โพรแพนธีลีน (Propantheline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโพรแพนธีลีน(Propantheline หรือ Propantheline bromide) เป็นยาประเภท Antimuscarinic agent (Anticholinergic agent) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการปวดเกร็ง/ปวดบีบของ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ ภาวะเหงื่อออกมาก(Hyperhidrosis) ภาวะเป็นตะคริว หรือ บางครั้งก็นำมารักษาอาการโรคลำไส้แปรปรวน และอาการปัสสาวะรดที่นอนอีกด้วย ยานี้มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาชนิดรับประทาน หลังรับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด โดยจะมีความเข้มข้นสูงสุดในกระแสเลือดภายในระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.6 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำเพื่อกำจัดตัวยาโพรแพนธีลีนออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ยาโพรแพนธีลีนเป็นยาที่ใช้ได้กับเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป การรับประทานยานี้ อยู่ในเกณฑ์ 3 – 4 ครั้ง/วัน ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย โดยต้องรับประทานยานี้ก่อนมื้ออาหารประมาณครึ่งชั่วโมง และการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ แพทย์อาจต้องลดขนาดลงครึ่งหนึ่งจากขนาดที่ใช้กับผู้ใหญ่ทั่วไป

มีคำเตือนหรือข้อควรระวังของการใช้ยาโพรแพนธีลีน ที่ผู้บริโภคควรทราบเพื่อ ใช้เป็นแนวทางบริหารยา/ใช้ยานี้อย่างเหมาะสม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ ผู้ป่วยโรคต้อหิน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคทางเดินอาหารอุดตัน/โรคลำไส้อุดตัน โรคแผลที่ลำไส้ใหญ่ระดับรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว อาการหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง โรคกรดไหลย้อน รวมถึงผู้ที่มีปัญหาด้านระบบประสาท โรคต่อมลูกหมากโต หรืออยู่ในภาวะป่วยเป็นไข้ ท้องเสีย และปัสสาวะขัด
  • การได้รับยาโพรแพนธีลีนเกินขนาด จะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และมี ความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะอัมพาต รูม่านตาขยาย กระหายน้ำ หน้าแดง ตัวร้อน ผิวแห้ง อารมณ์แปรปรวน ปากแห้ง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน จนถึงขั้นมีอาการชัก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ยาโพรแพนธีลีนอาจเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับยานี้ มีอาการวิงเวียน หรือตาพร่า หากมี อาการดังกล่าวควรต้องเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เสมอว่า มีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อน เช่น ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาต้านฮีสตามีน(ยาแก้แพ้/Antihistamine), ยา Belladonna alkaloids, Corticosteroids, Phenothiazines, ยากลุ่มTCA
  • พยายามรับประทานยานี้ตรงตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วยได้เร็วยิ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยง/ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
  • เลี่ยงการอยู่ในที่อุณหภูมิสูงหรือการออกแดจัด ด้วยการใช้ยาโพรแพนธีลีนจะ ทำให้เกิดภาวะลมแดดได้ง่าย
  • ดื่มน้ำในแต่ละวันให้เพียงพอ เช่น วันละ 6-8 แก้ว หรือตาม แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ ซึ่งจะช่วยบำบัดอาการปากแห้งอันเกิดจากการใช้ยานี้
  • ยานี้ก่อให้เกิดพิษต่อทารกในครรภ์ และต่อทารกได้ จึงถือเป็นข้อห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระหว่างการใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นในระยะเวลาที่แพทย์กำหนด หรืออาการกลับเลวลง ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนวันนัด

การใช้ยาโพรแพนธีลีนจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น การปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเองอาจจะก่อให้เกิดผลเสียตามมา เช่น อาการโรคไม่ทุเลา หรืออาจได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้เพิ่มมากขึ้น

อนึ่ง หากต้องการทราบข้อมูลการใช้ยาโพรแพนธีลีนเพิ่มเติม ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป

โพรแพนธีลีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โพรแพนธีลีน

ยาโพรแพนธีลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการปวดท้องแบบปวดเกร็งจากแผลในกระเพาะอาหาร
  • บำบัดอาการปัสสาวะรดที่นอน
  • บำบัดอาการเหงื่อออกมาก

โพรแพนธีลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโพรแพนธีลีนมีกลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาในกลุ่ม Antimuscarinic หรือAnticholinergic agent ที่ส่งผล ลดอาการเกร็งตัว/บีบตัวของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โพรแพนธีลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพรแพนธีลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 7.5 และ 15 มิลลิกรัม/เม็ด

โพรแพนธีลีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโพรแพนธีลีนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับอาการปัสสาวะรดที่นอน และภาวะหลั่งเหงื่อมาก:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 15 – 30 มิลลิกรัม วันละ 2 – 3 ครั้งขึ้นกับคำสั่งแพทย์ โดยรับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับอายุ และน้ำหนักตัวของเด็ก รวมถึงดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับอาการปวดท้องแบบปวดเกร็งจากโรคกระเพาะอาหาร:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 15 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารประมาณ 30 นาที และรับประทานยาอีก 30 มิลลิกรัม ก่อนนอน แพทย์อาจให้รับประทานยาได้สูงถึง 120 มิลลิกรัม/วัน ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ของแพทย์ผู้รักษา
  • ผู้สูงอายุ: รับประทานยาครั้งละ 7.5 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้งก่อนอาหารประมาณ 30 นาที แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกินครั้งละ 30 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในขนาดยาที่ใช้รักษาอาการนี้ การใช้ยานี้ในการรักษาอาการนี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโพรแพนธีลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคต่อมลูกหมากโต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพรแพนธีลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโพรแพนธีลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโพรแพนธีลีนตรงเวลา

โพรแพนธีลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพรแพนธีลีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ กลืนลำบาก ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาขยาย ตาแพ้แสง เพิ่มแรงดันภายในตา(แรงดันในตาสูง) เกิดต้อหิน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้าและตามด้วยหัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะขัด ปัสสาวะไหลช้า

มีข้อควรระวังการใช้โพรแพนธีลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรแพนธีลีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน โรคทางเดินอาหารอุดตัน/โรคลำไส้อุดตัน โรคทางเดินปัสสาวะอุดตัน/ปัสสาวะขัด อาการแผลบริเวณลำไส้ใหญ่/ลำไส้ใหญ่อักเสบในระยะรุนแรง โรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โรคความดันโลหิตสูง โรคต่อมลูกหมากโต โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ระหว่างใช้ยานี้ ระวังการเกิดอาการเป็นลมแดด มีไข้ จึงควรรับประทานน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพรแพนธีลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกร ประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โพรแพนธีลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพรแพนธีลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้โพรแพนธีลีนร่วมกับยากลุ่ม MAOIs, TCAs, Phenothiazines, ยาต้านฮีสตามีน(Antihistamine), จะทำให้การออกฤทธิ์ของยาโพรแพนธีลีนมีมากยิ่งขึ้น จนอาจก่อผลข้างเคียงที่รุนแรง กรณีมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโพรแพนธีลีนร่วมกับยาชนิดรับประทานใดๆก็ตาม อาจทำให้การดูดซึมของยาต่างๆเหล่านั้นลดน้อยลง ด้วยยาโพรแพนธีลีนมีผลชะลอการบีบตัวของกระเพาะอาหาร และลำไส้ จึงควรใช้ยาโพรแพนธีลีนเฉพาะตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยาโพรแพนธีลีนร่วมกับยา Domperidone, Cisapride, และ Metoclopramide, จะเกิดฤทธิ์ต่อต้านในด้านการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโพรแพนธีลีนร่วมกับยากลุ่ม Parasympathomimetics drug ด้วยจะเกิดฤทธิ์ต่อต้านซึ่งกันและกัน
  • ห้ามรับประทานยาโพรแพนธีลีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ด้วยจะก่อให้เกิดอาการง่วงนอน และวิงเวียนมากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาโพรแพนธีลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาโพรแพนธีลีน ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โพรแพนธีลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพรแพนธีลีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Pro-banthine (โพร-แบนทีน)Haupt Pharma

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Pepler, Serebanthine, Ulsedin

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Propantheline_bromide [2016,Nov12]
  2. https://www.drugs.com/cdi/propantheline.html [2016,Nov12]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/propantheline-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Nov12]
  4. http://www.mims.com/malaysia/drug/info/propantheline?mtype=generic [2016,Nov12]
  5. http://docs.boehringer-ingelheim.com/Prescribing%20Information/PIs/Roxane/Propantheline/Propantheline%20Bromide%20Tablets.pdf [2016,Nov12]