โพแทสเซียม คลอไรด์ (Potassium chloride)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

เกลือแร่โพแทสเซียมในรูปแบบของยาโพแทสเซียม คลอไรด์ (Potassium chloride) คือ ยาที่ทางการแพทย์มักใช้เพื่อชดเชยเกลือแร่โพแทสเซียมให้กับร่างกาย หรือให้กับผู้ป่วยที่เกิดภาวะเกลือแร่โพแทสเซียมในเลือดต่ำ(Hypokalemia)ด้วยเหตุจากโรคต่างๆ เช่น ท้องเสีย หรือ จาก อาเจียน เป็นต้น

ยาโพแทสเซียม คลอไรด์ สามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร จากนั้นจะถูกส่งผ่านเข้าไปในเซลล์ของร่างกาย และถูกขับออกมากับปัสสาวะเสียเป็นส่วนมาก บางส่วนจะถูกขับออก ไปกับเหงื่อและอุจจาระ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุ ยาโพแทสเซียม คลอไรด์ ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยถูกระบุเป็นทั้ง ยาทั่วไป และ ยาอันตราย สำหรับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดยาได้แก่ ยาเม็ด ยาน้ำ และยาฉีด

ตามสถานพยาบาลต่างๆจะจัดให้โพแทสเซียม คลอไรด์เป็นยาที่มีความเสี่ยงสูงหากมีการใช้ยาเกินขนาด จะส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยนไป (Paresthesia), เกิดสภาวะปิดกั้นการทำงานของหัวใจส่งผลมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะและปลอกประสาทเสื่อม การใช้ยานี้จึงควรต้องเคร่งครัดและปฏิบัติตัวตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

อนึ่ง: โพแทสเซียม (Potassium) จัดเป็นเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายโดยเฉพาะในเรื่องการเต้นของหัวใจ มนุษย์ได้รับเกลือแร่โพแทสเซียมจากอาหารที่รับประทานอยู่เป็นประจำวันโดยเฉพาะอาหารประเภทผักและผลไม้

โพแทสเซียม คลอไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โพแทสเซียมคลอไรด์

ยาโพแทสเซียม คลอไรด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกลือแร่โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ป้องกันภาวะเกลือแร่โพแทสเซียมในเลือดต่ำ

โพแทสเซียม คลอไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโพแทสเซียม คลอไรด์ คือ ตัวยาเป็นหมู่เกลือแร่ที่มีประจุไฟฟ้า พบในของเหลวที่อยู่ในเซลล์ของร่างกายมนุษย์ และมีหน้าที่ เช่น

1. นำกระแสประสาทในหัวใจ สมอง กล้ามเนื้อลาย, กล้ามเนื้อเรียบ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัว ใจและกล้ามเนื้อต่างๆมีการหดตัว

2. ช่วยให้ไตทำงานได้ตามปกติ

3. เป็นเกลือแร่ที่ทำให้เกิดความสมดุลของความเป็นกรดด่างของร่างกาย

4. เป็นปัจจัยในกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต

5. เป็นตัวกำหนดควบคุมการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร

จากหน้าที่ของเกลือแร่โพแทสเซียมที่กล่าวมาทั้งหมด เมื่อร่างกายได้รับปริมาณเกลือแร่โพแทสเซียมที่พอดีและเหมาะสม จะทำให้กลไกระบบการทำงานของอวัยวะและของกระบวน การเผาผลาญสารอาหารในร่างกายกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

โพแทสเซียม คลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพแทสเซียม คลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 และ 750 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 1.5 กรัม/10 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 3.5 กรัม/20 มิลลิลิตร

โพแทสเซียม คลอไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโพแทสเซียม คลอไรด์มีขนาดรับประทานสำหรับป้องกันและรักษาภาวะเกลือแร่ โพแทสเซียมในเลือดต่ำ เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 1,000 - 1,500 มิลลิกรัม แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง และควรรับ ประทานยาโพแทสเซียม คลอไรด์พร้อมอาหารเพื่อลดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานยานี้ในเด็ก ขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวของเด็ก และความรุนแรงของอาการ ขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • การรับประทานยานี้ในเชิงป้องกันหรือรักษานั้น จะต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของแพทย์ผู้ ป่วยควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ห้ามผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโพแทสเซียมคลอไรด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโพแทสเซียมคลอไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโพแทสเซียม คลอไรด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โพแทสเซียม คลอไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพแทสเซียม คลอไรด์สามารถก่อให้เกิด ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีภาวะระคายเคืองในช่องทางเดินอาหาร
  • อาจพบภาวะเกลือแร่โพแทสเซียมในเลือดสูงเกินซึ่งมีอาการ เช่น
    • คลื่นไส้-อาเจียน
    • ท้องเสีย
    • เป็นตะคริวที่หน้าท้อง
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • ปัสสาวะบ่อย
    • อุจจาระมีสีคล้ำ

มีข้อควรระวังการใช้โพแทสเซียม คลอไรด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพแทสเซียม คลอไรด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีเกลือคลอไรด์ (Chloride, เกลือแร่ชนิดหนึ่งที่ช่วยคงสมดุลภาวะความเป็นกรดด่างของร่างกาย) มากผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ให้ระวังความผิดปกติของไต อาการของโรคหัวใจ, ภาวะขาดน้ำชนิดเฉียบพลัน
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ
  • หยุดการใช้ยานี้เมื่อมีอาการ คลื่นไส้-อาเจียน อย่างรุนแรง หรือเมื่อพบอาการผิดปกติต่าง ๆ
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโพแทสเซียม คลอไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โพแทสเซียม คลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพแทสเซียม คลอไรด์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโพแทสเซียม คลอไรด์ ร่วมกับยา Amiloride (ยาขับปัสสาวะ), Captopril, Spiro nolactone, สามารถทำให้ระดับยาโพแทสเซียม คลอไรด์ในกระแสเลือดสูงเกิน หรือเกิดภาวะไตวาย กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาโพแทสเซียม คลอไรด์ ร่วมกับยา Amitriptyline, Chlorpheniramine, Chlorpro mazine, Diphenhydramine, Doxylamine (ยาแก้แพ้) สามารถเพิ่มการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นจนอาจทำให้เกิดแผลขึ้นได้ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง แผลในกระเพาะอาหาร) หรืออาจมีอาการปวดท้อง วิงเวียน อุจจาระมีสีคล้ำ คลื่นไส้-อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโพแทสเซียม คลอไรด์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาโพแทสเซียม คลอไรด์ เช่น

  • ยาฉีด: เก็บภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ยาเม็ดและยาน้ำชนิดรับประทาน: เก็บภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส
  • ยาทุกรูปแบบ:
    • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
    • เก็บยาให้พ้น แสงแดด ความชื้น
    • เก็บยาในภาชนะปิดมิดชิด
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

โพแตสเซียม คลอไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพแทสเซียม คลอไรด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Addi-K (แอดดิ-เค)LEO Pharma
Enpott (เอ็นพ็อท)Ranbaxy
Kaylyte (เคไลท์)Thaipharmed
KCl For Injection Pharma Innova (โปแตสเซียม คลอไรด์ ฟอร์ อินเจ็คชั่น ฟาร์มา อินโนวา)Pharma Innova
Potassium Chloride Atlantic (โปแตสเซียม คลอไรด์ แอทแลนติก)Atlantic Lab
Potassium Chloride Ranbaxy Unichem (โปแตสเซียม คลอไรด์ แรนแบ็กซี่ ยูนิเคม)Ranbaxy
Potassride (โปแตสไรด์)General Drugs House

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Potassium_chloride#Synthesis_and_production [2021,June26]
  2. https://www.drugs.com/potassium_chloride.html [2021,June26]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/potassium%20chloride?mtype=generic [2021,June26]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/potassium%20chloride%20atlantic [2021,June26]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Addi-K/?type=brief [2021,June26]
  6. https://www.livestrong.com/article/126973-foods-potassium-chloride/ [2021,June26]