โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ ตอน 3 ปัญหาการกินอาหารของผู้สูงอายุ (Food consumption problem of old age)

โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ-3

      

เมนูอร่อย สไตล์สุขภาพ

      

โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ

ตอน 3 ปัญหาการกินอาหารของผู้สูงอายุ (Food consumption problem of old age)

      

      ปัญหาเรื่องเหงือกและฟัน การสูญเสียฟัน ฟันผุ ใส่ฟันใหม่แล้วไม่เข้าที่เหงือกบวมหรือเป็นหนอง ปัญหาเหล่านี้ทำให้หมดความอยากอาหาร เพราะเคี้ยวอาหารลำบาก มีความเจ็บปวดในการเคี้ยวอาหาร ทำให้กินแต่อาหารเหลวหรืออาหารนิ่มที่ไม่มีกากใย ส่วนใหญ่จะเป็นแป้ง น้ำตาล ไขมัน ทำให้ขาดสารอาหารพวกโปรตีน เหล็ก และอาหารจำพวกกากใย เช่น ผัก ผลไม้ ส่งผลให้ระบบขับถ่ายไม่ดี

            การแก้ไข ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ปรึกษาทันตแพทย์ถ้าจำเป็น เนื่องจากสุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดีจะทำให้รสชาติอาหารเปลี่ยน รวมถึงการเคี้ยวอาหารและการกลืนอาหารไม่ดี ดังนั้นการเตรียมอาหารต้องมีลักษณะอ่อนนุ่ม สะดวกต่อการเคี้ยวและการกลืน เช่น เนื้อสัตว์ต้องสับหรือบดให้ละเอียด ผักหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปประกอบอาหารต้ม ตุ๋น ให้เปื่อยนุ่ม ผลไม้เลือกชนิดที่สุกนิ่ม เช่น มะละกอ กล้วย มะม่วง ฯลฯ

      การรับรสชาติลดลง ปุ่มรับรสอาหารที่ลิ้นจะเสื่อมลง ทำให้ต้องกินอาหารรสจัด เค็มจัด ทำให้มีอาการบวม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีการขับถ่ายเกลือโซเดียมลดลง การกินเค็มจัด ยังส่งผลต่อความดันโลหิตสูงด้วย

      ความอยากอาหารลดลง ปลายประสาทรับกลิ่นลดลง ทำให้ความยากอาหารลดลงเพราะไม่สามารถสูดกลิ่นอาหารอันหอมหวนชวนรับประทานของอาหารบางชนิดที่เคยชอบได้เหมือนเดิม

            การแก้ไข ให้รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่รับประทานบ่อยๆ มีอาหารว่างระหว่างมื้อหลักโดยเลือกเป็นอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง มีการเตรียมอาหารให้รับประทานได้สะดวก ย่อยง่าย มีรูปแบบหลากหลาย รูปลักษณ์สวยงามน่ากิน ไม่ควรให้อาหารเสริมใกล้กับอาหารมื้อหลักมากเกินไป เพราะจะทำให้ความอยากอาหารลดลงได้ และควรเลี่ยงอาหารกลุ่มที่ทำให้เกิดแก๊ส เนื่องจากทำให้ท้องอืด อิ่มเร็ว สามารถใช้ผงปรุงรส รสชาติต่างๆ สมุนไพรที่ทำให้เกิดกลิ่นต่างๆ สามารถช่วยกระตุ้นความอยากอาหารได้ และเลี่ยงการดื่มน้ำปริมาณมากระหว่างมื้ออาหารเพราะจะทำให้อิ่มเร็ว ก่อนรับประทานอาหารอาจมีการทำกิจกรรม เช่น เดินเล็กน้อย เพื่อช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร จัดบรรยากาศการกินอาหารให้น่ารื่นรมย์ การกินอาหารร่วมกันกับผู้อื่น ทำให้เพลิดเพลินและกินอาหารได้มากขึ้น

      นิสัยการกินที่ไม่ถูกต้อง ผู้สูงอายุบางคนยึดมั่นอยู่กับบริโภคนิสัยที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องมาตั้งแต่อายุยังน้อย และเป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลง แต่พยายามตั้งต้นจากการกินที่เป็นอยู่โดยหาทางเพิ่มเติมหรือดัดแปลงเพื่อให้ได้สารอาหารต่างๆ ครบตามความต้องการ

            การแก้ไข ค่อยๆปรับพฤฒิกรรมการบริโภคไปทีละนิด มีการพูดให้ฟัง โน้มน้าวทางด้านจิตใจให้เห็นคุณค่าของอาหารแต่ละชนิดที่รับประทานมีประโยชน์อย่างไร ให้โทษอย่างไร

      ความกังวลในจิตใจ เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ต่างๆในชีวิต เช่น การสูญเสียบุคคลซึ่งเป็นที่รักที่เคยช่วยทำอาหารหรือรับประทานอาหารร่วมกัน มีการพลัดพราก การเกษียน ทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการเหงา หมดหวัง นอนไม่หลับ ซึม เศร้า ความคิดสับสน สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอาหารไม่อยากรับประทานอาหาร ไม่อยากทำอาหารกินคนเดียว ซื้ออาหารมากินง่ายๆ อันเป็นสาเหตุของการขาดสารอาหาร

            การแก้ไข รักษาภาวะซึมเศร้า หรือส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในครอบครัวและสังคม ญาติๆ พี่น้อง ลูกหลานมาร่วมสังสรรค์พูดคุยอย่างสม่ำเสมอ หรือชวนกันออกไปพักผ่อนหาบรรยากาศนอกบ้านบ้าง จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดใส สามารถคลายความเศร้าหมองลงได้

      อุปสรรคทางกาย ผู้สูงอายุไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆการเคลื่อนไหวไม่กระฉับกระเฉงเหมือนวัยหนุ่มสาว ไม่สามารถเตรียมอาหารได้ด้วยตนเอง เพราะสายตาไม่ดีมีโรคทางกายเป็นอุปสรรค เช่น โรคข้อเข่าอักเสบ จึงไม่สามารถซื้อและปรุงอาหารได้ด้วยตัวเอง ไม่มีคนดูแลคอยช่วยเหลือ จึงเป็นที่มาของโรคขาดสารอาหาร

            การแก้ไข ปรึกษาแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู จัดเตรียมอาหารหรืออุปกรณ์ทุ่นแรงในการกินอาหาร หรือจัดหาอาหารปรุงสำเร็จหรือบริการส่งอาหารตามบ้าน (meals on Wheels) สามารถเสริมคุณค่าและพลังงานในอาหารที่กินโดยอาจเติมน้ำตาล น้ำผึ้งเนย ในอาหารที่กินปกติ แต่อย่างไรก็ตามควรคำนึงคุณค่าทางโภชนาการด้วย

            

แหล่งข้อมูล:

  1. ธัญชนก จัตตารีส์, ชโลบล เฉลิมศรี. Nutrition Support in Elderly. ใน Nutrition Review. กรุงเทพฯ: สมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ และทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย; 2560.
  2. สุปราณี แจ้งบำรุง,สิติมา จิตตินันทน์. อาหารและโภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ. ในองค์ความรู้ด้านอาหารและโภชนาการสำหรับทุกช่วงวัย. กรุงเทพคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ;2559.
  3. อัจฉรา ดลวิทยาคุณ. พื้นฐานโภชบำบัด. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์; 2558.
  4. อบเชย วงศ์ทอง. โภชนศาสตร์ครอบครัว.พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; 2557.