โพลีมิกซิน บี (Polymyxin B)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โพลีมิกซิน บี มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โพลีมิกซิน บี มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โพลีมิกซิน บี มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โพลีมิกซิน บี มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมหยอดยา/ทายาควรทำอย่างไร?
- โพลีมิกซิน บี มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โพลีมิกซิน บี อย่างไร?
- โพลีมิกซิน บี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโพลีมิกซิน บี อย่างไร?
- โพลีมิกซิน บี มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- ยาแผนปัจจุบัน (Conventional medicine หรือ Modern medicine)
- ตาแดง (Conjunctival injection)
- ยาหยอดหู (Ear drops)
- ยาหยอดตา (Eye drops)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาโพลีมิกซิน บี (Polymyxin B) คือ ยาปฏิชีวนะกลุ่มแรกๆที่นำมาใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ยาโพลีมิกซิน บี เป็นยาที่มีฤทธิ์กว้างแต่ใช้ได้ไม่ค่อยดีนักกับแบคทีเรียแกรมบวกและยังมีแบคทีเรียแกรมลบบางตัวที่สามารถต่อต้านยานี้ได้ เช่น Proteus และ Neisseria ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์สกัดยานี้ได้จากแบคทีเรียสายพันธุ์หนึ่งที่มีชื่อว่า Bacillus polymyxa
จากการศึกษาด้านการกระจายตัวของยาในร่างกายคนพบว่า โพลีมิกซิน บี มีการดูดซึมจากทาง เดินอาหารต่ำ จึงเป็นเหตุผลที่ยาแผนปัจจุบันตัวนี้จะพบเห็นเป็นลักษณะยาหยอดตา ยาหยอดหู ยาทาเฉพาะที่ และยาฉีดเท่านั้น หากฉีดยาชนิดนี้เข้ากล้ามเนื้อ/เข้ากล้าม (IM, Intramuscular injection) จะพบว่า ตัวยาจะมีปริมาณขึ้นสูงสุดในกระแสเลือดภายในเวลา 2 ชั่วโมง และยาจะค่อยๆแทรกซึมเข้าไปจับกับเซลล์เมมเบรน/Cell membrane(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ) ในเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งนี้ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
สำหรับประเทศไทยเราจะพบเห็นยาโพลีมิกซิน บี ผสมร่วมกับยาตัวอื่นในหลายสูตรตำรับยา และการเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการเจ็บป่วยควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
โพลีมิกซิน บี มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโพลีมิกซิน บี มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ : เช่น
- ใช้ต่อต้านแบคทีเรียชนิดแกรมลบที่ทำให้เกิดโรค
- รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตา โดยเป็นส่วนผสมในสูตรตำรับยาหยอดตา
- เป็นส่วนประกอบของยาหยอดหู เพื่อใช้ต่อต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหู
- เป็นส่วนประกอบในยาทาแผลเพื่อต่อต้านและป้องกันมิให้แบคทีเรียในบริเวณบาดแผล ลุกลามมากขึ้น
โพลีมิกซิน บี มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโพลีมิซิน บี มีกลไกออกฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย โดยตัวยาจะเข้าไปจับกับเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรีย โดยเลือกจับกับส่วนที่เรียกว่า ฟอสโฟลิพิด (Phospholipids) และจะเกิดการก่อกวนสมดุลของน้ำในตัวแบคทีเรียจนทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรียแตกออก ส่งผลให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด
โพลีมิกซิน บี มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโพลีมิกซิน บี มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาฉีดขนาด 500,000 ยูนิต/ขวด
- ยาหยอดตา ชนิดแขวนตะกอนที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น
- Dexamethasone 0.1% + Neomycin sulfate equivalent to Neomycin 3.5 มิลลิกรัม + Polymyxin B sulfate 6,000 ยูนิต/มิลลิลิตร
- Neomycin sulfate 2 มิลลิกรัม + Polymyxin B sulfate 5,000 ยูนิต + Gramicidin 0.025 มิลลิ กรัม/มิลลิลิตร
- Neomycin sulfate 1.75 มิลลิกรัม + Polymyxin B 5,000 ยูนิต + Gramicidin 0.025 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาขี้ผึ้งป้ายตาที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Dexamethasone + Neomycin sulfate + Polymyxin B sulfate, Oxytetracycline 0.5% + Polymyxin B 10,000 ยูนิต/กรัม
- ยาหยอดหู ที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Furaltadone HCl 0.45 กรัม + Polymyxin B sulfate 1 ล้านยูนิต + Neomycin (as neomycin sulfate) 0.375 กรัม + Fludrocortisone acetate 0.1 กรัม + Lidocaine HCl 4 กรัม/100 มิลลิลิตร
- ยาผงสำหรับใส่แผลที่ผสมกับยาอื่น เช่น Neomycin sulfate 500 มิลลิกรัม + Bacitracin Zinc 25,000 ยูนิต + Polymyxin B 160,000 ยูนิต/ผงยา 100 กรัม
- ยาขี้ผึ้งสำหรับทาแผลที่ผสมกับยาอื่น เช่น
- Neomycin sulfate 0.5 มิลลิกรัม + Polymyxin B sulfate 500,000 ยูนิต + Bacitracin Zn 40,000 ยูนิต/เนื้อขี้ผึ้ง100กรัม
- Oxytetracycline HCl 30 มิลลิกรัม + Polymyxin B sulfate 10,000 ยูนิต/กรัม
โพลีมิกซิน บี มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโพลีมิกซิน บี มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
ก. สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ตอบสนองกับโพลีมิกซิน บี (Susceptible infections): ยาฉีด: เช่น
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 15,000 - 25,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งให้ทุก 12 ชั่วโมง หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 25,000 - 30,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งให้ทุก 4 - 6 ชั่วโมง
อนึ่ง: ขนาดสูงสุดของการใช้ยานี้ ต้องไม่เกิน 2,000,000 ยูนิต/วัน
ข. สำหรับการติดเชื้อที่ตา: ยาหยอดตา/ยาป้ายตา: เช่น
- ผู้ใหญ่: ใช้ยานี้ที่มีส่วนผสมของ Neomycin และ Dexamethasone ร่วมด้วย หยอดตาข้างมีอาการ 1 - 2 หยดวันละ 4 - 6 ครั้ง หรือในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรงอาจต้องหยอดยาทุกชั่วโมง หากเป็นขี้ผึ้งป้ายตาให้ป้ายตาวันละ 3 - 4 ครั้งหรือใช้ยาตามแพทย์สั่ง
ค. สำหรับการติดเชื้อที่หู: ยาหยอดหู: เช่น
- ผู้ใหญ่: หยอดหูข้างที่อักเสบ/ติดเชื้อ 4 - 5 หยดวันละ 2 - 4 ครั้งเป็นเวลา 10 วันหรือตามแพทย์สั่ง
ง. สำหรับการติดเชื้อที่ผิวหนัง: ยาทาแผลชนิดขี้ผึ้ง: เช่น
- ผู้ใหญ่: ทาแผลวันละ 1 - 2 ครั้ง หรือขึ้นกับขนาดการใช้ที่ระบุในเอกสารกำกับยาของแต่ละสูตรตำรับยา
อนึ่ง:
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็กหลายสูตรตำรับยา ยังไม่ได้รับการศึกษายืนยันที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยานี้กับเด็กต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น โดยพิจารณาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโพลีมิซิน บี ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพลีมิซิน บี อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมหยอดยา/ทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาโพลีมิกซิน บี สามารถหยอดยา/ทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดยา/ทายาในเวลาถัดไป ให้หยอดยา/ทายาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการหยอดยา/ทายาเป็น 2 เท่า
โพลีมิกซิน บี มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโพลีมิกซิน บี สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
ก. ยารูปแบบของการฉีด: อาจก่อให้เกิดอาการ เช่น
- วิงเวียน
- ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ง่วงนอน
- สับสน
- เกิดอาการชัก
- หายใจติดขัด/หายใจลำบากหรือหยุดหายใจ
- ไตอักเสบ
- คลื่นไส้อาเจียน
- ขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในเลือด
ข. รูปแบบของยาทาเฉพาะที่: อาจก่อให้เกิดอาการ เช่น
- ภาวะผื่นคัน
- หากทายาปริมาณมากในบริเวณบาดแผลที่มีรอยแตกของผิวหนัง อาจเกิดการดูดซึมตัวยาเข้ากระแสเลือดจนเกิดภาวะพิษของยาขึ้นได้
ค. ในรูปแบบของยาหยอดหู: อาจพบอาการ เช่น
- หูดับหรือไม่ได้ยินเสียง หากมีอาการดังกล่าวให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
ง. ในรูปแบบของยาหยอดตา: อาจพบอาการ เช่น
- ระคายเคืองขณะหยอดตา
- คันตา
- ตาแดง
- ขอบตาบวม
มีข้อควรระวังการใช้โพลีมิกซิน บี อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโพลีมิกซิน บี เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะแก้วหูทะลุ
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยาฉีดโพลีมิกซิน บี ให้กับคนไข้ต้องเฝ้าระวังการทำงานของไตว่ายังปกติดีหรือไม่
- ระวังการใช้ยานี้ชนิดทาเฉพาะที่ปริมาณมากๆในบริเวณแผลเปิด เพราะอาจเกิดการดูดซึมยาเข้าสู่ระบบภายในร่างกายจนเกิดพิษจากยาขึ้นได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพลีมิกซิน บี ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โพลีมิกซิน บี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโพลีมิกซิน บี มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโพลีมิกซิน บี ร่วมกับ ยาหลายรายการอาจเพิ่มความเป็นพิษต่อประสาทหูหรือก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษกับไต หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
- ยาต้านไวรัส เช่นยา Adefovir, Tenofovir
- ยาต้านแบคทีเรีย เช่นยา Amikacin, Gentamycin, Kanamycin, Neomycin, Vancomycin
- การใช้ยาโพลีมิกซิน บี ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้ฤทธิ์ของการคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลง ระหว่างการใช้ยาทั้งคู่ร่วมกันควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย เป็นต้น
ควรเก็บรักษาโพลีมิกซิน บี อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโพลีมิกซิน บี: เช่น
- สำหรับยาหยอดตา: เก็บภายใต้อุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- สำหรับยาหยอดหู: เก็บภายใต้อุณหภูมิ 15 - 25 องศาเซลเซียส
- สำหรับยาทาเฉพาะที่: เก็บภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส
อนึ่ง: ยาโพลีมิกซิน บี ทุกประเภท
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โพลีมิกซิน บี มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโพลีมิกซิน บี มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Banocin (แบโนซิน) | Nakornpatana |
My-B (มาย-บี) | Greater Pharma |
Maxitrol (แม็กซิทรอล) | Alcon |
Polyoph (โพลีออฟ) | Seng Thai |
Polymyxin B inj (โพลีมิกซิน บี อินเจ็คชั่น) | SteriMAX Inc |
S.M. Oto (เอส.เอ็ม. โอโต) | S M Pharma |
Terramycin (เทอร์รามายซิน) | Pfizer |
Terramycin Topical (เทอร์รามายซิน ทอปิคอล) | Pfizer |
Xanalin (ซานาลิน) | Silom Medical |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Polymyxin_B [2021,Aug14]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/polymyxin%20b?mtype=generic [2021,Aug14]
- https://www.drugs.com/cons/polymyxin-b-injection.html [2021,Aug14]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/polymyxin-b-index.html?filter=3&generic_only= [2021,Aug14]
- http://sterimaxinc.com/fr/products/injectables/polymyxin-b/ [2021,Aug14]