โรคติดเชื้อ Mycoplasma genitalium
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 16 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- Mycoplasma genitalium คืออะไร?
- การติดเชื้อ Mycoplasma genitalium เกิดได้อย่างไร?
- อาการจากติดเชื้อ Mycoplasma genitalium มีอะไรบ้าง?
- แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อ Mycoplasma genitaliumได้อย่างไร?
- การรักษาโรคติดเชื้อ Mycoplasma genitalium ทำได้อย่างไร?
- ควรดูแลตนเอง พบแพทย์ และป้องกันการติดเชื้อ Mycoplasma genitalium อย่างไร?
- ต้องรักษาคู่นอนด้วยหรือไม่?
- ผลกระทบระยะยาวจากโรคติดเชื้อ Mycoplasma genitalium คืออะไร?
- บรรณานุกรม
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
- ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
- หนองในเทียม (Chlamydia infection)
- ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)
Mycoplasma genitalium คืออะไร?
Mycoplasma genitalium เป็นเชื้อแบคทีเรียในตระกูล Myocoplasma เป็นเชื้อกลุ่มที่มีขนาดเล็กที่สุดที่สามารถอยู่ได้โดยอิสระ ซึ่งเชื้อ Mycoplasma ที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ มีหลายชนิด เช่น เชื้อ Mycoplasma pneumonia ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดอับเสบ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา) เชื้อ Mycoplasma genitalium ที่ทำให้เกิดการอักเสบของท่อปัสสาวะ(ท่อปัสสาวะอักเสบ) และของระบบสืบพันธุ์ได้ นอกจากนั้นยังมี Mycoplasma hominis ,และ Ureaplasma urealyticum ที่ทำให้เกิดการอักเสบในระบบสืบพันธุ์ได้เหมือนกัน
ปัจจุบันพบว่ามีการติดเชื้อ Mycoplasma genitalium ทั้งในชายและหญิงเพิ่มมากขึ้น อุบัติการณ์ในคนทั่วไปพบประมาณ 2 % และอุบัติการณ์จะสูงขึ้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีการอักเสบของท่อปัสสาวะ (ในชาย) และอุ้งเชิงกรานอักเสบ/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (ในหญิง)
การติดเชื้อ Mycoplasma genitalium เกิดได้อย่างไร?
การติดเชื้อ Mycoplasma genitalium เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดได้ทั้งในหญิง และชาย ซึ่งการติดเชื้อนี้สามารถเกิดได้จากการร่วมเพศที่ไม่ได้มีการป้องกัน (ไม่ใช้ถุงยางอนามัยชาย) ทำให้เชื้อเข้าไปเกาะกับเนื้อเยื่อบุผิวในท่อปัสสาวะของฝ่ายชาย หรือในช่องคลอดของฝ่ายหญิง นอกจากนั้นยังสามารถเกาะที่ตัวอสุจิได้ด้วย
หลังจากที่เชื้อ Mycoplasma genitalium เข้าไปในร่างกาย จะมีการสร้างสาร Hydrogen peroxide ออกมาทำลายเซลล์ ทำให้เกิดการอักเสบเกิดขึ้นในอวัยวะที่ติดเชื้อ ในผู้หญิง เชื้ออาจลามไปถึง ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูกได้ การติดเชื้อนี้สามารถทำให้เกิดการอักเสบที่คอหอย หรือในทวารหนักได้ หากมีการร่วมเพศทางปากหรือทางทวารหนัก
อุบัติการณ์การติดเชื้อ Mycoplasma genitalium ในคนทั่วไป คือ 2 % แต่ในกลุ่มชายที่มีอาการปัสสาวะผิดปกติ หรือในสตรีที่มีปัญหาอุ้งเชิงกรานอักเสบสามารถตรวจพบเชื้อนี้ได้ 12-16%
อาการจากติดเชื้อ Mycoplasma genitalium มีอะไรบ้าง?
โรคติดเชื้อ Mycoplasma genitalium นี้ จัดอยู่ในกลุ่มโรคหนองในเทียม คือเป็นการอักเสบของท่อปัสสาวะที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อหนองใน (Non-gonococcal urethritis)
สาเหตุของโรคหนองในเทียมเกิดจากการติดเชื้อ Chlamydia trachomatis มากที่สุด ส่วนการติดเชื้อ Mycoplasma genitalium เป็นสาเหตุรองๆลงมา
อาการจากติดเชื้อ Mycoplasma genitalium จะเกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อ 1-3 สัปดาห์ (ระยะฟักตัวของโรค) ในฝ่ายชายจะสังเกตพบได้เร็วกว่าฝ่ายหญิง
-อาการในผู้ชาย ที่พบได้บ่อย คือ
1. ไม่มีอาการ
2. มีปัสสาวะแสบขัด
3. มีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ
-อาการในผู้หญิง ที่พบได้บ่อย คือ
1. ไม่มีอาการ หรือ
2. มีตกขาวผิดปกติ อาจเป็นสีเหลือง สีเขียว หรือสีเทาๆ ลักษณะเป็นมูก
3. เจ็บ/ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
4. ปากมดลูกอักเสบ
5. หากมีการติดเชื้อรุนแรง สามารถทำให้เกิดการอักเสบในอุ้งเชิงกราน/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือทำให้เป็นหมันได้
แพทย์วินิจฉัยโรค Mycoplasma genitalium ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อ Mycoplasma genitalium ได้จากประวัติอาการ ประวัติเพศสัมพันธ์ ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน (ในผู้หญิง)
การตรวจหาเชื้อ Mycoplasma genitalium ทำได้ยาก เนื่องจากเชื้อนี้ไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์ จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นเชื้อได้จากการย้อมตรวขเชื้อด้วยเทคนิค Gram stain วิธีการตรวจวินิจฉัยจึงทำโดยการตรวจปัสสาวะ เพื่อ เซลล์เม็ดเลือดขาว เพื่อดูว่ามีการอักเสบหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจที่ไม่เฉพาะเจาะจง หรือการเอาหนองจากท่อปัสสาวะมาย้อม Gram stain เพื่อแยกจากการติดเชื้อชนิดอื่นๆ
ดังนั้น การวินิจฉัยโรคนี้ จึงได้จากการสอบถามประวัติอาการ ร่วมกับสอบถามประวัติการมีเพศสัมพันธ์ และการตรวจหนองย้อม Gram stain แล้วไม่พบเชื้อหนองใน (Gonococcal infection- Gram negative intracellular diplococci )
ส่วนวิธีการตรวจที่จะให้ผลแม่นยำขึ้น ต้องใช้วิธีตรวจสารคัดหลั่ง หรือหนองด้วยเทคนิคที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR,Polymerase chain reaction) ส่วนการเพาะเชื้อ ต้องใช้อาหารเลี้ยงเชื้อชนิดพิเศษ ซึ่งทำได้เฉพาะโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้น
การรักษาโรคติดเชื้อ Mycoplasma genitalium ทำได้อย่างไร?
ปัญหาของการรักษาโรค Mycoplasma genitalium คือ เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยาก ดังนั้น จะให้การรักษาโรคนี้ต่อเมื่อตรวจแยกโรคแล้วไม่พบเชื้อชนิดอื่นๆ จึงจะสรุปว่า น่าเกิดจากการติดเชื้อ Mycoplasma genitalium
อย่างไรก็ตาม ค่อนข้างโชคดีที่ยาที่ใช้รักษา จะเหมือนกับการรักษาการติดเชื้อหนองในเทียม (Chlamydia infection) หากสามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง สามารถรักษาหายด้วยยาได้หลายชนิด เช่น
1. Azithromycin 1 กรัม รับประทานครั้งเดียว เป็นยาที่ได้ผลดีมาก
2. Doxycycline 100 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน
3. Erythromycin 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 4 ครั้ง นาน 7 วัน
4. Olfloxacin 300 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 2 ครั้ง นาน 7 วัน
5. Levofloxacin 500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง นาน 7 วัน
อนึ่ง เชื้อ Mycoplasma genitalium สามารถกลายเป็นเชื้อดื้อยาได้ ในคนที่ชอบกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพื่อ และ/หรือ ชอบซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เนื่องจาก จะไม่ทราบว่า เป็นโรคที่มีสาเหตุเกิดจากเชื้ออะไร จึงมักใช้ยาชนิดที่ไม่ถูกต้องกับโรค รวมทั้งไม่รู้ขนาดของยา และไม่รู้ระยะเวลาที่ต้องกินยา เพราะคนทั่วไปมักหยุดยาเองเมื่ออาการต่างๆดีขึ้น ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง อย่างน้อยควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ
ควรดูแลตนเอง พบแพทย์ และป้องกันการติดเชื้อ Mycoplasma genitalium อย่างไร?
การดูแลตนเอง การพบแพทย์ และการป้องกันการติดเชื้อ Mycoplasma genitalium ที่สำคัญ คือ
1. ไม่สำส่อนทางเพศ
2. ใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
3. รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ
4. ออกกำลังกายเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง
5. งดการดื่มเหล้า เพราะจะทำให้ขาดสติ จึงมีโอกาสติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ได้สูงขึ้น
6. รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง
7. รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดหลังมีเพศสัมพันธ์
8. ควรตรวจเลือดเพื่อดูโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ชนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ซิฟิลิส และโรคเอดส์/การติดเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้เพราะโรคเหล่านี้มักพบร่วมกันได้เสมอ
ต้องรักษาคู่นอนด้วยหรือไม่?
หากมีการติดเชื้อ Mycoplasma genitalium รวมทั้งจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกโรค จำเป็นต้องรักษาคู่นอนด้วยเสมอ เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไปอย่างแท้จริง จากการที่เชื้อจะติดต่อกันไปมา และจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งของการมีเพศสัมพันธ์ ถึงแม้จะได้รักษาโรคจนหายแล้วทั้งคู่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกโรค สามารถย้อนกลับเป็นซ้ำอีกได้เสมอ
ผลกระทบระยะยาวจากโรคติดเชื้อ Mycoplasma genitalium คืออะไร?
การติดเชื้อ Mycoplasma genitalium นี้ สามารถเกิดเป็นซ้ำได้อีกเสมอจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อนี้
ในฝ่ายชายจะมีอาการเป็นๆหายๆได้ สำหรับในฝ่ายหญิงหากมีการติดเชื้อรุนแรง หรือไม่ได้รับการรักษาที่เพียงพอ จะทำให้เกิดการอักเสบลุกลามไปในอุ้งเชิงกราน ทำให้มีพังผืดเกิดขึ้นได้ และสามารถทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก หรืออาจเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก/ท้องนอกมดลูก หรือมีอาการปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานเรื้อรังตามมาในภายหลังได้
บรรณานุกรม
- Haggerty CL, Taylor BD. Mycoplasma genitalium: an emerging cause of pelvic inflammatory disease. Infectious Disease in Obstetrics and Gynecology . Volume 2011
- McGowin CL, Anderson-Smith C. Mycoplasma genitalium: an emerging cause of sexually transmitted disease in women. PloS Pathogen 2011;7:e1001324.
- Manhart LE, Holmes KK, Hughes JP, Houston LS, Totten PA. Mycoplasma genitalium among young adults in the United States: an emerging sexually transmitted infection. American Journal of Public Health 2007; 97 : 1118-25.
- Ross JDC, Jensen JS. Mycoplasma genitalium as a sexually transmitted infection implication for screening, testing and treatment. Sex Transm Infect 2006 ;82:269-72.
- Jensen JS. Mycoplasma genitalium: the etiological agent of urethritis and other sexually transmitted diseases .European Academy of Dermatology and Venereology 2004;18:1-11.
Updated 2017,Oct28