ในการยืนยันถึงโรคนี้ ที่รวมถึง เชื้อโรค/จุลชีพแฝงที่เป็นต้นเหตุ กลไกการเกิดโรค วิธีวินิจฉัย ตลอดจนการรักษา แต่การศึกษาทางการแพทย์ที่เป็นการศึกษาขนาดเล็ก มีเพิ่มอย่างต่อเนื่องตลอด เวลา ถึงการยืนยันตัวตนของโรคนี้ ซึ่งโรคที่แพทย์เชื่อว่า เป็นโรคในกลุ่มโรคติดเชื้อจุลชีพแฝง เช่น กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน(Fibromyalgia), โรคข้อรูมาตอยด์, โรคออโตอิมมูน, กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง(CFS), และที่กำลังอยู่ในการศึกษา เช่น โรคพาร์กินสัน , โรคอัลไซเมอร์ , โรคออทิสติก

อนึ่ง เชื้อโรคที่พบอาจก่ออาการโรคนี้ ได้แก่ แบคทีเรีย (เช่น Mycoplama, Helicobacter pylori), เชื้อไวรัส(เช่น EBV, CMV) นอกจากนี้ อาจเป็นจาก สัตว์เซลล์เดียว เชื้อรา หรือ พยาธิต่างๆ ก็ได้

อาการ: อาการของโรคติดเชื้อจุลชีพแฝง ที่พบบ่อย จะเป็นกลุ่มอาการเรื้อรังที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกมีไข้ทุกวัน มักเป็นไข้ต่ำๆ รู้สึกไม่สบายตลอดเวลา นอนไม่หลับ ไม่แจ่มใส เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดข้อ น้ำหนักตัวลด ซึมเศร้า ความจำลดลง หลงลืม ขาดสมาธิ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน

การวินิจฉัย: ทำได้ยากมาก ต้องเป็นการตรวจด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อค้นหาการติดเชื้อจุลชีพแฝงนี้ ที่วิธีตรวจมีจำกัดเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมถึงต้องมีการตรวจหลายรายการเป็นชุดใหญ่ จึงมีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่สูงมาก เช่น การตรวจเลือดทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่เรียกว่า Serology tests, การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR (Polymerase chain reaction), การตรวจเลือดดูการทำงานของอวัยวะในระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต เป็นต้น

วิธีรักษา: การรักษาโรคนี้จะเป็นกรณีๆไปตาม อาการและความรุนแรงของอาการ ซึ่งต้องเป็นการรักษาร่วมกันหลายวิธีการ เช่น การใช้ยาตามอาการ (เช่น ยาแก้ปวด ยานอนหลับ), การพักผ่อน, การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ, การปรับพฤติกรรมการบริโภค ต้องเป็นอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังชนิดไม่ใช่โรคติดต่อ(โรคเอ็นซีดี) อาจต้องมีวิตามิน เกลือแร่ เสริมอาหาร, จำกัดตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ คือ ความเครียด การอดนอน การพักผ่อนไม่เพียงพอ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาเฟอีน, การดูแลจากจิตแพทย์, และยังรวมไปถึงใช้การแพทย์สนับสนุน เช่น การฝึกสมาธิ การฝึกเพื่อการผ่อนคลาย การฝึกโยคะ, การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) และบางครั้งเมื่อมีการตรวจพบเชื้อโรคที่แพทย์เชื่อว่าเป็นสาเหตุชัดเจน แพทย์อาจให้ยาฆ่าเชื้อนั้นๆร่วมด้วย เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะกรณีพบเชื้อสาเหตุเป็นแบคทีเรีย เป็นต้น

การพยากรณ์โรค: โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง และการพยากรณ์โรคจะเป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย โดยขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น

  • อาการผู้ป่วยว่ารุนแรงมากหรือน้อย
  • เกิดอาการมานานเท่าไรแล้ว
  • เกิดอาการกับอวัยวะใดบ้าง
  • อายุ, เพศ
  • โรคประจำตัวอื่นๆ
  • การร่วมมือในการดูแลตนเองของผู้ป่วย และ
  • การตอบสนองของอาการต่อการรักษา

บรรณานุกรม

  1. http://sheenahendonhealth.co.nz/stealth-infections-cause-ill-health-chronic-fatigue-weight-gain/ [2018,Sep1]
  2. https://rawlsmd.com/health-articles/what-is-a-stealth-microbe [2018,Sep1]
  3. https://rawlsmd.com/health-articles/uncovering-misconceptions-about-invisible-illness [2018,Sep1]