โยฮิมไบน์ (Yohimbine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 มีนาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โยฮิมไบน์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โยฮิมไบน์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โยฮิมไบน์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โยฮิมไบน์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โยฮิมไบน์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โยฮิมไบน์อย่างไร?
- โยฮิมไบน์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโยฮิมไบน์อย่างไร?
- โยฮิมไบน์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha-blockers)
- นกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคไต (Kidney disease)
- ผู้สูงอายุ (Older person)
บทนำ
ยาโยฮิมไบน์(Yohimbine หรือ Yohimbine hydrochloride หรือ Yohimbine HCl) เป็นสารประเภทอัลคาลอยด์(Alkaloid)ที่พบได้ในเปลือกพืชที่มีแหล่งกำเนิดแถบแอฟริกากลางชื่อว่า Pausinystalia yohimbe โยฮิมไบน์ถูกนำมาใช้เป็นยากระตุ้นให้สุนัขและกวางตื่นจากภาวะหลับหรือสลบจากฤทธิ์ของยา Xylazine(ยานอนหลับในสุนัข) แต่ในมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ได้นำโยฮิมไบน์มาบำบัดอาการนกเขาไม่ขัน(Erectile dysfunction)ในบุรุษ โดยวางจำหน่ายในลักษณะของยาสมุนไพรสกัดและถูกพัฒนาออกมาเป็นลักษณะของอาหารเสริม
สำหรับข้อห้ามใช้ของโยฮิมไบน์คือ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยด้วยโรคตับ และโรคไต และสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเมื่อได้รับโยฮิมไบน์คือ เกิดความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็ความดันโลหิตสูง มีอาการตึง/แน่นในท้อง และรู้สึกอ่อนเพลีย นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า โยฮิมไบน์มีฤทธิ์กระตุ้นสมองให้มีอาการตื่นตัวตลอด จนกระทั่งทำให้เกิดภาวะอัมพาตได้เช่นเดียวกัน
โยฮิมไบน์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโยฮิมไบน์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เพิ่มสมรรถนะทางเพศในบุรุษ
- ใช้เป็นยาเพิ่มการไหลเวียนของเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย
- ใช้เป็นยาขยายรูม่านตา
โยฮิมไบน์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโยฮิมไบน์เป็นยาประเภท Alpha-2 adrenergic blocker(Alpha blocker) ตัวยาจะมีกลไกการออกฤทธิ์กระตุ้นที่สมอง ทำให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาท ส่งผลให้สร้างสัญญาณกระแสประสาทมาที่เส้นเลือด/หลอดเลือดส่วนปลาย คือที่อวัยวะเพศ ทำให้หลอดเลือดนั้นๆเกิดการคลายตัว ส่งผลให้อวัยวะเพศของบุรุษแข็งตัว รวมถึงการคลายตัวของหลอดเลือดยังช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตได้ จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ
โยฮิมไบน์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโยฮิมไบน์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- อาหารเสริม ชนิดแคปซูลที่บรรจุ Yohimbine HCl ขนาด 2.5 และ 5 มิลลิกรัม/แคปซูล
- อาหารเสริม ชนิดเม็ดที่บรรจุ Yohimbine HCl ขนาด 2, 5.4, และ 6 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีดสำหรับ”สัตว์เลี้ยง” ขนาด 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
โยฮิมไบน์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโยฮิมไบน์ มีขนาดรับประทานสำหรับบำบัดภาวะนกเขาไม่ขัน โดยในบุรุษสูงวัยรับประทานยาขนาด 6 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโยฮิมไบน์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโยฮิมไบน์อาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโยฮิมไบน์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
โยฮิมไบน์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโยฮิมไบน์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการวิตกกังวล
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังมีสีออกแดง
มีข้อควรระวังการใช้โยฮิมไบน์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโยฮิมไบน์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาโยฮิมไบน์
- ห้ามใช้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุราด้วยจะทำให้ความดันโลหิตต่ำมากจนอาจเกิดอันตรายต่อชีวิต
- ห้ามใช้ยานี้เกินขนาดที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโยฮิมไบน์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โยฮิมไบน์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโยฮิมไบน์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาโยฮิมไบน์ร่วมกับย Amitriptyline , Desipramine, และDoxepin เพราะจะทำให้ระดับยาโยฮิมไบน์ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ เกิดอาการข้างเคียงจากยาโยฮิมไบน์สูงขึ้นตามมา เช่น วิงเวียน อารมณ์แปรปรวน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาโยฮิมไบน์ร่วมกับยา Selegiline ด้วยจะทำให้ระดับ ยา Selegiline ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ก่อนใช้ยาโยฮิมไบน์ต้องหยุดรับประทานยาSelegiline อย่างน้อย 14 วันขึ้นไป
- ห้ามใช้ยาโยฮิมไบน์ร่วมกับยา Lorcaserin เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิด อวัยวะเพศแข็งค้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความเจ็บปวดของอวัยวะเพศได้ยาวนาน
ควรเก็บรักษาโยฮิมไบน์อย่างไร?
ควรเก็บยาโยฮิมไบน์ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาใน ห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โยฮิมไบน์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโยฮิมไบน์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Yohimbine (โยฮิมไบน์) | Aventis |
Eredex (อีเรเดกซ์) | Herbal and Nutraceuticals Ltd. |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Aphrodyne, Yocon, Erex, Testomar, Yohimar, Yohimbe, Yohimex
บรรณานุกรม
- https://pdfs.semanticscholar.org/636e/b19982f54615dc0f6c6f8794588b6de8e222.pdf [2018,Feb24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Yohimbine [2018,Feb24]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB01392 [2018,Feb24]
- https://www.drugs.com/npc/yohimbe.html [2018,Feb24]
- https://www.google.co.th/search?q=yohimbine+image&tbm=isch&source=iu&ictx=1&fir=dIBAaRI70Bn3yM%253A%252C-zsDRWQtZ6D68M%252C_&usg=__E_9nbm_oRHSdYV_1L9IfHL4KcvE%3D&sa=X&ved=0ahUKEwixiZzutePYAhVLNo8KHT_TBOYQ9QEIODAI#imgrc=_1ZnJRgtfn__IM: [2018,Feb24]
- https://www.drugs.com/cons/yohimbine.html [2018,Feb24]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/yohimbine,yohimbe- index.html?filter=2&generic_only= [2018,Feb24]
- https://www.squarepharma.com.bd/downloads/Eredex.pdf [2018,Feb24]