โรคติดเชื้อคลอสตริเดียม (Clostridial infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียม (Clostridial infection)คือ โรคที่เกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชนิด/สปีชีส์(Species ย่อว่า Spp)ที่ชื่อ Clostridium (คลอสตริเดียม หรือออกเสียงอีกแบบว่า คลอสทริเดียม)ที่ย่อว่า C. ซึ่งเป็นเชื้ออยู่ในวงศ์ Clostridiaceae โดยอาการของโรคนี้จะขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อที่อวัยวะใด เช่น ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร อาการหลักคือ ท้องเสีย อาจร่วมกับมีไข้, ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนัง ผิวหนังจะเกิดแผลเน่า มีหนอง เจ็บปวดแผลมาก มักร่วมกับมีไข้(อ่านรายละเอียดใน ‘หัวข้อ อาการฯ’)

โรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียม พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ เป็นโรคพบเรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยมาก พบทุกเพศ และทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิด(นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึงผู้สูงอายุ

โรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียม ไม่ใช่โรคติดต่อโดยตรงจากคนสู่คน และไม่เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่เกิดจาก

  • คนบริโภคเชื้อนี้ที่ปนเปื้อนใน อาหาร
  • หรือจากผิวหนังที่มีบาดแผล/ที่บาดเจ็บ สัมผัสเชื้อนี้โดยตรงจากสิ่งสกปรกทั้งหลาย เช่น เนื้อเยื่อที่เน่าเปื่อยของพืชและสัตว์ ดิน โคลน แหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำขัง น้ำทะเล อุจจาระคนและสัตว์ สารคัดหลั่งของคนและสัตว์ที่ติดเชื้อนี้หรือที่เป็นรังโรคของเชื้อนี้
  • นอกจากนั้น แบคทีเรียชนิดนี้ ยังเป็นแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้และในช่องคลอดของคนด้วย ซึ่งถ้าคนๆนั้นใช้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง เชื้อคลอสตริเดียมที่อยู่ในรูปของสปอร์ (Spore)จะเจริญแพร่พันธ์ได้ดีในภาวะนี้ จนสามารถก่อโรคให้กับคนผู้นั้นได้ เช่น
    • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis) กรณีเป็นเชื้อที่อยู่ในลำไส้ใหญ่
    • และโรค/กลุ่มอาการทอกสิกช็อก (Toxic shock syndrome) กรณีเป็นเชื้อที่อยู่ในช่องคลอด

แบคทีเรียคลอสตริเดียม

โรคติดเชื้อคลอสตริเดียม

โฮสต์ และรังโรค:

คลอสตริเดียม เป็นแบคทีเรียที่สร้างสารชีวพิษ (Toxin) มีคนและสัตว์มีกระดูกสันหลังเป็นโฮสต์(Host)และเป็นรังโรค โดยเชื้อฯอาศัยอยู่ในลำไส้ นอกจากนั้น เชื้อฯยังมีชีวิตอยู่ได้ดีในดินและในธรรมชาติที่เน่าเปื่อย, ในอุจจาระของคนและสัตว์ที่มีเชื้อนี้ในลำไส้

คลอสตริเดียม ส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียชนิดแกรมบวก ส่วนน้อยเป็นแกรมลบ เป็นแบคทีเรียที่ดำรงชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจน และเมื่ออยู่ในภาวะแห้งแล้ง/ภาวะที่สิ่งแวดล้อมไม่อำนวย หรืออยู่นอกโฮสต์ เชื้อฯที่อยู่ในสภาพเซลล์ทั่วไป(Vegetative form หรือ Vegetative cell) จะสามารถสร้างสปอร์ (Spore)ที่ช่วยให้มันมีชีวิตอยู่ได้ยาวนานเป็นเดือนหรือหลายเดือน

การฆ่าเชื้อ:

คลอสตริเดียม เมื่ออยู่ในสภาพเซลล์ทั่วไป จะสามารถถูกฆ่าด้วยอุณหภูมิ 55-65องศาเซลเซียส(Celsius)เช่นเดียวกับแบคทีเรียทั่วไป แต่ถ้าอยู่ในรูปสปอร์ มันจะทนทานทั้งต่อสารฆ่าเชื้อชนิดต่าง และต่อความร้อน โดยจะถูกฆ่าด้วยความร้อนสูงมากกว่า 116 องศาเซลเซียสที่ต้องได้รับความร้อนอยู่นานอย่างน้อย 3 ชั่วโมง หรือด้วยการอบไอน้ำอุณหภูมิสูงมากกว่า 100องศาเซลเซียสนานเกิน30นาที ส่วนน้ำยาฆ่าเชื้อที่จะฆ่าเชื้อนี้ที่อยู่ในรูปสปอร์ได้ เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อความเข็มข้นสูง 8% Formaldehyde, หรือ 20 ppm(Parts per million, หน่วยความเข็มข้นของสารละลายทางเคมี) Sodium hypochlorite

โรคติดเชื้อคลอสตริเดียมมีสาเหตุจากอะไร? ติดโรคได้อย่างไร?

เชื้อคลอสตริเดียม มีประมาณ 200 ชนิด แต่ที่ก่อโรคได้ในคนมีเพียงไม่กี่ชนิด ทั้งนี้โรคที่เกิดจากคลอสตริเดียมเป็นโรคพบไม่บ่อย แต่มักเป็นโรค/เป็นการติดเชื้อที่รุนแรง และยังสามารถเกิดจากติดเชื้อคลอสตริเดียมเพียงชนิดเดียว หรือเกิดร่วมกับติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆร่วมกันได้หลากหลายชนิด(เช่น Straphylococcus)ที่ล้วนแต่เป็นการติดเชื้อที่รุนแรง และเป็นเหตุให้ถึงตายได้

โรคติดเชื้อคลอสตริเดียม ไม่ใช่โรคติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง และไม่เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่เกิดจากคนได้รับเชื้อจาก

  • การบริโภค: โดยเชื้อปนเปื้อนใน อาหาร น้ำดื่ม เครื่องดื่ม อาจจากอุจจาระ หรือเชื้อในดิน เชื้อในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สะอาด เศษอาหาร กองไม้พุพัง แหล่งน้ำธรรมชาติ อาหารปรุงดิบหรือสุกๆดิบๆโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ อาหารแปรรูปต่างๆ (เช่น อาหารหมักดองทั้งจากพืชและสัตว์ เช่น ไส้กรอก) อาหารค้างถึงแม้จะแช่ในตู้เย็นก็ตาม
  • จากเชื้อสัมผัสผิวหนังที่เป็นแผลหรือผิวหนังที่บาดเจ็บ เช่น จากการแกะ เกา ถูกน้ำสกปรก ถูกวัสดุสกปรกทิ่มตำ แผลบาดจากมีดที่สกปรก แผลถูกคน/สัตว์ กัด ข่วน
  • จากการเจริญเกินปกติของเชื้อนี้ที่เป็นแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ใหญ่ เช่น ในคนที่กินยาปฏิชีวนะต่อเนื่องยาวนานจึงส่งผลให้เชื้อคลอสตริเดียมในรูปของสปอร์เจริญเกินปกติจนก่อโรคได้ คือ มีอาการท้องเสียรุนแรง ร่วมกับมีลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • จากเชื้อนี้ที่เป็นแบคทีเรียประจำถิ่นในช่องคลอดสตรีเจริญเกินปกติ เช่น กรณีกลุ่มอาการทอกสิกช็อกที่เกิดจากการติดเชื้อจากการใช้ผ้าอนามัยชนิดสอดผิดวิธี

อนึ่ง: โรคต่างๆในคนที่เกิดจากการติดเชื้อคลอสตริเดียม เช่น

  • โรค/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด(Clodtridium bateremia): เชื้อชนิดย่อยที่ทำให้เกิด เช่น C. septicum, C. ramosum, C. clostridioforme, C. tertium โรคในกลุ่มนี้เกิดได้จากการติดเชื้อผ่านทางผิวหนังที่มีแผลและ/หรือที่บาดเจ็บ เช่น โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ, หรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียนี้ที่เป็นแบคทีเรียประจำถิ่น เช่น กรณีของโรค/กล่มอาการทอกสิกช็อก
  • โรคแก๊สแกงกรีน(Gas gangrene หรือ Clostridium myonecrosis): เชื้อชนิดย่อยที่ทำให้เกิดโรคนี้มีหลายชนิด แต่ 80%จะเกิดจากชนิด C. perfringens, ส่วนชนิดอื่นๆที่พบเป็นสาเหตุบ้าง เช่น C. Septicum, C. novyi, C. histolyticum, C. sordellii เป็นต้น
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง/เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis): เชื้อชนิดย่อยที่พบเป็นสาเหตุบ่อย คือ C. perfringens
  • โรค/กลุ่มอาการทอกสิกช็อก: เชื้อชนิดย่อยที่ทำให้เกิดโรคนี้ที่พบบ่อย คือ C. sordellii
  • อาหารเป็นพิษ: เชื้อย่อยที่ทำให้เกิดโรคนี้บ่อย คือ C. botulinum, C. perfringens
  • ท้องเสีย และ/หรือ ลำไส้ใหญ่อักเสบ จากบริโภคยาปฏิชีวนะยาวนาน: เชื้อย่อยที่พบเป็นสาเหตุบ่อยที่สุด คือ C. difficile
  • โรคบาดทะยัก: ที่เกิดจากเชื้อ C. tetanus ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวที่มีวัคซีนป้องกัน การติดเชื้อนี้ได้คือ วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ที่บ้านเราเป็นสวัสดิการของรัฐในทุกระบบสุขภาพของรัฐ

โรคติดเชื้อคลอสตริเดียมมีอาการอย่างไร?

อาการจากโรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียม เกิดได้ทั้งจากตัวแบคทีเรียเอง และจากสารชีวพิษที่แบคทีเรียชนิดนั้นๆสร้างขึ้นมา ทั่วไปอาการที่พบ ได้แก่ อาการทั่วไป, และร่วมกับอาการของอวัยวะที่ติดเชื้อ

ก. อาการทั่วไป: จะเหมือนกันในผู้ป่วยทุกราย เป็นอาการเหมือนการติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆทุกชนิด เช่น

  • มีไข้ ที่มักเป็นไข้สูง
  • อาจรู้สึกหนาวสั่น
  • ปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดกล้ามเนื้อ อาจมีปวดข้อร่วมด้วย
  • อ่อนเพลี่ย
  • เบื้ออาหาร

ข. อาการจากการติดเชื้อที่จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับว่าเป็นการติดเชื้อชนิดใดและกับอวัยวะใด เช่น

  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด: เป็นการติดเชื้อที่รุนแรงที่สุด เป็นเหตุให้ถึงตายสูง เกิดได้จากเชื้อคลอสตริเดียมหลายชนิดดังได้กล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุฯ’ อาการหลัก คือ ไข้สูงมาก หนาวสั่น ปวดเมื่อยเนื้อตัว ซึม สับสน อ่อนเพลียมาก และโคม่าในที่สุด ทั้งนี้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆของโรคนี้ เช่น อาการ การรักษา และการพยากรณ์โรคได้จากเว็บ haamor.com บทความรื่อง ‘ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด’
  • โรคแก๊สแกงกรีน: อาการหลักคือ แผลที่มีอยู่จะลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื้อเยื่อแผล และรอบๆแผลจะตายเน่า และแผลลุกลามไปเรื่อยๆ รวมกับมีน้ำเหลืองและ/หรือมีหนอง และแผล/เนื้อที่ตายเน่าจะมีเสียงกรอบแกรบเพราะเชื้อคลอสตริเดียมชนิดย่อยที่เป็นสาเหตุเป็นชนิดสร้างแก๊สได้
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง/เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ: อาการหลักคือ อวัยวะที่เกิดแผลหรือบางครั้งเห็นแผลไม่ชัดเจน(แต่ผู้ป่วยจะมีประวัติได้รับบาดเจ็บในบริเวณนั้นๆมาก่อน พบเกิดบ่อยที่ แขน ขา)จะบวม แดง ร้อน ปวด/เจ็บมาก ซึ่ง คือการอักเสบรุนแรงของผิวหนังร่วมกับเนื้อเยื้อรอบๆและใต้ผิวหนัง ร่วมกับมีไข้ มักเป็นไข้สูง แผล/ผิวหนังที่ติดเชื้อมักลุกลามรวดเร็ว (แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดต่างๆของโรคนี้ เช่นอาการ การรักษา และการพยากรณ์โรคได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง’เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ’)
  • โรค/กลุ่มอาการทอกสิกช็อก: อาการหลัก คือ ไข้สูงมาก กระสับกระส่าย ปวดหัวมาก ผื่นขึ้นตามตัว มีจุดเลือดออก/ห้อเลือดตามตัว ผิวหนังที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหลุดลอก หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย และเกิดภาวะช็อกตามมา นอกจากนั้น ถ้าอวัยวะที่ติดเชื้อเป็นช่องคลอดหรือมดลูก ก็จะมีตกขาวที่มีกลิ่นเหม็น อาจเป็นหนอง และอาจมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดร่วมด้วย (แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรคนี้ เช่น อาการ การรักษา การพยากรณ์โรคได้จากเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ‘กลุ่มอาการทอกสิกช็อก’)
  • อาหารเป็นพิษ : อาการหลัก คือ ท้องเสียเป็นน้ำเฉียบพลัน ร่วมกับมีไข้ มักเป็นไข้สูง ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้-อาเจียน อาการมักเกิดหลังกินอาหารแช่เย็น อาหารค้าง อาหารบูด เนื้อสัตว์ปรุงสุกๆดิบๆ อาหารหมักดอง อาหารที่ไม่สด ไม่สะอาด มักมีอาการร่วมกันกับคนอื่นๆที่บริโภคอาหารชนิดเดียวกัน นอกจากนั้น ถ้าเกิดจากเชื้อชนิดย่อยที่สร้างสารชีวพิษได้และเป็นสารชีวพิษต่อระบบประสาท (Botulinum toxin) จะมีอาการชาตามร่างกายร่วมกับกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคที่เกิดจากสารชีวพิษร่วมด้วย เรียกว่า ‘โรคโบทูลิซึม’ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรคนี้ได้ เช่น อาการ การรักษา และการพยากรณ์โรค ในเว็บ haamor.com)
  • ท้องเสียและลำไส้ใหญ่อักเสบ : จากบริโภคยาปฏิชีวนะยาวนาน เชื้อ่อยที่พบเป็นสาเหตุบ่อยที่สุด คือ C. difficile จะพบในผู้ป่วยที่รับประทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่องนานๆ โดยอาการหลักได้แก่ ท้องเสีย อุจจาระเป็นเลือด ร่วมกับมีไข้ อาจหนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรคนี้ได้ที่รวมถึง อาการ การรักษา และการพยากรณ์โรค ในบทความเรื่อง ‘ลำไส้ใหญ่อักเสบ /Colitis ’ ในเว็บ haamor.com)
  • โรคบาดทะยัก: ผู้ป่วยมักมีประวัติ มีแผลสกปรก เช่น แผลที่สะดือในทารกแรกเกิด แผลถูกต่ำ แผลบาดจากของสกปรก อาการหลักที่พบ นอกจากแผลสกปรกแล้วคือ ผู้ป่วยอาจไม่มีไข้สูง หรือมีไข้ต่ำๆ มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อได้ทั่วตัวที่เกิดเป็นระยะๆ ทั้งกล้ามเนื้อใบหน้า กล้ามเนื้อหลัง แขนขา (แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของอาการ การรักษา และการพยากรณ์โรคได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘โรคบาดทะยัก’)

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อคลอสตริเดียมอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียม ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการบริโภค อาหาร น้ำดื่ม เครื่องดื่ม ประวัติอุบัติเหตุ/การเกิดบาดแผล
  • การตรวจร่างกาย การตรวจดูลักษณะบาดแผล
  • การตรวจวัดสัญญาณชีพ
  • การตรวจภายใน กรณีมีตกขาว(ในผู้ป่วยสตรี)
  • การตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมที่จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือด ดูการติดเชื้อ (ตรวจซีบีซี/CBC)
    • การตรวจเกลือแร่ในเลือด
    • การตรวจปัสสาวะ
    • การตรวจอุจจาระกรณีมีท้องเสีย
    • การตรวจเชื้อที่มักรวมถึงการเพาะเชื้อ จากแผล/หนอง ปัสสาวะ อุจจาระ และ/หรือจากเลือด
    • อาจมีการเจาะหลัง/การเจาะน้ำไขสันหลัง กรณีมีอาการทางระบบประสาท
    • ตรวจภาพอวัยวะที่ติดเชื้อ อาจด้วย เอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ

รักษาโรคติดเชื้อคลอสตริเดียมอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียม หลักคือ การใช้ยาปฏิชีวนะ, และการรักษาตามอาการ (การรักษาประคับประคองตามอาการ)

อนึ่ง ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษา/ยาต้านสารชีวพิษ การรักษาอาการจากสารชีวพิษ จึงเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งในโรคบาดทะยักด้วยการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ และการใช้เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น

ก. การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ: ยาปฏิชีวนะที่ใช้ฆ่าเชื้อคลอสตริเดียมมีหลายชนิด ที่เป็นทั้งยารับประทานและยาฉีด ซึ่งการจะเลือกใช้ยาชนิดใดและอย่างไร ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ ตามชนิดของเชื้อย่อย และความรุนแรงของอาการ ยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่นยา Penicillin G, Sulfonamide, Tetracycline, Carbapenem, Metronidazole, Vancomycin, Clindamycin, Chloramphenicol

ข. การรักษาตามอาการ: ได้แก่ การรักษาตามอาการผู้ป่วยแต่ละรายที่ต่างๆกัน เช่น

  • การให้สารเกลือแร่(Electrolyte)ทางหลอดเลือดดำกรณีท้องเสียรุนแรง
  • การใช้ยาลดไข้ กรณีมีไข้
  • การใช้ยาแก้ปวด กรณีมีอาการปวด เช่น ปวดแผล ปวดท้อง เป็นต้น
  • และการให้ออกซิเจนกรณีมีปัญหาด้านการหายใจ เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองในโรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียมเมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับมาดูแลตนเองต่อที่บ้าน ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ในกรณีที่โรคเกิดจากการมีบาดแผล ต้องเรียนรู้การดูแลรักษา การทำแผล จากแพทย์ พยาบาล ให้เข้าใจ จนสามารถปฏิบัติเองได้ที่บ้าน
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ โดยเฉพาะเพื่อรับการฉีดวัคซีนที่แพทย์แนะนำ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ในการดูแลตนเองที่บ้านในโรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียม ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง หรือ กลับมามีอาการที่รักษาหายไปแล้ว เช่น กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงมากขึ้น
  • มีอาการผิดปกติที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ชัก
  • มีผลข้างเคียงต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก นอนไม่หลับทุกคืน ท้องผูกมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

โรคติดเชื้อคลอสตริเดียมส่งผลข้างเคียงไหม? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียม ขึ้นกับชนิดของเชื้อย่อยและของสารชีวพิษที่เชื้อสร้าง เช่น

  • เกิดอัมพาต กรณีของโรคโบทูลิซึม
  • เกิดการกระตุกเกร็งของกล้ามเนื้อทุกมัดในโรคบาดทะยัก
  • และการเกิดลำไส้ใหญ่อักเสบกรณีเกิดการติดเชื้อคลอสตริเดียมเหตุจากบริโภคยาปฏิชีวนะต่างๆต่อเนื่องนานๆ

ส่วนการพยากรณ์โรคของโรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียม ทั่วไปจะเป็นการติดเชื้อที่รุนแรงที่อาจส่งผลให้ถึงตายได้

ป้องกันโรคติดเชื้อคลอสตริเดียมอย่างไร? มีวัคซีนไหม?

การป้องกันโรคติดเชื้อคลอสตริเดียม/โรคติดเชื้อคลอสทริเดียม ได้แก่

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • กินอาหารที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึงเสมอ และที่ปรุงสุกสดๆ ไม่กินอาหารค้าง อาหารแปรรูป อาหารหมักดองที่ไม่แน่ใจในความสะอาด
  • กินยาปฏิชีวนะเฉพาะแพทย์สั่ง ไม่ซื้อยาฯกินเอง
  • ฉีดวัคซีนวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเสมอ
  • เมื่อมีแผลสกปรก แผลลึก ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ เช่น แผลถูกคน/สัตว์กัด, แผลตะปูตำ, แผลสกปรก
  • หลังสัมผัส แหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำไม่สะอาด ดิน ปฏิกูล หรือสิ่งสกปรก พุพังทั้งหลาย ต้องรีบ ล้างมือ ล้างเท้า อาบน้ำ ทำความสะอาดด้วยสบู่จนสะอาดเสมอ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Clostridium [2020,Nov7]
  2. http://www.antimicrobe.org/b90.asp [2020,Nov7]
  3. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/clostridium.html [2020,Nov7]