โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ ตอน 4 การจัดอาหารสำหรับผู้สูงอายุ (Food management for old age)

โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ-4

      

เมนูอร่อย สไตล์สุขภาพ

      

โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ

ตอน 4 การจัดอาหารสำหรับผู้สูงอายุ (Food management for old age)

      

      ผู้สูงอายุมีความต้องการปริมาณอาหารลดลง แต่ต้องการสารอาหารอื่นๆเท่าเดิม ดังนั้นอาหารที่จัดต้องมีคุณภาพ ปริมาณเพียงพอ สมดุล ตามสัดส่วน กับความต้องการของร่างกาย คือมีสารอาหารครบ 5 หมู่

      เนื้อสัตว์ ควรทำให้สะดวกต่อการเคี้ยว เช่น สับให้ละเอียดหรือต้ม ตุ๋นให้เปื่อยนุ่ม หรือปรุงอาหารให้มีลักษณะค่อนข้างเหลว เนื้อปลาเหมาะสำหรับผู้สูงอายุแต่ควรนำก้างออกให้หมด เนื้อปลา ไข่ เต้าหู้ เป็นโปรตีนที่เคี้ยวง่าย กินง่าย ไม่ต้องเสียเวลาในการสับหรือบด ดังนั้นควรบริโภคเนื้อสัตว์วันละ 6-8 ช้อนโต๊ะ เนื้อสัตว์สามารถลดปริมาณลงได้อีกหากมีการบริโภคไข่ หรือนม กรณีผู้สูงอายุที่ไม่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงสามารถบริโภคไข่ได้ 3-4 ฟอง/สัปดาห์ หากมีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงเลือกเฉพาะไข่ขาว และควรดื่มนมพร่องมันเนย หรือนมไขมัน 0% อย่างน้อยวันละ 1 แก้ว

      ข้าว แป้ง น้ำตาล เผือก มัน เป็นอาหารที่ให้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะไม่ควรบริโภคมากเกินไป ควรบริโภคข้าวที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวสังข์หยด ฯลฯ แทนข้าวขาว บริโภคน้ำตาลที่ไม่ฟอกสีแทนน้ำตาลทรายขาว

      ผักต่างๆ เป็นอาหารที่ผู้สูงอายุเลือกกินได้ค่อนข้างมาก เพราะผักเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ทั้งผักสีเขียว สีเหลือง เป็นแหล่งของวิตามินเอ วิตามินซี ควรเลือกบริโภคผักหลากหลายชนิดสลับกัน แต่ควรเป็นผักที่ต้มสุกหรือนึ่งจนสุกนุ่ม ไม่ควรบริโภคผักดิบ เพราะย่อยยาก ทำให้เกิดแก๊ส ท้องอืด ท้องเฟ้อ

      ผลไม้ต่างๆ ผลไม้เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ คล้ายกับผัก มีวิตามินและแร่ธาตุต่างๆมากมาย มีรสหวานหอม มีปริมาณน้ำอยู่มาก ทำให้ร่างกายสดชื่นเมื่อได้กินผลไม้ สามารถบริโภคผลไม้ได้ทุกวันเพื่อให้ได้วิตามินซีและเส้นใยอาหาร ควรเลือกผลไม้ที่มีเนื้อนุ่ม เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย ได้แก่ มะละกอ กล้วยสุก ส้ม หรือผลไม้คั้น วันละ 1-2 ครั้ง ยกเว้นผู้ที่มีภาวะอ้วนหรือเป็นเบาหวานให้เลี่ยงผลไม้ที่หวานจัด เช่น ลำไย ทุเรียน ขนุน น้อยหน่า ฯลฯ

      น้ำมัน ให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยดูดซึมวิตามินบางชนิด หากบริโภคมากเกินไปจะทำให้อ้วน และไขมันอุดตันในเส้นเลือด ไขมันย่อยยาก ทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ หลังการรับประทานอาหารได้ ควรเลือกน้ำมันพืชที่มีกรดลิโนเลอิกในการปรุงอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันจากสัตว์และน้ำมันมะพร้าวเพราะมีไขมันอิ่มตัวสูงนอกจากจะส่งผลให้เกิดไขมันสะสมในร่างกายแล้ว ยังเกิดการสะสมไขมันตามหลอดเลือด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเส้นเลือดในสมองตีบ อัมพฤกษ์อัมพาต

            

ปริมาณอาหารที่แนะนำให้บริโภคใน 1 วันสำหรับผู้สูงอายุ
 ชนิดของอาหาร
 ปริมาณต่อวัน
 ข้อเสนอแนะ
 เนื้อสัตว์ ไก่ หมู เนื้อ  120-160 กรัม  
 นม  250 มล.  = 1 แก้ว
 ไข่  1 ฟอง  3-4 ฟอง/สัปดาห์
 ข้าว แป้ง เผือก มัน  3-4 ถ้วยตวง  ข้าวสุกมื้อละ 2 ทัพพี
 ผักใบเขียว สด/ต้ม  1 ถ้วยตวง  ตำลึง คะน้า ผักบุ้ง ฯลฯ
 ผักสีเหลือง  ½ ถ้วยตวง  ฟักทอง มะเขือเทศ แครอท
 ผลไม้สุก  1-2 ครั้ง  งดผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย องุ่น ฯลฯ
โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคอ้วน
 ไขมัน:น้ำมันพืช  2 ช้อนโต๊ะ  งดน้ำมันจากสัตว์ เนย ไขมันทรานส์

            

      ซึ่งในตอนถัดไปดิฉันได้ทดลองทำเมนูอาหารสำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะกับการเคี้ยว การกลืน ย่อยง่าย เน้นโปรตีนที่มีคุณภาพ เช่น ปลา ไข่ มีการดัดแปลงใช้พืชผักสมุนไพรไทย ที่ให้กลิ่นหอม ชวนรับประทาน หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง มีทุกฤดูกาล วิธีการทำก็ไม่ยุ่งยาก ทุกคนสามารถทำรับประทานได้ในครอบครัว สร้างบรรยากาศที่ดีในการรับประทานอาหารร่วมกัน

            

แหล่งข้อมูล:

  1. สุปราณี แจ้งบำรุง,สิติมา จิตตินันทน์. อาหารและโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ. ในองค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการสำหรับทุกช่วงวัย. กรุงเทพคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ;2559.
  2. อัจฉรา ดลวิทยาคุณ. พื้นฐานโภชบำบัด. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์; 2558.
  3. อบเชย วงศ์ทอง. โภชนศาสตร์ครอบครัว.พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; 2557.