โพรพิลีน ไกลคอล (Propylene glycol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โพรพิลีน ไกลคอล(Propylene glycol) จัดเป็นสารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่ง สูตรเคมีคือ C3H8O2 ลักษณะเป็นของเหลวใสที่มีความหนืด ไร้กลิ่น และมีรสหวานเล็กน้อย หลายประเทศมีประวัติการใช้สารประกอบนี้มาเป็นเวลายาวนานกว่า 50 ปี

ในทางเภสัชกรรม สารประกอบโพรพิลีน ไกลคอล สามารถใช้เป็นตัวทำละลายตัวยาในสูตรตำรับยาต่างๆ อาทิ ยาทาภายนอก, ยาชนิดรับประทานและยาฉีด

โพรพิลีน ไกลคอล มักถูกนำมาเป็นส่วนผสมของกลุ่มยาจำพวกวิตามินชนิดต่างๆ ด้วยสารชนิดนี้มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความคงตัวให้กับวิตามินได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้วิตามินหรือตัวยาที่ไม่ค่อยละลายน้ำสามารถกระจายตัวในน้ำได้มากขึ้น

ข้อดีของสารประกอบโพรพิลีน ไกลคอล นี้คือ สามารถสลายตัวเมื่ออยู่ในน้ำจืด น้ำทะเล หรือในดิน จึงอาจกล่าวได้ว่า สารโพรพิลีน ไกลคอลไม่สะสมในธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามต้องเพิ่มความระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีโพรพิลีน ไกลคอลเป็นองค์ประกอบกับกลุ่มเด็กๆ เพราะเคยเกิดกรณีเด็กมีอาการแพ้ทางผิวหนัง หรือกรณีผู้ได้รับยาฉีดที่มีโพรพิลีน ไกลคอลเป็นส่วนผสมก็สามารถกระตุ้นให้เม็ดเลือดแตก, กดการทำงานระบบประสาทส่วนกลาง, หรือก่อให้เกิดภาวะเป็นกรดในร่างกายได้เช่นกัน

ประโยชน์ของโพรพิลีน ไกลคอลมีอะไรบ้าง?

โพรพิลีนไกลคอล

ประโยชน์ของโพรพิลีน ไกลคอลมีดังนี้ เช่น

1. เป็นตัวทำละลายในสูตรตำรับยาแผนปัจจุบัน

2. เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารประเภท เครื่องดื่ม ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์นม ด้วยสารชนิดนี้มีรสหวาน

3. เป็นตัวเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังโดยนำไปเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง

4. เป็นสารต้านการจับตัวของน้ำแข็งในอุตสาหกรรมยานยนต์

โพรพิลีน ไกลคอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ โพรพิลีน ไกลคอล ตามสัดส่วนที่ถูกต้องและเหมาะสมจะก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคได้ก็จริง แต่มีผู้บริโภคบางรายอาจมีอาการแพ้สารประกอบชนิดนี้ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของแต่ละบุคคล

ในทางคลินิกเคยมีรายงานที่กล่าวถึงผลข้างเคียงของ โพรพิลีน ไกลคอล ดังนี้ เช่น

  • กรณียาฉีดที่มีองค์ประกอบของ โพรพิลีน ไกลคอล อาจกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับ มีอาการ หลอดเลือดดำบริเวณที่ฉีดยาเกิดอาการอักเสบ หรือการให้ยาที่มีส่วนผสมของ โพรพิลีน ไกลคอลเข้าหลอดเลือดเร็วเกินไป จะส่งผลกดการหายใจของผู้ป่วย เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ความดันโลหิตต่ำ หรือมีอาการชัก ในผู้ป่วยเด็ก มักจะพบเห็นอาการชักและเกิดภาวะกดการหายใจเด่นกว่าอาการอื่น
  • กรณียาทาผิวหนังภายนอกที่มีโพรพิลีน ไกลคอลเป็นองค์ประกอบ อาจก่อให้เกิด อาการแสบคัน ระคายเคือง บริเวณผิวหนังที่ทายาที่มีส่วนผสมสารนี้

มีข้อควรระวังการใช้โพรพิลีน ไกลคอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โพรพิลีน ไกลคอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้สารประกอบนี้
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีโพรพิลีน ไกลคอลเป็นองค์ประกอบตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา หรือเอกสารกำกับการใช้ของผลิตภัณฑ์
  • ห้ามมิให้ผลิตภัณฑ์ที่มีองค์ประกอบของโพรพิลีน ไกลคอลเข้าตา
  • ถึงแม้สารประกอบนี้จะไม่สะสมในสภาพแวดล้อมด้วยมีการสลายตัวในธรรมชาติก็จริง แต่ก็ไม่ควรทำลายโพรพิลีน ไกลคอลโดยทิ้งลง แม่น้ำลำคลอง ทะเล หรือพื้นดิน ด้วยอาจเกิดการรบกวนสมดุลทางชีวภาพในสภาพแวดล้อมได้
  • ไม่ใช้โพรพิลีน ไกลคอลที่หมดอายุมาเป็นวัตถุดิบในการ ผลิตยา เครื่องสำอาง ตลอดจนกระทั่งผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ

ควรเก็บรักษาโพรพิลีน ไกลคอลอย่างไร?

ควรเก็บรักษาโพรพิลีน ไกลคอล เช่น

  • เก็บผลิตภัณฑ์ที่มีโพรพิลีน ไกลคอลเป็นองค์ประกอบให้ตรงตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์
  • ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์ในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ
  • เก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะที่ ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ทิ้งผลิตภัณฑ์ลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

โพรพิลีน ไกลคอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ตัวอย่างวัตถุดิบ โพรพิลีน ไกลคอลที่ มีจำหน่ายในท้องตลาดดังนี้ เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Propylene Glycol (โพรพิลีน ไกลคอล)P.WAI
Propylene Glycol (โพรพิลีน ไกลคอล)Down Chemical

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/inactive/propylene-glycol-270.html[2019,Sept7]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Propylene_glycol [2019,Sept7]
  3. http://www.idesapetroquimica.com/data/nuestros_productos/hoja_seguridad/en_producto_11/MSDS%20MPG%20EN%202016.pdf[2019,Sept7]
  4. https://pwai.co.th/product/propyleneglycol-usp/?gclid=Cj0KCQjw2K3rBRDiARIsAOFSW_7OPasqkwi7M9YiFfLmMCFCAsI4Zs5WyZw8PDjHQs6kaLthEKdTRk8aAqNcEALw_wcB[2019,Sept7]
  5. http://www.bizwell.co.th/GLYCOL/57fcace4fcb7ed00013740f3 [2019,Sept7]