โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin)

บทความที่เกี่ยวข้อง
โพรสตาแกลนดิน

โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ย่อว่า พีจี/PG เป็นสารประกอบหนึ่งของไขมัน โดย ร่างกายสร้างจากกรดไขมัน สารนี้มีคุณสมบัติเหมือนฮอร์โมน แต่ไม่ได้สร้างจากต่อมไร้ท่อจึงไม่จัดเป็นฮอร์โมน โพรสตาแกลนดินสร้างได้จากทุกเนื้อเยื่อของร่างกาย ซึ่งร่างกายจะสร้าง สารนี้เมื่อเนื้อเยื่อเหล่านั้นเกิดบาดเจ็บหรือติดเชื้อ โดยเซลล์เนื้อเยื่อเหล่านั้นจะสร้างสารโพรสตาแกลนดินตอบสนองต่อการบาดเจ็บ/ติดเชื้อเหล่านั้นที่เรียกว่า “กระบวนการเกิดการอักเสบ” นั่นเอง

โพรสตาแกลนดินยังแบ่งย่อยได้เป็นหลายชนิดที่จะออกฤทธิ์ในเนื้อเยื่อที่ต่างกัน โดยใช้ตัวอักษรเป็นตัวกำกับบอกชนิดย่อยเช่น PGA, PGB, PGC, PGD, PGE ฯลฯ เป็นต้น นอกจากนั้น ชนิดย่อยเหล่านี้ยังแยกได้ย่อยๆอีกหลากหลายชนิดโดยใช้ตัวเลขกำกับเพิ่มเติมเช่น PGE2, PGI1 เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของตำรับของโพรสตาแกลนดินในแต่ละชนิดของเนื้อเยื่อ

โพรสตาแกลนดินมีหน้าที่หลากหลายมากมาย นอกจากเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ/อักเสบ(ก่ออาการปวด บวม แดง ร้อน ของเนื้อเยื่อ) แล้ว ยังเกี่ยวข้องสำคัญกับอาการเจ็บ/ปวด นอก จากนั้น สารนี้ยังเกี่ยวข้องกับการบีบตัว/หดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบโดยเฉพาะกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก (สารนี้จึงนำมาผลิตเป็นยากระตุ้นการคลอดบุตร และยาต้านสารนี้นิยมใช้เป็นยาแก้ปวดประจำเดือน), ช่วยลดความดันในลูกตา, ทำให้เกิดการจับตัวของเกล็ดเลือดช่วยการแข็งตัว ของเลือด, ช่วยการทำงานของฮอร์โมนต่างๆ, ช่วยการเจริญเติบโตของเซลล์, ออกฤทธิ์ต่อเซลล์สมองในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย, ช่วยการทำงานของไต และยังช่วยลดการหลั่งกรดของกระ เพาะอาหาร ฯลฯ

ทางการแพทย์ได้นำความรู้ในเรื่องของสารโพรสตาแกลนดินมาผลิตเป็นยาต่างๆเช่น ยาแก้ปวด (เช่นยากลุ่มเอ็นเสด/NSAID เช่น Aspirin, Ibuprofen, Mefenamic), ยากระตุ้นการคลอด (เช่น Misoprostol ) เป็นต้น

บรรณานุกรม

1. http://lipidlibrary.aocs.org/Lipids/eicprost/index.htm [2015,July4]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Prostaglandin [2015,July4]
3. http://medical-dictionary.thefreedictionary.com/prostaglandin [2015,July4]