โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน (Lumbar spondylolisthesis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคปวดหลัง เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย พบบ่อยมากขึ้นในผู้สูงอายุ บางครั้งปวดเฉพาะที่เอว บางครั้งปวดร้าวไปขา 2 ข้าง หรือบางครั้งรุนแรงจนเดินไม่ได้ อาการดังกล่าวมีสาเหตุหลากหลาย เช่น โรคกระดูกสันหลังเสื่อม โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้น (ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง) และโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน หรือเลื่อนไถล (Lumbar spondylolisthesis) ซึ่งโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนนี้ คือ โรคอะไร เกิดจากอะไร และป้องกันได้หรือไม่ อ่านบทความนี้ดูครับ

 

โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนคืออะไร?

โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน

โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน คือโรคที่มีการเลื่อนตัวของปล้อง/ข้อกระดูกสันหลังระดับเอวไปด้านหน้าเหนือต่อปล้องกระดูกสันหลังชิ้นล่างที่อยู่ติดกัน โดยพบบ่อยที่กระดูกสันหลังเอว ปล้อง/ข้อ ที่ 4 และ 5 (L4, L5)

 

โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนมีสาเหตุจากอะไร?

โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน มีสาเหตุเกิดจาก

  • มีการเสื่อมของข้อต่อของกระดูกสันหลังส่วนที่เรียก ฟาเซ็ต (Facet joint) จึงทำให้เกิดการเคลื่อน/การเลื่อนไถลของปล้องกระดูก (เช่น ในผู้สูงอายุ)
  • อาจเกิดจากไม่มีการเชื่อมต่อระหว่างปล้องกระดูกสันหลังกับแผ่นกระดูกสันหลังด้าน หลัง (Pars interarticularis) ซึ่งเป็นความพิการแต่กำเนิด
  • อาจเกิดจากการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง ที่ต้องรับน้ำหนักในท่าก้มหลังแล้วเกิดมีแรงหมุนบิดขึ้น เช่น จากกีฬายกน้ำหนัก กีฬายิมแนสติก หรืออุบัติเหตุโดยตรงที่กระดูกสันหลัง
  • อาจจากการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง เช่น วัณโรคกระดูกสันหลัง หรือ
  • อาจจากโรคมะเร็งที่กระจายมายังกระดูกสันหลัง

 

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน?

ผู้มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ คือ

  • ผู้หญิง เพราะพบโรคนี้ในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชายเล็กน้อย
  • อายุ โดยมักพบโรคนี้ในวัยกลางคน จนถึงผู้สูงอายุ
  • คนอ้วน
  • ผู้ที่ทำงาน หรือเล่นกีฬา ก้มๆ เงยๆ เป็นประจำ
  • ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณหลัง

 

โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนมีอาการอย่างไร?

อาการจากมีกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน กรณีเป็นแต่กำเนิดในเด็ก จะพบอาการหลังค่อมระดับเอว

 

กรณีสาเหตุเกิดภายหลังจากสาเหตุอื่นๆดังกล่าว จะมีอาการปวดหลังช่วงล่าง อาการจะค่อยๆเป็นมากขึ้น มีอาการมากเวลาเดินหรือยืน ต่อมาปวดที่ก้น และต้นขา ถ้ามีการกดทับหรือเบียดเส้นประสาท ก็จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และ/หรือชา ที่ขาร่วมด้วย บางรายอาจพบ กระดูกสันหลังคดร่วมด้วย

 

เมื่อใดควรพบแพทย์?

กรณีมีอาการปวดหลังจนส่งกระทบต่อการเดิน หรือนั่งนานไม่ได้ ปวดขณะพัก มีอาการชาขา หรือกล้ามเนื้อขา/สะโพกอ่อนแรง เดินได้ระยะทางสั้นลงๆ ก็ควรต้องพบแพทย์เสมอ

 

แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนได้อย่างไร?

แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคกะดูกสันหลังเอวเคลื่อนได้จาก อาการผู้ป่วยร่วมกับการตรวจร่าง กาย โดยอาจพบจุดกดเจ็บที่หลังส่วนเอว กระดูกสันหลังเอวผิดรูปไปจากปกติ และเมื่อแพทย์สงสัยโรคนี้ ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์ธรรมดาบริเวณกระดูกสันหลังเอว ที่เมื่อพบการเลื่อนไถล/เคลื่อนของปล้องกระดูก ก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคนี้ได้

 

ทั้งนี้ในเบื้องต้นนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจกระดูกสันหลังด้วยเอกซเรย์คอมพิว เตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง หรือขาชามากขึ้น ก็ต้องตรวจเอมอาร์ไอ หรือคอมพิวเตอร์กระดูกสันหลัง เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค เพื่อการประ เมินที่แน่ชัดว่า มีการกดทับเส้นประสาทหรือไม่ จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่

 

รักษาโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนอย่างไร?

การรักษาโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนขึ้นกับความรุนแรงของโรค ซึ่งความรุนแรงโรคแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

 

ระดับ1. มีการเลื่อนตัวของกระดูกเพียง 25% ของความกว้างหน้าตัดกระดูกสันหลัง

ระดับ2. มีการเลื่อนตัวระหว่าง 25-50% ของความกว้างหน้าตัดกระดูกสันหลัง

ระดับ3. มีการเลื่อนตัวระหว่าง 50-75% ของความกว้างหน้าตัดกระดูกสันหลัง

ระดับ4. มีการเลื่อนตัวมากกว่า 75% ขึ้นไปของความกว้างหน้าตัดกระดูกสันหลัง

 

ทั้งนี้ การรักษาไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย การใช้กายอุปกรณ์พยุงหลัง ร่วมกับการปรับ เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้หลัง การงาน/อาชีพก็เพียงพอ แต่จะผ่าตัดต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการตั้งแต่อายุน้อยๆ หรือในผู้ป่วยมีอาการปวดหลังที่รุนแรง และ/หรือมีการกดทับเส้นประสาทจากการเคลื่อนของกระดูก

 

อนึ่ง การทานแคลเซียมเสริมอาหาร อาจได้ประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย หรือมีปัญหาโรคไตวาย ที่ทำให้กระดูกบาง แต่คนทั่วไปที่ไม่มีปัญหาดังกล่าว อาจไม่จำ เป็น ซึ่งแพทย์จะพิจารณาแนะนำผู้ป่วยเป็นรายๆไป

 

การพยากรณ์โรคของโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนเป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรค ของโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน ส่วนใหญ่ตอบสนองดีต่อการรักษา ยกเว้นสาเหตุของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่รุนแรงของกระดูกสันหลัง และก่อให้เกิดการเคลื่อนของกระดูกสันหลัง หรือเกิดจากโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมากระดูกสันหลัง

 

ทั้งนี้ ถ้ามีการเลื่อนไถล/เคลื่อนของปล้องกระดูกรุนแรง มีการกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลัง ก็มีโอกาสเป็นอัมพาต ขาอ่อนแรงทั้ง 2 ข้าง ปัสสาวะอุจจาระลำบากได้

 

ผู้ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีกระดูกสันหลังเอวเคลื่อน คือ

  • ควรลดน้ำหนัก
  • ปรับพฤติกรรม การก้มๆ เงยๆ การยกของหนัก การบิดตัว
  • ทำกายภาพบำบัดตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด และพยาบาลแนะนำสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ ตามแพทย์แนะนำ
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ และ
  • ถ้ามีอาการผิดปกติมากขึ้น อาการต่างๆเลวลง หรือกังวลในอาการ ก็ควรพบแพทย์ก่อนนัดได้

 

โรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนป้องกันได้อย่างไร?

สามารถป้องกันโรคกระดูกสันหลังเอวเคลื่อนได้ โดย

  • ใช้หลังให้ถูกวิธี
  • หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุบริเวณหลัง
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวันในปริมาณที่เหมาะสมกับการใช้งาน โดยไม่ให้เกิดโรคอ้วน เพื่อความแข็งแรงของกระดูก

 

สรุป

โรคปวดหลังส่วนใหญ่ เกิดจากพฤติกรรมการใช้หลังที่ทำร้ายตนเอง ดังนั้น เราควรหาทางป้องกันดีกว่า จากการใช้หลังอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะในการยกของหนัก