โพรพราโนลอล (Propranolol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาโพรพราโนลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาโพรพราโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโพรพราโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโพรพราโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโพรพราโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรพราโนลอลอย่างไร?
- ยาโพรพราโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโพรพราโนลอลอย่างไร?
- ยาโพรพราโนลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)
- โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ โรคสั่นอีที (Essential tremor)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ไมเกรน (Migraine)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- เจ็บหน้าอก (Chest pain)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
บทนำ
ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ถูกนำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง รักษาอาการวิตกกังวล ภาวะหัวใจขาดเลือด (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ) ไมเกรน และอื่นๆ
องค์การอนามัยโลกจัดให้โพรพราโนลอลเป็นยาจำเป็นระดับขั้นมูลฐานของแต่ละประเทศ ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุยาโพรพราโนลอลลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยาโพรพราโนลอลในร่างกายพบว่า โพรพราโนลอล จะจับกับโปรตีนในเลือดประมาณ 90% และถูกเปลี่ยนโครงสร้างเคมีโดยอวัยวะตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3 - 6 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยส่วนใหญ่จะผ่านไปกับปัสสาวะ
โพรพราโนลอลจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย การใช้ยาอย่างปลอดภัยและเหมาะสม ต้องเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยาโพรพราโนลอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโพรพราโนลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้รักษาความดันโลหิตสูง ภาวะเจ็บหน้าอกเนื่องจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ
- ช่วยควบคุมอาการสั่นหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอันมีสาเหตุจากโรควิตกกังวล โรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง (โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ)
- รักษาโรคหัวใจที่มีกล้ามเนื้อหัวใจหนา
- ป้องกันโรคไมเกรน
ยาโพรพราโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
โพรพราโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการทำงานของ B1 และ B2 receptors (ตัวรับ/Receptor ในกล้ามเนื้อหัวใจ ที่มีหน้าที่ช่วยให้หัวใจทำงานได้ปกติ) ทำให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจ และยังส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ตลอดจนถึงลดความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจ ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงทำให้โพรพราโนลอลมีฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ
ยาโพรพราโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโพรพราโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นรูปแบบยาเม็ด ขนาด 10 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาโพรพราโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโพรพราโนลอลมีขนาดรับประทานดังนี้
ก. รักษาความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นที่ 40 - 80 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น และสามารถปรับขนาดรับประทานเป็น 160 - 320 มิลลิกรัมต่อวัน หรือถ้าใช้ยาในรูปแบบออกฤทธิ์นาน (Extended release tablet) รับประทานเริ่มต้นที่ 80 มิลลิกรัม วันละครั้ง แล้วปรับขนาดรับประ ทานเป็น 120 - 160 มิลลิกรัม วันละครั้ง ขนาดสูงสุดของการรับประทานต้องไม่เกิน 640 มิลลิ กรัมต่อวัน
- เด็ก: คำนวณจากน้ำหนักตัว เริ่มต้นรับประทาน 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยการแบ่งรับประทาน อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 - 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น
ข. รักษาภาวะหัวใจขาดเลือด/โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction):
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง เป็นเวลา 2 - 3 วัน เพิ่มการรับประทานเป็น 80 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น และสามารถสลับและปรับเปลี่ยนการรับประทานเป็น 180 - 240 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- เด็ก: ภาวะนี้ไม่ค่อยพบในเด็ก จึงไม่มีคำแนะนำทั่วไปในการใช้ยานี้ในเด็ก
ค. รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmias):
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 30 - 160 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- เด็ก: รับประทานครั้งละ 250 - 500 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 3 - 4 ครั้ง
ง. ป้องกันโรคไมเกรน (Prophylaxis of migraine):
- ผู้ใหญ่: ขนาดรับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง จากนั้นเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 160 มิลลิกรัม/วัน และสามารถเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 240 มิลลิกรัม/วันถ้าจำเป็น ควรหยุดการใช้ยา หากการรักษาไม่ดีขึ้นภายใน 4 - 6 สัปดาห์ (ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาก่อน)
- เด็ก: การใช้ยาขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็ก อายุ และดุลพินิจของแพทย์
จ. รักษาอาการเจ็บหน้าอก (Angina pectoris):
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 2 – 3 ครั้ง อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 120 – 240 มิลลิกรัม/วัน หรือในผู้ป่วยบางรายต้องได้รับยาถึง 320 มิลลิกรัม/วัน สำหรับยาโพรพาโนลอลในรูปแบบที่ออกฤทธิ์นาน(Extended release) สามารถให้ผู้ป่วยรับประทานได้ 80 มิลลิกรัม วันละครั้ง และอาจเพิ่มขนาดรับประทานได้ ภายใน 3 – 7 วัน โดยปรับเป็น 160 มิลลิกรัม วันละครั้ง ขนาดสูงสุดของการรับประทานยาชนิดที่ออกฤทธิ์นานไม่เกิน 320 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: อาการนี้ไม่ค่อยพบในเด็ก จึงไม่มีคำแนะนำทั่วไปในการใช้ยานี้ในเด็ก
ฉ. รักษาโรคหัวใจที่มีกล้ามเนื้อหนา (Hypertrophic cardiomyopthy):
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 10 - 40 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็ก: โรคนี้ไม่ค่อยพบในเด็ก จึงไม่มีคำแนะนำทั่วไปในการใช้ยานี้ในเด็ก
ช. การรักษาอาการหัวใจเต้นเร็วในผู้ป่วยไทรอยด์ฮอร์โมนสูง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 10 - 40 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวของเด็ก และดุลพินิจของแพทย์
ซ. สนับสนุนการรักษาในผู้ป่วยโรควิตกกังวล:
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละครั้ง อาจเพิ่มเวลารับประทานเป็นวันละ 2 – 3 ครั้ง หากจำเป็น
- เด็ก: โรคนี้ไม่ค่อยพบในเด็ก จึงไม่มีคำแนะนำทั่วไปในการใช้ยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ยาโพรพราโนลอล สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- การปรับเปลี่ยนขนาดและเวลาในการรับประทานยานี้ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นโดยเฉพาะในเด็ก
- ห้ามมิให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยานี้หรือปรับขนาดการรับประทานเอง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโพรพราโนลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโพรพราโนลอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโพรพราโนลอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาโพรพราโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโพรพาโนลอลสามารถก่อให้เกิดผล /อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- รู้สึกเย็นตามแขนขา
- นอนไม่หลับ
- อ่อนเพลีย
- วิงเวียน
- คลื่นไส้อาเจียน
- ท้องผูก
- รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร
- รู้สึกหงุดหงิด
- สับสน
- ซึมเศร้า
- จิตหลอน/ประสาทหลอน
- อาจพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น
- หัวใจล้มเหลว
- หัวใจหยุดเต้น
- และหลอดลมหดเกร็งตัวทำให้หายใจลำบาก
มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรพราโนลอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรพราโนลอล เช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจเต้นช้า (Sinus brady cardia) ผู้ป่วยที่อยู่ใน ภาวะช็อกด้วยอาการโรคหัวใจกำเริบ, ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ที่อยู่ในภาวะมีเลือดออกอย่างรุน แรง ผู้ที่มีภาวะความเป็นกรดในร่างกายสูง ผู้ป่วยด้วยหลอดเลือดแดงในระยะรุนแรง และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติระดับรุนแรง (2nd or 3rd degree heart block)
- ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยที่มีประวัติภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ดำ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่มีภาวะตับ - ไตทำงานผิดปกติ
- ยาโพรพราโนลอลสามารถเพิ่มความเสี่ยงของอาการหัวใจเต้นช้า และมีภาวะความดันโลหิตต่ำ (หน้ามืด วิงเวียน ได้ง่าย) หากพบอาการดังกล่าวควรต้องปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
- สำหรับผู้ป่วยสูงอายุ แนะนำให้ใช้ยาโพรพราโนลอลในรูปแบบที่ออกฤทธิ์นาน (Sustained -release preparations) ด้วยตัวยาจะค่อยๆออกฤทธิ์เหมาะต่อร่างกายของผู้สูงอายุ อีกทั้งช่วยป้องกันการลืมรับประทานยาในมื้อถัดไป
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพรพาโนลอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโพรพราโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโพรพราโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้
- การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ โดยอาจพบอาการปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม ชีพจรเต้นผิดปกติ หากเกิดอาการดังกล่าวต้องรีบส่งตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว ดังนั้นห้ามรับประทานยาโพรพราโนลอลร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับกลุ่มยาวิตามินผสมแร่ธาตุบำรุงร่างกาย อาจทำให้ฤทธิ์ในการรักษาของโพรพราโนลอลด้อยประสิทธิภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรปรับเวลาในการรับประทานให้ห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป
- การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับอาหาร จะทำให้การดูดซึมยาโพรพราโนลอลเข้าสู่ร่างกายดีขึ้นและส่งผลต่อการออกฤทธิ์ในการรักษา และควรรับประทานายาในเวลาเดียวกันในแต่ละวัน นอกจากมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากแพทย์
- การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับยาขยายหลอดลม เช่น Aminophylline จะส่งผลให้ฤทธิ์ในการรักษาของโพรพราโนลอลด้อยลงไป อีกทั้งทำให้ฤทธิ์ของ Aminophylline เพิ่มมากขึ้น โดยพบอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ สั่น ชีพจรเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดและระยะเวลาในการรับประทาน
- การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับยารักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี เช่น Atazanavir อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ วิงเวียน เป็นลม ควรต้องปรึกษาแพทย์เพื่อปรับขนาดยาและแนวทางการรักษาให้สอดคล้องกับอาการของผู้ป่วย
- การรับประทานโพรพราโนลอลร่วมกับยาลดความดันโลหิต เช่น Verapamil อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยามากยิ่งขึ้น เช่น มีอาการอ่อนแรง ปวดศีรษะ เป็นลม บวม น้ำหนักเพิ่ม หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ชีพจรเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดการรับประทานให้สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล
ควรเก็บรักษายาโพรพราโนลอลอย่างไร
ควรเก็บยาโพรพราโนลอล เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/ แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาโพรพราโนลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโพรพราโนลอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Alperol (อัลพิรอล) | Pharmasant Lab |
Betalol (เบตาลอล) | Berlin Pharm |
Betapress (เบตาเพรส) | Polipharm |
C.V.S. (ซี.วี.เอส) | T. Man Pharma |
Cardenol (คาร์ดินอล) | T.O. Chemicals |
Chinnolol (ชินโนลอล) | Chinta |
Emforal (เอ็มโฟรอล) | Remedica |
Idelol 10 (ไอดิลอล 10) | Medicine Products |
Inderal (อินดิรอล) | AstraZeneca |
Normpress (นอร์มเพรส) | Greater Pharma |
Palon (พาลอล) | Unison |
Perlol (เพอร์ลอล) | Asian Pharm |
P-Parol (พี-พารอล) | Osoth Interlab |
Pralol (พราลอล) | Pharmasant Lab |
Prolol (โพรลอล) | Atlantic Lab |
Pronalol (โพรนาลอล) | Burapha |
Propanol (โพรพานอล) | Utopian |
Propranolol GPO (โพรพาโนลอล จีพีโอ) | GPO |
Proral (โพรรอล) | Utopian |
Syntonol (ซินโทนอล) | Codal Synto |
บรรณานุกรม
1. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=propranolol [2020,Jan18]
2. http://www.mims.com/USA/drug/info/propranolol?type=full&mtype=generic#Dosage [2020,Jan18]
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Propranolol [2020,Jan18]
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/propranolol.html [2020,Jan18]