โพรคาเทอรอล (Procaterol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโพรคาเทอรอล(Procaterol หรือ Procaterol hydrochloride)เป็นยากลุ่มเบต้า 2-แอดริเนอร์จิก อะโกนิสท์ (Beta 2-adrenergic agonist) มีฤทธิ์เป็นยาขยายหลอดลม และมีระยะเวลาของการออกฤทธิ์นานในระดับกลางคือประมาณ 8 ชั่วโมง รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นในประเทศไทยของยานี้เป็นยาชนิดรับประทาน แต่ในต่างประเทศเคยผลิตยานี้ในรูปแบบยาสูดพ่นปาก แต่พบปัญหาเรื่องความคงตัวของตัวยาเมื่อสัมผัสกับอากาศ จึงอาจเป็นเหตุผลที่เราไม่ค่อยพบเห็นผลิตภัณฑ์แบบสูดพ่นในท้องตลาด

ยาโพรคาเทอรอลจะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ(Receptor)ในปอด/หลอดลมชนิดที่เรียกว่า Beta 2-adrenergic receptor ส่งผลทำให้หลอดลมคลายตัว ส่งผลทำให้อากาศไหลเวียนเข้าสู่ระบบการหายใจของร่างกายได้มากขึ้น ทางคลินิกจึง ใช้ยานี้เป็นยาบำบัดรักษาภาวะหลอดลมหดเกร็งแบบเฉียบพลัน

มีข้อควรระวังของการใช้ยาโพรคาเทอรอลกับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีโรคหืดที่มีความรุนแรงระดับกลางจนถึงขั้นรุนแรงมาก เพราะอาการป่วยหรือโรคประจำตัวดังกล่าวอาจเกิดความรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการใช้ยาโพรคาเทอรอล จึงถือเป็นข้อปฏิบัติที่ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกรว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไรทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา ซึ่งมีผลต่อเนื่องถึงยาประจำตัวชนิดต่างๆที่ผู้ป่วยใช้อยู่ก่อน ด้วยยาหลายรายการอาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)เมื่อใช้ร่วมกับยาโพรคาเทอรอล อาทิเช่น Acebutolol, Alfuzosin, Alprenolol, Amineptine, Amitriptyline, Atenolol, Betahistine, Betaxolol, Bisoprolol, Bromocriptine, Carteolol, Chlorothiazide, และยาอื่นๆ

อนึ่ง กรณีที่เกิดข้อผิดพลาด ผู้ป่วยได้รับยาโพรคาเทอรอลเกินขนาด ผู้ป่วยอาจแสดงออกด้วยอาการต่างๆ ดังนี้เช่น มีอาการเจ็บหน้าอกด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด วิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง อ่อนแรง มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำก็ได้ น้ำตาลในเลือดสูง นอนไม่หลับ เป็นตะคริว คลื่นไส้ กระสับกระส่าย หัวใจเต้นเร็ว อาจพบอาการตัวสั่น หรือมีอาการชัก หากพบอาการดังกล่าวให้ตั้งข้อสงสัยว่าได้รับยานี้เกินขนาด ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาโพรคาเทอรอลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย การใช้ยาชนิดนี้จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหามารับประทานด้วยตนเอง และเราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ในสถานพยาบาลทั้งรัฐ-เอกชน และสามารถซื้อหาได้จากร้านขายยาโดยทั่วไป

โพรคาเทอรอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โพรคาเทอรอล

ยาโพรคาเทอรอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ คือ ใช้บำบัดรักษาภาวะหลอดลมหดเกร็งแบบเฉียบพลัน (Acute bronchospasm)

โพรคาเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโพรคาเทอรอลมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะกระตุ้นตัวรับ Beta2-receptor ที่อยู่ภายในปอด/หลอดลม ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดลมคลายตัว ส่งผลลดอาการหดเกร็งของหลอดลม และทำให้อากาศไหลเวียนเข้าปอดได้สะดวกขึ้น จากกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โพรคาเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพรคาเทอรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของยา Procaterol hydrochloride ขนาด 25 และ 50 ไมโครกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของยา Procaterol hydrochloride ขนาด 5 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร

โพรคาเทอรอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโพรคาเทอรอลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 50 ไมโครกรัม วันละ 1 – 2 ครั้ง
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 25 ไมโครกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น
  • เด็กอายุตั้งแต่ 3 – 5 ปี: รับประทานยาครั้งละ 20 – 25 ไมโครกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 – 2 ปี: รับประทานยาครั้งละ 15 – 20 ไมโครกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น
  • เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี: รับประทานยาครั้งละ 10 – 15 ไมโครกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น

อนึ่ง: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโพรคาเทอรอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพรคาเทอรอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโพรคาเทอรอล ก็สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโพรคาเทอรอลตรงตามคำสั่งของแพทย์

โพรคาเทอรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพรคาเทอรอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการสั่นของกล้ามเนื้อเล็กน้อย กล้ามเนื้อเป็นตะคริว

มีข้อควรระวังการใช้โพรคาเทอรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพรคาเทอรอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
  • ห้ามใช้รักษาผู้ป่วยมีอาการหอบหืดที่มีความรุนแรงระดับปานกลางขึ้นไป
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามรับประทานยาโพรคาเทอรอลพร้อมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตามแพทย์สั่ง ตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวัน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกาย และดูความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโพรคาเทอรอลด้วย) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โพรคาเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพรคาเทอรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโพรคาเทอรอลร่วมกับยา Acebutolol, Alprenolol, Atenolol, อาจส่งผลทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาโพรคาเทอรอลด้อยลงไป เช่น ฤทธิ์ของการขยายหลอดลมต่ำกว่าเดิม หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโพรคาเทอรอลร่วมกับยา Chlorothiazide อาจส่งผลให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ กระทบต่อสมดุลเกลือแร่ในกระแสเลือด หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาโพรคาเทอรอลร่วมกับยากลุ่ม Dopamine อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาโพรคาเทอรอลมากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโพรคาเทอรอลร่วมกับยาลดความดันโลหิตอย่าง Doxazosin อาจทำ ให้ฤทธิ์การลดความดันโลหิตของยา Doxazosin ด้อยลง เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโพรคาเทอรอลอย่างไร?

ควรเก็บยาโพรคาเทอรอลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

โพรคาเทอรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพรคาเทอรอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Caterol (แคเธอรอล)Pharmasant Lab
Meptin (เมพทิน)Otsuka

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Procaterol [2017,Jan7]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/procaterol/?type=brief&mtype=generic [2017,Jan7]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01366 [2017,Jan7]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=procaterol [2017,Jan7]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Beta2-adrenergic_agonist#Short-acting_.CE.B22_agonists [2017,Jan7]