โมซาไพรด์ (Mosapride)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโมซาไพรด์(Mosapride หรือ Mosapride citrate) เป็นยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร (Prokinetic drugs) ทางคลินิกใช้ยาโมซาไพรด์มาบำบัดอาการอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน กรดไหลย้อน และยังช่วยลดอาการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร(ลำไส้อักเสบ)อีกด้วย รูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาแบบรับประทาน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่กระเพาะอาหารและที่ลำไส้ โดยกระตุ้นให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Acetylcholine สารสื่อประสาทชนิดนี้มีผลทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหาร-ลำไส้ และตามมาด้วยการบีบไล่อาหารที่คั่งค้างได้เป็นอย่างดี จากกลไกดังกล่าว จะทำให้ผู้ป่วยลดความรู้สึกแน่นท้อง บรรเทาอาการปวดท้องที่มิได้เกิดจากแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์มักจะสั่งจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วยรับประทานวันละ 3 มื้อ ก่อนหรือหลังอาหาร ไม่ควรใช้ยานี้นานเกิน 2 สัปดาห์ติดต่อกัน

ผู้ป่วยอาจได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาโมซาไพรด์ได้บ้าง เช่น ท้องเสีย ปากแห้ง และรู้สึกอ่อนเพลีย กรณีมีอาการข้างเคียงที่ไม่ค่อยรุนแรงอาการเหล่านั้นสามารถหายได้เองเมื่อหยุดการใช้ยานี้

มีข้อห้ามใช้ที่ถูกระบุไว้ไม่กี่ประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวยาโมซาไพรด์ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาอื่นๆที่มีฤทธิ์ต่อต้านสาร Acetylcholine (Anticholinergics) อาทิยา Atropine sulfate , Scopolamine bromide

ตามกฎหมายยาของไทย ได้ระบุให้ยาโมซาไพรด์อยู่ในประเภทยาอันตราย ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อยืนยันความเหมาะสมการใช้ยาชนิดนี้ และสามารถพบเห็นการใช้ยาโมซาไพรด์ตามสถานพยาบาลต่างๆ และมีจำหน่ายตามร้านขายยาภายใต้ชื่อการค้าว่า “Gasmotin”

โมซาไพรด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โมซาไพรด์

ยาโมซาไพรด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ลดอาการรู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการแน่นในกระเพาะอาหารด้วยเหตุรับประทานมากเกินไป/อาหารไม่ย่อย ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน ลดอาการ คลื่นไส้และอาเจียน

โมซาไพรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาโมซาไพรด์มีกลไกการออกฤทธิ์เป็นยา 5- HT4 receptor agonist ซึ่งเป็นยาในกลุ่มย่อยของยา Selective serotonin (5 HTหรือ 5-hydroxytryptamine) receptor agonist โดยตัวยาโมซาไพรด์จะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่ชื่อ 5-HT4 (5-hydroxytryptamine 4) ที่ผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ ส่งผลกระตุ้นให้เซลล์บริเวณนั้นปลดปล่อยสาร Acetylcholine ที่ช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารและลำไส้มีการบีบตัวเกิดขึ้น การบีบตัวดังกล่าวช่วยให้อาหารที่คั่งค้างในระบบทางเดินอาหารเคลื่อนตัวไปตามกระเพาะอาหาร-ลำไส้เล็ก-ลำไส้ใหญ่ได้เป็นปกติ ส่งผลให้ลดอาการ แน่นท้อง ท้องเฟ้อ ตลอดจนกระทั่งอาการคลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เป็นที่มาของสรรพคุณ

โมซาไพรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโมซาไพรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบของตัวยา Mosapride citrate 5 มิลลิกรัม/เม็ด

โมซาไพรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโมซาไพรด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ไม่ควรใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์
  • ทั่วไป เมื่ออาการดีขึ้น สามารถหยุดการใช้ยานี้ได้ทันที

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโมซาไพรด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโมซาไพรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโมซาไพรด์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยานี้ที่ขนาดปกติ

โมซาไพรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโมซาไพรด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ

มีข้อควรระวังการใช้โมซาไพรด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโมซาไพรด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • การรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาโมซาไพรด์ควรเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)
  • การใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโมซาไพรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โมซาไพรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโมซาไพรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโมซาไพรด์ร่วมกับยา Atropine และ Scopolamine ด้วยจะทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาโมซาไพรด์ด้อยประสิทธิภาพลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโมซาไพรด์ร่วมกับยา Erytromycin ด้วยจะทำให้ความเข้มข้นของยาโมซาไพรด์ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาโมซาไพรด์สูงขึ้นตามมา
  • ห้ามใช้ยาโมซาไพรด์ร่วมกับยาที่กระตุ้นให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติหรือที่เรียกว่าเกิดภาวะ QT Prolongation ยาดังกล่าว เช่น Chlorpromazine, Haloperidol, Quinidine , Flecainide, และ Satolol ด้วยจะทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา

ควรเก็บรักษาโมซาไพรด์อย่างไร?

ควรเก็บยาโมซาไพรด์ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โมซาไพรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโมซาไพรด์ มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Gasmotin (แก๊สโมทิน)Eisai

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Biotonus, Gasmotin, Mozax, Moxar

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Mosapride [2017,Dec16]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/gasmotin/?type=brief [2017,Dec16]
  3. http://www.fouda.com/sites/default/files/10215.pdf [2017,Dec16]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/mosapride/?type=brief&mtype=generic [2017,Dec16]
  5. https://lifeinthefastlane.com/ecg-library/basics/qt-prolongation-drugs/ [2017,Dec16]