โปแตสเซียมซิเตรท (Potassium citrate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโปแตสเซียมซิเตรท/โพแทสเซียมซิเตรท (Potassium citrate) ถูกผลิตโดยนำเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียม (Potassium) มาทำปฏิกิริยากับกรดซิตริก (Citric acid, กรดที่มีฤทธิ์อ่อนชนิดหนึ่ง) จะได้สารที่มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ชื้นง่าย ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารโดยใช้เป็นตัวควบคุมความเป็นกรดของกระบวนการผลิตอาหาร สำหรับทางยา โปแตสเซียมซิเตรทถูกใช้เพื่อควบคุมการเกิดนิ่วในไตที่มีสาเหตุจากกรดยูริคหรือกรดอะมิโนที่มีชื่อเรียกว่า ซีสทีน (Cystine)

ยาโปแตสเซียมซิเตรทสามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร และจะถูกขับออกผ่านไปกับปัสสาวะ เมื่อเกลือชนิดนี้อยู่ในกระแสเลือดจะทำให้เลือดมีสภาวะเป็นด่าง จึงใช้บรรเทาอาการปวดขณะปัสสาวะอันมีสาเหตุจากปัสสาวะมีความเป็นกรดสูง โปแตสเซียมซิเตรทยังนำไปใช้ร่วมรักษาผู้ป่วยโรคเกาต์และผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะเนื่องจากมีเกลือโปแตสเซียมเป็นปริมาณต่ำอีกด้วย

ยังมีเงื่อนไขและข้อห้ามบางประการที่ต้องกล่าวถึงก่อนการนำโปแตสเซียมซิเตรทมาใช้ใน ทางคลินิกเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้สารหรือส่วนประกอบอื่นที่มีอยู่ในเกลือโปแตสเซียมซิเตรท
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะเกลือโปแตสเซียมสูงอยู่แล้ว หรือผู้ที่ได้รับพิษจากเกลืออะลูมิเนียม (Aluminium salt) เกลือที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิดเช่น การทำน้ำดื่ม อุตสาหกรรมกระ ดาษ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยด้วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคไต โรคหัวใจ ลำไส้อุดตัน หรือมีการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ อาการของโรคดังกล่าวไม่เหมาะสมที่จะใช้ยาโปแตสเซียมซิเตรท
  • ผู้ป่วยบางรายมีการบริโภคยาและ/หรืออาหารเสริมที่มีโปแตสเซียมเป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว หากได้รับโปแตสเซียมซิเตรทเข้าไปโดยมิได้ผ่านการคัดกรองอย่างดี อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยเองจากทำให้มีโปแตสเซียมสูงในเลือดสูง (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์) และควรถือปฏิบัติที่จะต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบว่าปัจจุบันใช้ยาและ/หรืออาหารเสริมประเภทใดอยู่
  • การได้รับยาโปแตสเซียมซิเตรท แพทย์อาจจะต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยเป็นระยะๆไป ทั้งนี้ต้องประเมินผลการทำงานของหัวใจว่ายังปกติดีหรือไม่หลังจากใช้ยานี้
  • สำหรับสตรีอาจได้รับคำถามว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่ ด้วยข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อการสั่งจ่ายยาของแพทย์
  • แพทย์มักจะแจ้งให้ทราบถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากยานี้ รวมถึงหากมีอาการแพ้โปแตส เซียมซิเตรทให้หยุดการใช้ยาแล้วกลับมาพบแพทย์ไปโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ สาร/ยาประเภทเกลือโปแตสเซียมที่วางจำหน่ายในตลาดยามีอยู่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นโปแตสเซียมซิเตรท โปแตสเซียมกลูโคเนต (Potassium gluconate) โปแตสเซียมคลอไรด์(Potassium chloride) โปแตสเซียมไอโอไดด์ (Potassium iodide) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ขนาดการใช้ที่แตกต่างแยกย่อยลงไปอีก ดังนั้นก่อนการใช้ยาใดๆที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ผู้บริโภคควรได้รับคำสั่งจากแพทย์ หรือขอข้อมูลการใช้ยาได้จากเภสัชกรใกล้บ้านก่อนเสมอ

โปแตสเซียมซิเตรทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โปแตสเซียมซิเตรท

ยาโปแตสเซียมซิเตรทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • รักษานิ่วในไต
  • รักษาภาวะซิเตรท (Citrate, เกลือที่ใช้คงสมดุลความเป็นกรด-ด่างในร่างกาย) ในร่าง กายต่ำเช่น ในผู้ป่วยโรคไต หรือพิษจากยาขับปัสาวะ
  • ใช้ปรับสภาพปัสสาวะที่มีฤทธิ์เป็นกรดเช่น เมื่อมีการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ใช้ป้องกันการเกิดโรคเกาต์

โปแตสเซียมซิเตรทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโปแตสเซียมซิเตรทคือ ตัวยาจะทำให้เกิดสภาพของเลือดมีความเป็นด่างมากขึ้น มีผลเพิ่มค่าความเป็นกรด-ด่าง หรือ pH ในทางเดินปัสสาวะ เกลือซิเตรทในตัวยาจะเข้าจับตัวกับแคลเซียมในปัสสาวะ ทำให้เกิดเป็นสารที่ละลายน้ำและไม่ตกตะกอนเป็นก้อนนิ่ว ส่วนเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในตัวยาจะชดเชยและสร้างสมดุลของเกลือแร่ใหม่ให้กับร่างกายผู้ป่วย ประการสำคัญ ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะโปแตสเซียมในเลือดเกิน (สูง) อยู่แล้ว

โปแตสเซียมซิเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโปแตสเซียมซิเตรทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5 และ 10 มิลลิอิควิวาเลนท์ (Milliequivalent, หน่วยใช้ในสารที่เป็นเกลือแร่)/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์เนิ่นนาน (Extended-release tablet) ขนาด 5, 10, 15 มิลลิอิควิวาเลนท์/เม็ด

โปแตสเซียมซิเตรทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโปแตสเซียมซิเตรทมีขนาดรับประทานต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรค/อาการ ตลอดจนโรคร่วมอื่นๆที่ผู้ป่วยมีร่วมด้วย ยานี้จึงต้องรับประทานตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามรับประทานยานี้เอง

ควรรับประทานยานี้พร้อมมื้ออาหารเพื่อลดอาการระคายเคือง ห้ามหยุดการใช้ยานี้หรือปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง

ขนาดรับประทานของยานี้ในแต่ละอาการ/โรค และวัตถุประสงค์การใช้ยามีข้อแตกต่างกันออกไป รวมถึงระดับความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่ ผู้ป่วยบางรายอาจรับประทานยาเพียงระดับต่ำๆวันละ 2 ครั้ง แต่บางรายอาจต้องรับประทานในปริมาณที่มากขึ้นเป็นเท่าตัว ด้วยอาการโรครุนแรงกว่าเช่น การขาดเกลือซิเตรท (Citrate salt, เกลือที่ใช้คงสมดุลความเป็นกรด-ด่างในร่าง กาย) ในร่างกาย เป็นต้น

ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างการใช้ยาโปแตสเซียมซิเตรทรักษาโรคนิ่วในไตดังนี้เช่น

ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 10 ปี 9 เดือน:

  • กรณีที่ผู้ป่วยมีเกลือซิเตรทในปัสสาวะน้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/วัน (แพทย์ทราบได้จากการตรวจสารนี้ในปัสสาวะ) รับประทานยานี้ขนาด 60 มิลลิอิควิวาเลนท์/วันโดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้งพร้อมมื้ออาหาร
  • กรณีที่ผู้ป่วยมีเกลือซิเตรทในปัสสาวะมากกว่า 150 มิลลิกรัม/วัน แพทย์อาจให้รับประทานยานี้ขนาด 30 มิลลิอิควิวาเลนท์/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง พร้อมมื้ออาหาร
  • ขนาดรับประทานสูงสุดของยานี้ไม่ควรเกิน 100 มิลลิอิควิวาเลนท์/วัน

เด็กที่มีอายุ 8 ปี 6 เดือนถึง 10 ปี 9 เดือน: ให้รับประทานยาขนาด 2 มิลลิอิควิวาเลนท์/วันโดยแบ่งรับประ ทานเป็น 3 ครั้ง จากนั้นแพทย์จะค่อยๆปรับขนาดรับประทานขึ้นเป็น 3 มิลลิอิควิวาเลนท์/วัน หลัง จากรับประทานยาช่วงแรกไปแล้ว 2 เดือน แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 4 มิลลิอิควิวาเลนท์/วันซึ่งเป็นขนาดรับประทานในช่วงสุดท้ายของการรักษา

การใช้ยานี้กับเด็กในช่วงอายุที่แตกต่างไปจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา เพราะยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่แนะนำขนาดยานี้ที่ชัดเจน

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโปแตสเซียมซิเตรท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโปแตสเซียมซิเตรทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโปแตสเซียมซิเตรทสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โปแตสเซียมซิเตรทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโปแตสเซียมซิเตรทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการปวดท้อง รู้สึกสับสน ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน

อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะส่งผลให้มีโปแตสเซียมสูงในเลือด สามารถพบเห็นอาการได้ดังนี้เช่น ปวดท้องมาก หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ กระสับกระส่าย ชามือ-เท้า-ปาก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง/เหนื่อยล้า รู้สึกหนักที่บริเวณขาทั้งสองข้าง

มีข้อควรระวังการใช้โปแตสเซียมซิเตรทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโปแตสเซียมซิเตรทเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในตัวยาโปแตสเซียมซิเตรท
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในร่างกายสูงเกินมาตรฐาน
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตวายด้วยจะทำให้มีภาวะโปแตสเซียมในกระแสเลือดเกิน/สูงและส่งผลทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและหยุดเต้นได้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามเคี้ยวยาโปแตสเซียมซิเตรทชนิดเม็ดก่อนกลืนด้วยจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารมากขึ้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • หากพบอาการแพ้ยานี้หรือมีอาการจากการรับประทานยานี้เกินขนาดต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • การใช้ยานี้ต้องดื่มน้ำตามปริมาณที่แพทย์แนะนำด้วยตัวยาเป็นสารประเภทเกลือแร่ที่ต้อง อาศัยน้ำในการละลายและกระจายตัว
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวม โปแตสเซียมซิเตรทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โปแตสเซียมซิเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโปแตสเซียมซิเตรทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาโปแตสเซียมซิเตรทร่วมกับยา Brompheniramine, Triprolidine (ยาแก้แพ้), Hyoscyamine, Chlorpheniramine, Pyrilamine (ยาแก้แพ้) จะกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหารจากตัวยาเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียม จนถึงขั้นทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเป็นแผลร่วมกับมีอาการปวดท้องมาก วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เพื่อป้องกันมิให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโปแตสเซียมซิเตรทกับยา Pseudoephedrine จะทำให้การออกฤทธิ์ของ Pseudo ephedrine เพิ่มมากขึ้น อาจพบอาการตัวสั่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน
  • การใช้ยาโปแตสเซียมซิเตรทกับยา Salsalate อาจทำให้ฤทธิ์และประสิทธิภาพการรักษาของ Salsalate ด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโปแตสเซียมซิเตรทร่วมกับยา Aspirin อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของ Aspirin ด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาโปแตสเซียมซิเตรทอย่างไร?

ควรเก็บยาโปแตสเซียมซิเตรทภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โปแตสเซียมซิเตรทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโปแตสเซียมซิเตรทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
USL 071 (ยูเอสแอล 071) Upsher-Smith Laboratories, Inc
Cor 148 (คอร์ 148) Corepharma LLC
Potassium citrate extended-release Zydus Pharmaceuticals (USA) Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Potassium_citrate#Uses [2015,Aug8]
  2. http://www.drugs.com/cdi/potassium-citrate.html [2015,Aug8]
  3. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-8836/potassium-citrate-oral/details [2015,Aug8]
  4. http://www.drugs.com/pro/potassium-citrate.html [2015,Aug8]
  5. http://www.drugs.com/imprints/usl-071-13111.html [2015,Aug8]
  6. http://www.drugs.com/imprints/cor-148-15780.html [2015,Aug8]
  7. http://www.drugs.com/dosage/potassium-citrate.html#Usual_Pediatric_Dose_for_Nephrolithiasis [2015,Aug8]
  8. http://www.drugs.com/drug-interactions/potassium-citrate-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Aug8]