โมดาฟินิล (Modafinil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโมดาฟินิล(Modafinil) เป็นยาที่นำมาใช้บำบัดภาวะง่วงเกินหรือที่เรียกกันว่า โรคลมหลับ ยานี้จะช่วยสนับสนุนให้ร่างกายมีการตื่นตัว บางประเทศในซีกโลกตะวันตกจัดให้เป็นยาควบคุมพิเศษ โดยมีข้อจำกัดการใช้ที่ออกมาเป็นกฎหมายอย่างเคร่งครัด อาจพบเห็นการจำหน่ายยาโมดาฟินิลในต่างประเทศภายใต้ชื่อการค้าว่า Alertec, Modavigil, และ Provigil รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยานี้จะเป็นยารับประทาน

ตัวยาโมดาฟินิลสามารถถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 60% ยาโมดาฟินิลจะถูกส่งไปทำลายที่ตับ ก่อนที่จะถูกขับออกไปกับปัสสาวะ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด

สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยาโมดาฟินิล ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์พบว่า ยาโมดาฟินิลส่งผลลดปริมาณสารสื่อประสาทประเภทกาบา (GABA-mediated neurotransmission) จึงอาจเป็นที่กลไกนี้ที่ทำให้ผู้ที่ได้รับยาโมดาฟินิลไม่มีอาการง่วงนอนตามมา

ข้อจำกัดของการใช้ยาโมดาฟินิลบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ อาทิเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโมดาฟินิลในผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาโมดาฟินิลกับผู้ป่วยด้วย โรคหัวใจ หรือโรคลิ้นหัวใจ
  • แจ้งแพทย์ถึงประวัติโรคประจำตัวที่ตนเองเป็นอยู่ก่อน การใช้ยาโมดาฟินิลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคทางจิตประสาท เช่น ซึมเศร้า ด้วยยานี้อาจส่งผลกระทบต่ออาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ก่อนจนทำให้เกิดอาการต่างๆกำเริบมากขึ้น
  • ยาอื่นๆหลายรายการ ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาโมดาฟินิล เช่น Ketoconazole, Phenobarbital, Rifampin, Clomipramine, Desipramine, Diazepam, Hydantoins, Omeprazole, Propranolol, Cyclosporine, ยาเม็ดคุมกำเนิด, Midazolam, Triazolam
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยมีฤทธิ์ ต่อต้านกัน
  • ยานี้ถูกห้ามใช้กับเด็ก ด้วยเป็นวัยที่ต้องการการนอนหลับพักผ่อนอย่างเหมาะสม ซึ่งเชื่อมโยงไปจนถึงการเจริญเติบโต
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

สำหรับประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจากยานี้ นอกจากจะเป็นเรื่องบำบัดอาการโรคลมหลับแล้ว ยาโมดาฟินิลยังทำให้ผู้ที่ต้องทำงานกะกลางคืนสามารถปฏิบัติภารกิจ หรืองานที่ต้องรับผิดชอบได้ดีระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ยาโมดาฟินิลยังถูกนำมาใช้รักษาอาการนอนกรน โดยยาโมดาฟินิล มิได้ช่วยแก้ไขเรื่องท่อทางเดินหายใจอุดกั้นแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นตัวควบคุมเวลาการนอนหลับของผู้ป่วยให้มีเวลาเหมาะสม หรือทำให้ไม่นอนหลับนานจนเกินไปเท่านั้น

หลายประเทศได้นำยาโมดาฟินิลมาใช้ในกองทัพ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงและทดแทนการใช้ยากระตุ้นอย่างเช่น Amphetamine นั่นเอง ข้อดีอีกประการหนึ่งของยาโมดาฟินิลคือ ยานี้ก่อให้เกิดการติดยาที่ค่อนข้างต่ำ จึงถือเป็นประโยชน์ของผู้ป่วยที่สามารถหยุดการใช้ยานี้โดยไม่ค่อยพบเห็นภาวะถอนยาตามมา

สำหรับประเทศไทยอาจไม่พบเห็นการใช้ยาโมดาฟินิลเท่าใดนัก และเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาใดๆก็ตามที่รวมถึงยานี้ ผู้บริโภคควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด

โมดาฟินิลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โมดาฟินิล

ยาโมดาฟินิลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาโรคลมหลับ (Narcolepsy) โดยทำให้เวลาการนอนเหมาะสม ไม่มาก จนเกินไป
  • บำบัดความผิดปกติของการนอนอันเนื่องมาจากการทำงานเป็นกะ จากกลางวัน มาทำงานในเวลากลางคืน ร่างกายอาจปรับตัวได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้ขณะทำงาน กลางคืนจะเกิดอาการง่วงนอนตามมาจนเป็นอุปสรรคในการทำงาน ยาโมดาฟินิลจะออกฤทธิ์ไม่ให้เกิดภาวะง่วงนอนขณะที่ต้องทำงานในกะกลางคืน
  • บำบัดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ/นอนหลับแล้วหยุดหายใจ ชนิด Obstructive sleep apnea/OSA
  • บำบัดการหลับนานจนเกินไป จนอาจก่อให้เกิดภาวะนอนกรนตามมา และทำให้ร่างกายขาดอากาศ การใช้ยาโมดาฟินิลจะทำให้การหลับมีระยะเวลาที่เหมาะสมมากขึ้น ส่งผลลดภาวะนอนกรนและการขาดอากาศหายใจได้

โมดาฟินิลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

จากการศึกษาเชื่อว่า ยาโมดาฟินิลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะไปลดสารสื่อประสาทประเภทกาบา (GABA-mediated neurotransmission)ในสมอง ทำให้ร่างกายไม่รู้สึกง่วงนอน และสนับสนุนให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โมดาฟินิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโมดาฟินิลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด

โมดาฟินิลมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?

ยาโมดาฟินิลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับโรคลมหลับ และบำบัดอาการหยุดหายใจขณะหลับ/ภาวะนอนหลับแล้วหยุดหายใจ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 – 400 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งตอนเช้า หรือแบ่งรับประทาน เช้า – กลางวัน
  • ผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทาน 100 มิลลิกรัม/วัน หลังจากนั้นแพทย์จะปรับยาตามอาการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย

ข.สำหรับบำบัดความผิดปกติของการนอนอันเนื่องจากการทำงานเป็นกะ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัม ครั้งเดียว ก่อนเข้าทำงาน 1 ชั่งโมง

อนึ่ง:

  • เด็ก: ทางคลินิกยังไม่มีขนาดรับประทานสำหรับเด็ก
  • สำหรับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต ที่เข้ารับการรักษาโรคลมหลับ หรืออาการหยุดหายในขณะหลับ แพทย์จะลดขนาดรับประทานลงมาเป็น 100 – 200 มิลลิลิตร/วัน
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโมดาฟินิล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโมดาฟินิลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโมดาฟินิล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โมดาฟินิลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโมดาฟินิลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ตัวสั่น เกิดการเคลื่อนไหวช้า กล้ามเนื้อหดเกร็ง/เป็นตะคริว เกิดการกระตุ้นประสาท /มีอาการอยู่ไม่นิ่ง ปวดศีรษะไมเกรน ความจำเสื่อม เกิดภาวะหย่อนการรับรู้ในความรู้สึกร้อน – เย็น เกิดอาการชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ปากแห้ง ท้องอืด ท้องผูกหรือท้องเสีย ปากเป็นแผล ปวดท้อง กรดไหลย้อน อาเจียน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ ค่า ECG ผิดปกติ อาจพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมากผิดปกติ อาจเกิดโรคเริม มีผื่นคัน เกิดสิว อาจพบภาวะ Steven-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อย เกิดการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อระบบเดินปัสสาวะ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ Eosinophilia/เม็ดเลือดขาวชนิดEosinophilสูง Leukopenia/เม็ดเลือดขาวต่ำ และ Agranulocytosis/เม็ดเลือดขาวชนิดGranulocyteต่ำ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น กระหายน้ำ เบื่ออาหาร หรืออยากอาหารเพิ่มขึ้นก็ได้ คอเลสเตอรอลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง/มีภาวะเบาหวานเล่นงาน น้ำหนักตัวลดหรือไม่ก็เพิ่ม
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ต้นคอแข็ง ปวดต้นคอ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ขาเป็นตะคริว กล้ามเนื้อกระตุก ข้ออักเสบ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า การมองเห็นผิดปกติ ปวดตา ตาแห้ง เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน อารมณ์แปรปรวน ฝันแปลกๆ ก้าวร้าว ประสาทหลอน มีความรู้สึกอยากทำร้ายตนเอง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ หอบเหนื่อย ไซนัสอักเสบ ไอ หลอดลมอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้โมดาฟินิลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโมดาฟินิล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มี โรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตั้งแต่ ความรุนแรงระดับกลางขึ้นไป ผู้ที่มีประวัติหัวใจโตโดยเฉพาะหัวใจห้องล่างซ้าย ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เจ็บหน้าอก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยอาการทางจิตประสาท ผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วย ด้วย โรคตับ โรคไต โรคTourette’s syndrome
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบผื่นคันตามร่างกาย แล้วรีบด่วนมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันนัด
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโมดาฟินิลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โมดาฟินิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโมดาฟินิลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโมดาฟินิลร่วมกับยา Warfarin, ยากลุ่ม TCAs อาจทำให้ร่างกาย ได้รับผลข้างเคียงของยา Warfarin และ TCAs มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโมดาฟินิลร่วมกับยา Hydrocodone, Fentanyl ด้วยจะทำให้ระดับยา Hydrocodone, Fentanyl ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลต่อปฏิสิทธิภาพการรักษาของยาทั้ง2ตัวนั้น
  • การใช้ยาโมดาฟินิลร่วมกับยา Citalopram อาจทำให้ระดับยา Citalopram ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาCitalopramตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโมดาฟินิลร่วมกับยา Grazoprevir(ยารักษาไวรัสตับอักเสบ-ซี ) ด้วยจะทำให้ระดับยา Grazoprevir ในกระแสเลือดลดต่ำจนไม่สามารถบำบัดอาการของไวรัสตับอักเสบ-ซี ได้

ควรเก็บรักษาโมดาฟินิลอย่างไร?

ควรเก็บยาโมดาฟินิลในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โมดาฟินิลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโมดาฟินิล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ALERTEC (อะเลอร์เท็ค)Teva
Modavigil (โมดาวิกิล)Teva
Provigil (โพรวิจิล)Cephalon

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/sfx/modafinil-side-effects.html [2016,Dec17]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/modafinil?mtype=generic [2016,Dec17]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/modafinil.html [2016,Dec17]
  4. http://www.tevacanadainnovation.ca/downloads/L_Alertec_Prescribers_EN.pdf [2016,Dec17]