โปแตสเซียมไนเตรท (Potassium nitrate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- โปแตสเซียมไนเตรทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โปแตสเซียมไนเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โปแตสเซียมไนเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โปแตสเซียมไนเตรทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โปแตสเซียมไนเตรทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โปแตสเซียมไนเตรทอย่างไร?
- โปแตสเซียมไนเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโปแตสเซียมไนเตรทอย่างไร?
- โปแตสเซียมไนเตรทมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Silver nitrate
- หูด (Warts)
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- อาหารเสริม (Complementary foods)
- โพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia)
บทนำ
ยา/สารโปแตสเซียมไนเตรท/โพแทสเซียมไนเตรท(Potassium nitrate)เป็นสารประกอบประเภทเกลือ มีสูตรทางเคมี คือ KNO3 มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว เมื่อละลายน้ำจะเกิดการแตกตัวให้ประจุของโปแตสเซียม/โพแทสเซียม (K+) และไนเตรท (NO3-) เกลือโปแตสเซียมไนเตรทมีประโยชน์หลายประการเช่น ใช้ผลิตปุ๋ยเคมี ช่วยเร่งการสลายตัวของซากพืช ใช้ผลิตดอกไม้ไฟ เป็นส่วนผสมของดินปืน รวมถึงนำมาเป็นสารกันบูดในอุตสาหกรรมอาหาร
สำหรับประโยชน์ทางการแพทย์ ใช้โปแตสเซียมไนเตรท และโซเดียมฟลูออไรด์(Sodium fluoride) มาผสมในยาสีฟันเพื่อลดอาการเสียวฟัน อดีตเคยใช้เป็นยาบรรเทาอาการโรคหืด ประเทศไทยใช้เป็นยารักษาภาวะกรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และ ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทางคลินิกเราอาจจะไม่พบเห็นการใช้โปแตสเซียมไนเตรทถูกใช้เป็นยาเดี่ยว แต่มักจะพบในรูปแบบเป็นส่วนประกอบของสูตรตำรับ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสารไนเตรทที่แตกตัวออกมาจากโปแตสเซียมไนเตรท ช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว และส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ส่งผลให้เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารอย่างเพียงพอ นอกจากนี้โปแตสเซียมไนเตรทยังนำมาช่วยชดเชยภาวะการสูญเสียเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมของร่างกายเนื่องจากท้องเสีย หรือจากการอาเจียน อีกด้วย
ยา/สาร/เกลือโปแตสเซียมไนเตรทเคยถูกขนานนามว่า “Libido killer(ตัวฆ่าความรู้สึกทางเพศ)” มีรายงานว่าเกลือชนิดนี้จะทำให้สมรรถนะทางเพศในบุรุษลดน้อยลง ทั้งนี้ การบริโภคอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโปแตสเซียมไนเตรทเป็นปริมาณมากจะทำให้ร่างกายได้รับพิษจากเกลือชนิดนี้ ด้วยสารไนเตรทสามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้โดยกลไกจากแบคทีเรียในอวัยวะของระบบทางเดินอาหารจะ เปลี่ยนโปแตสเซียมไนเตรทไปเป็นโปแตสเซียมไนไตรท์ (Potassium nitrites) ซึ่งจัดเป็นสารที่มีอันตรายต่อร่างกาย และเป็นตัวกระตุ้นการกลายพันธุ์ของเซลล์ในสิ่งมีชีวิตให้เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง อาจด้วยเหตุผลนี้จึงมีหลายประเทศที่ออกกฎหมายห้ามนำเข้าอาหารที่ใช้โปแตสเซียมไนเตรทเป็นสารกันบูด
ก่อนการจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของโปแตสเซียมไนเตรท ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ หลีกเลี่ยงการเชื่อถือข้อมูลที่มิได้อ้างอิงจากหลักวิชาการ และสามารถสอบถามข้อมูลการใช้โปแตสเซียมไนเตรทเพิ่มเติม ได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป
โปแตสเซียมไนเตรทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
สารโปแตสเซียมไนเตรทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้ร่วมกับยาซิลเวอร์ไนเตรท (Silver nitrate) เป็นยารักษาโรคหูด
- ใช้ลดอาการเสียวฟันโดยใช้เป็นส่วนประกอบในยาสีฟัน
- ใช้เป็นสารกันบูดในอุตสาหกรรมอาหาร
โปแตสเซียมไนเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
โปแตสเซียมไนเตรทเป็นสารประกอบประเภทเกลืออนินทรีย์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค/เชื้อแบคทีเรีย โดยก่อให้เสียสมดุลของการดำรงชีวิตในแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการกระจายพันธุ์และตายลงในที่สุด
โปแตสเซียมไนเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
โปแตสเซียมไนเตรทรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีโปแตสเซียมไนเตรท 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ก้านป้ายยา (Application stick) ที่ประกอบด้วยตัวยา 2 ตัวคือ Silver nitrate 75% + Potasium nitrate 25%
โปแตสเซียมไนเตรทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้สารโปแตสเซียมไนเตรท ขึ้นอยู่กับว่าเกลือชนิดนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์หรือเภสัชภัณฑ์ประเภทใด หากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ควรต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา หรือปรึกษาเภสัชกรถึงการใช้ยาที่มีส่วนประกอบของโปแตสเซียมไนเตรทก่อนการตัดสินใจเลือกใช้เภสัชภัณฑ์ดังกล่าว
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยา/สารโปแตสเซียมไนเตรท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยา/แพ้สารทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยา/สารโปแตสเซียมไนเตรท อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
การรับประทานผลิตภัณฑ์ยาที่มีโปแตสเซียมไนเตรทเป็นส่วนประกอบควรต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา หากลืมรับประทานยานี้ก็สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โปแตสเซียมไนเตรทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยา/สารโปแตสเซียมไนเตรทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- กรณีสูดดมเกลือ/สาร/ยาโปแตสเซียมไนเตรทจะก่อให้เกิดการระคายเคืองในจมูก มีอาการไอ หายใจลำบาก
- หากสัมผัสกับตาจะเกิดการระคายเคืองตา ตาแดง คันตา และปวดตา
- การรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีโปแตสเซียมไนเตรทเป็นปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการริมฝีปากและเล็บ/นิ้ว มีสีคล้ำ ปวดท้อง วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งถ้าอาการรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
มีข้อควรระวังการใช้โปแตสเซียมไนเตรทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยา/สารโปแตสเซียมไนเตรท เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยา/แพ้สารนี้
- ห้ามใช้ยาประเภทโปแตสเซียมไนเตรทกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเอง และในเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยน แคปซูลแตกหัก หรือมีกลิ่นผิดปกติ
- ระวังการใช้ยา/สารนี้กับผู้ป่วย โรคไต โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคความดันโลหิตต่ำ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโปแตสเซียมไนเตรทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โปแตสเซียมไนเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยา/สารโปแตสเซียมไนเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีเกลือโปแตสเซียมไนเตรทร่วมกับยาขับปัสสาวะประเภทที่ทำให้เกิดการดูดกลับของเกลือโปแตสเซียมจากหน่วยไต ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดสูง เช่นยา Spironolactone
- การใช้โปแตสเซียมไนเตรทชนิดรับประทานร่วมกับยาลดความดันโลหิต อย่างเช่น ACE inhibitors สามารถทำให้ระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดเพิ่มขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาโปแตสเซียมไนเตรทอย่างไร?
ควรเก็บยา/สารโปแตสเซียมไนเตรทภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
โปแตสเซียมไนเตรทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยา/สารโปแตสเซียมไนเตรทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Potassium nitrate 250 mg (โปแตสเซียมไนเตรท 250 มิลลิกรัม) | NutriGuard |
อนึ่ง ชื่อการค้าของยา/สารนี้ในต่างประเทศ เช่น Nitra, Dentra-K, Nitra-Or, Sensaid, Sensodent, Sensodyne, Sensodent-K
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Potassium_nitrate#Pharmacology [2017,Jan28]
- http://www.livestrong.com/article/104152-potassium-nitrate/ [2017,Jan28]
- https://www.drugs.com/dosage/potassium-citrate.html [2017,Jan28]
- http://th.bodybuilding.com/store/iforce-nutrition/potassium-nitrate.html?&_requestid=4238110 [2017,Jan28]
- https://www.drugs.com/cdi/sodium-fluoride-potassium-nitrate.html [2017,Jan28]
- http://www.nutriguard.com/vitamin-store/minerals/54-potassium-nitrate.html [2017,Jan28]
- http://www.diethealthclub.com/articles/498/diet-and-wellness/potassium-nitrate-preservative-you-should-avoid.html [2017,Jan28]
- http://www.livestrong.com/article/209207-what-are-the-dangers-of-potassium-nitrate/ [2017,Jan28]
- http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-851-potassium.aspx?activeingredientid=851&activeingredientname=potassium [2017,Jan28]