โพรพาฟีโนน (Propafenone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโพรพาฟีโนน (Propafenone หรือ Propafenone hydrochloride/HCl) เป็นหนึ่งในกลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Anti-arrhythmic medication) โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อหัวใจ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยานี้สามารถถูกดูดซึมได้เป็นอย่างดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนถึงประมาณ 95% ยานี้สามารถซึมผ่านเข้ารกและน้ำนมของมารดาได้ การทำลายโครงสร้างของยานี้จะเกิดที่ตับโดยใช้เอนไซม์ที่มีชื่อเรียกว่า Cytochrome P450 isoenzyme และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2–10 ชั่วโมงเพื่อขับยานี้ทิ้งโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาโพรพาฟีโนนมักจะถูกใช้กับผู้ป่วยเมื่อแพทย์ตรวจพบอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่สถานพยาบาล ก่อนการใช้ยานี้แพทย์จะทำการประเมินคลื่นไฟฟ้าหัวใจ(ECG)และความดันโลหิตของผู้ป่วยก่อนว่าผิดปกติหรือไม่และอย่างไร ขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วย จะมีความแตกต่างกันตามอาการและความรุนแรงของโรค

โดยทั่วไป การรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยยาโพรพาฟีโนนต้องอาศัยการรับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์แนะนำ ประกอบกับต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจร่างกายจากแพทย์ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดในการใช้ยาโพรพาฟีโนนอยู่หลายประการที่ทำให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยานี้เพื่อการรักษาผู้ป่วยได้ เช่น

  • ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยาโพรพาฟีโนนมาก่อน
  • ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจล้มเหลวที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือผู้ป่วยอยู่ใน ภาวะช็อกจากโรคหัวใจ หรือผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นช้าผิดปกติ หรือมีความดันโลหิตต่ำอย่างมาก หรือมีภาวะหอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่มีภาวะเกลืออิเล็กโทรไลต์(Electrolyte)ในร่างกายผิดปกติ
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจที่เรียกว่า ภาวะ Brugada syndrome(โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อย โดยพบมีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่รุนแรงจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตทันทีได้)
  • ผู้ที่มีการใช้ยาอื่นๆบางตัว ถือเป็นรายการยาที่ห้ามใช้กับยาโพรพาฟีโนนด้วยก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)จนส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ใช้ยาเหล่านี้ร่วมกันกับยาโพรพาฟีโนน ยาอื่นๆดังกล่าว เช่นยา Amiodarone, Quinidine, Asenapine/ยาทางจิตเวช, Cisapride, Citalopram, Ritonavir, Halofantrine/ยาต้านมาลาเรีย, Erythromycin, Nilotinib/ยารักษามะเร็ง, Pasireotide/ยารักษาโรคCushing disease, Ciprofloxacin, Telithromycin, Tetrabenazine, Toremifene, Ziprasidone/ยารักษาทางจิตเวช

มีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางประเภทที่จำเป็นต้องใช้ยาโพรพาฟีโนน ที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ อาทิเช่น ผู้ป่วยโรคไต โรคตับ โรคปอด โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยที่มีการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร โดยกรณีที่พบว่าใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ด้วยมีรายงานทางคลินิกว่า ยานี้อาจส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะแย่ลงกว่าเดิม

มีข้อสังเกตสำหรับการใช้ยาโพรพาฟีโนนในบุรุษ อาจทำให้จำนวนอสุจิลดต่ำลงจนกระทบความสามารถในการมีบุตร ยานี้ยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร รวมถึงผิวหนัง หากพบว่าหลังการใช้ยานี้แล้วเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น อาเจียน เหงื่อออกมาก เบื่ออาหาร กระหายน้ำ หรือท้องเสีย อาการเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยจึงควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้บรรจุให้ยาโพรพาฟีโนนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุเงื่อนไขการใช้ยาโพรพาฟีโนนดังนี้

1. ใช้กับผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นควบคุมการเต้นของหัวใจไม่ได้ผล

2. ใช้สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Refractory supraventricular tachyarrhythmias

อนึ่ง เราสามารถพบเห็นการใช้ยาโพรพาฟีโนนได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและของเอกชน ซึ่งหากผู้ป่วยหากมีข้อสงสัยการใช้ยาโพรพาฟีโนนเพิ่มเติม ผู้ป่วย/ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลของยานี้จากแพทย์หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

โพรพาฟีโนนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โพรพาฟีโนน

ยาโพรพาฟีโนนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิดต่างๆ เช่น หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ(Atrial fibrillation), หัวใจห้องบนเต้นถี่ (Atrial flutter), หัวใจห้องล่างเต้นเร็ว (Ventricular tachycardia), ภาวะWolff-Parkinson-White syndrome(หัวใจเต้นผิดปกติจากคลื่นไฟ้หัวใจผิดปกติ)

โพรพาฟีโนนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโพรพาฟีโนนมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะส่งผลชะลอการนำเข้าประจุเกลือโซเดียมเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นเหตุให้ลดการกระตุ้นที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติตามเดิมและเป็นที่มาของสรรพคุณ

โพรพาฟีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพรพาฟีโนนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยตัวยา Propafenone HCl ขนาด 150, 225, และ300 กรัม/เม็ด

โพรพาฟีโนนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโพรพาฟีโนนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาขนาด 150 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร หลังจากนั้น 3-4 วัน แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 300 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยการใช้ยานี้กับเด็ก

อนึ่ง:

  • ห้ามเคี้ยวยานี้ก่อนกลืน ให้กลืนยาพร้อมน้ำดื่มอย่างเพียงพอ
  • สำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 70 กิโลกรัม แพทย์จะลดขนาดรับประทานลงมาโดยเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ระหว่างใช้ยานี้ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ ความดันโลหิต เป็นระยะๆตามแพทย์สั่ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโพรพาฟีโนน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพรพาฟีโนนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโพรพาฟีโนน สามารถรับประทานทันทีที่เมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติ

อย่างไรก็ดี การหยุดหรือลืมรับประทานยาโพรพาฟีโนน อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ กำเริบได้

โพรพาฟีโนนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพรพาฟีโนนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เลือดแข็งตัวช้าลง/เกล็ดเลือดต่ำ เกิดภาวะLeukopenia/เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ไม่สบายในช่องท้อง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ เดินเซ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้าจนถึงหยุดเต้น
  • ผลต่อตับ: เช่น เป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน นอนไม่หลับ ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก/หลอดลมหดตัว

มีข้อควรระวังการใช้โพรพาฟีโนนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรพาฟีโนน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีเม็ดยาเปลี่ยนไป เม็ดยาชื้น เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้นจนเกิดอันตรายได้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • หลังใช้ยานี้แล้ว ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันนัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพรพาฟีโนนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โพรพาฟีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพรพาฟีโนนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโพรพาฟีโนนร่วมกับยา Amiodarone, Atazanavir ด้วยจะเกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามใช้ยาโพรพาฟีโนนร่วมกับยา Ritonavir ด้วยจะทำให้เกิด อาการแน่นหน้าอก หายใจขัด/หายใจลำบาก ตามมา
  • การใช้ยาโพรพาฟีโนนร่วมกับยาColchicine สามารถทำให้ระดับยา Colchicine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเกิดผลข้างเคียงต่อ ระบบประสาท กล้ามเนื้อ เซลล์เม็ดเลือด และอวัยวะอื่นๆที่รวมถึงตับด้วย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโพรพาฟีโนน ร่วมกับยาTamoxifen ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษามะเร็งเต้านมของยาTamoxifen ด้อยลงไป

ควรเก็บรักษาโพรพาฟีโนนอย่างไร?

ควรเก็บยาโพรพาฟีโนนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

โพรพาฟีโนนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพรพาฟีโนน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Rytmonorm (ริทโมนอร์ม)Abbott

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Rythmol SR, Rythmol

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/propafenone.html [2017,Feb25]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Propafenone [2017,Feb25]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/propafenone/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb25]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/28#item-8394 [2017,Feb25]
  5. https://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/Rishum_1_229607916.PDF [2017,Feb25]
  6. https://www.drugs.com/sfx/propafenone-side-effects.html#refs [2017,Feb25]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/propafenone-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Feb25]