โปแตสเซียมกลูโคเนต (Potassium gluconate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 24 สิงหาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- โปแตสเซียมกลูโคเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- โปแตสเซียมกลูโคเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โปแตสเซียมกลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โปแตสเซียมกลูโคเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โปแตสเซียมกลูโคเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โปแตสเซียมกลูโคเนตอย่างไร?
- โปแตสเซียมกลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโปแตสเซียมกลูโคเนตอย่างไร?
- โปแตสเซียมกลูโคเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การตรวจเลือด การเจาะเลือดตรวจ (Blood test)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีเคจี อึซีจี (Electrocardiogram หรือ EKG หรือ ECG)
- ตะคริว (Muscle cramp)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
บทนำ
ยาโปแตสเซียมกลูโคเนต หรือโพแทสเซียมกลูโคเนต (Potassium gluconate) ในทางคลิ นิกนำมาใช้บำบัดและป้องกันภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียม (Potassium) ของร่างกาย/ในเลือดต่ำ ปกติเกลือโปแตสเซียมจะมีหน้าที่สำคัญต่อร่างกายหลายประการเช่น เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ช่วยควบคุมความดันโลหิต สร้างสมดุลด้านการหดตัวของกล้ามเนื้อ และที่สำคัญมากคือช่วยให้จังหวะการเต้นของหัวใจเป็นไปอย่างปกติ สภาวะ/ภาวะโปแตสเซียมของร่างกายต่ำเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น การรับประทานยาบางประเภทเช่น ยา Corticosteroid, มีภาวะท้องเสียหรืออาเจียนอย่างหนัก และการบริโภคอาหารที่มีเกลือนี้ต่ำเป็นประจำ เป็นต้น
การใช้ยาโปแตสเซียมกลูโคเนตมีข้อจำกัดในผู้ป่วยแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันออกไปเช่น ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไตวาย ผู้ที่มีการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยด้วย Addison’s disease (โรคจากการขาดฮอร์โมนต่อมหมวกไต) ผู้ที่มีภาวะแผลไหม้หรือมีบาดแผลฉีกขาดตามเนื้อเยื่อของร่างกายในขั้นที่รุนแรง หรือรับประทานกลุ่มยาโป แตสเซียมชนิดเม็ด (เช่น Potassium chloride) มีข้อระบุห้ามเคี้ยวยาก่อนกลืนด้วยเกลือโปแตส เซียมจะระคายเคืองต่อปากและคอ ควรกลืนยาทั้งเม็ดแล้วกินน้ำตามอย่างเพียงพอ หลังรับประทานยาไม่ควรนอนในทันทีต้องรอประมาณ 30 นาทีไปแล้วให้ยาดูดซึมเข้ากระแสเลือดก่อน
ระหว่างการรักษาหรือช่วงที่ได้รับยานี้แพทย์จะสั่งเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบระดับโปแตสเซียมในร่างกายว่ากลับมาสู่ปกติหรือยัง พร้อมกับตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, ECG) เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจว่าเป็นปกติดีหรือไม่ และสมควรหยุดการใช้ยานี้ได้เมื่อใด
ผลข้างเคียงบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบไว้ระหว่างการใช้ยานี้เช่น มีอัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ ชาที่มือและเท้าหรือที่ปาก ปวดท้องอย่างรุนแรง การบรรเทาอาการข้างเคียงต่างๆสามารถกระทำโดยแพทย์จะกำกับให้ผู้ป่วยรับประทานยาพร้อมมื้ออาหารเพื่อลดภาวะระคายเคืองกระเพาะอาหาร-ลำไส้ หรือการให้ยาแต่ละครั้งเป็นปริมาณน้อยๆแต่ยังคงไว้ซึ่งระดับในการรักษา
การป้องกันมิให้ร่างกายขาดเกลือโปแตสเซียมอย่างง่ายๆ เห็นจะเป็นเรื่องโภชนาการของแต่ละบุคคล ประเภทอาหารที่อุดมไปด้วยเกลือโปแตสเซียมได้แก่ มันเทศ มะเขือเทศ ถั่วต่างๆ โยเกิร์ต หอยกาบ ลูกพรุน แครอท กล้วย เนื้อปลา นม น้ำส้ม เป็นต้น
การบริโภคโปแตสเซียมมากหรือน้อยเกินไปนั้นไม่ส่งผลดีต่อร่างกายแต่อย่างใด ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับมีวิจารณญาณการนำข้อมูลทางด้านสุข ภาพเหล่านั้นมาปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
โปแตสเซียมกลูโคเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโปแตสเซียมกลูโคเนตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ
- บำบัดรักษาอาการเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในร่างกายต่ำ (Hypokalemia, อาการ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว)
- ใช้เชิงป้องกันสภาวะเกลือโปแตสเซียมในร่างกายต่ำ
โปแตสเซียมกลูโคเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
เมื่อได้รับเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมเข้าสู่ร่างกาย กลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะทำให้เซลล์ของร่างกายได้รับโปแตสเซียมไอออน (Potassium ion) หรือโปแตสเซียมที่มีประจุไฟฟ้าบวก และสร้างสมดุลของประจุไฟฟ้าร่วมกับเกลือตัวอื่นเช่น โซเดียมส่งผลให้เกิดการนำ กระแสประสาทจากเซลล์ของร่างกายไปตามเนื้อเยื่อส่วนต่างๆโดยเฉพาะหัวใจ สมอง และกล้าม เนื้อลาย อีกทั้งช่วยคงระดับการทำงานของไตและสร้างสมดุลกรด-ด่างในร่างกายได้เหมาะสมมากขึ้น ด้วยกลไกต่างๆเหล่านี้จะทำให้ร่างกายซึ่งขาดเกลือโปแตสเซียมกลับมาทำหน้าที่ได้ปกติเช่นเดิม
โปแตสเซียมกลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโปแตสเซียมกลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 500 กรัม/เม็ด
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาด 312 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาน้ำชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับ Potassium citrate เช่น Potassium gluconate 1.4 กรัม + Potassium citrate 0.43 กรัม/5 มิลลิลิตร
โปแตสเซียมกลูโคเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ให้รับประทานยาโปแตสเซียมกลูโคเนตตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด ห้ามปรับขนาดรับประทานเอง กรณีที่เป็นยาน้ำสามารถนำไปผสมน้ำผลไม้ก่อนรับประทานเพื่อลดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหารและลำไส้ในระหว่างรับประทานยา ควรรับประทานยานี้พร้อมมื้ออาหาร ห้ามหยุดการใช้ยานี้เอง
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโปแตสเซียมกลูโคเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโปแตสเซียม กลูโคเนตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโปแตสเซียมกลูโคเนตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โปแตสเซียมกลูโคเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโปแตสเซียมกลูโคเนตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) ดังนี้เช่น เกิดภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในร่างกายสูง (อาการเช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง) เหนื่อยง่าย สับสน ชามือ-เท้าหรือชาปาก อุจจาระมีสีคล้ำ ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องอืด อาจพบอาการอาเจียนได้เล็กน้อย
หากมีอาการแพ้ยานี้สามารถพบอาการเช่น ผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แน่นหน้าอก อุจจาระมีสีคล้ำ อาเจียนรุนแรง ปวดท้อง เหนื่อยและอ่อนเพลีย หากพบอาการเช่นนี้ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้โปแตสเซียมกลูโคเนตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโปแตสเซียมกลูโคเนตเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
- ห้ามเคี้ยวยาโปแตสเซียมกลูโคเนตชนิดเม็ด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในร่างกายสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะขาดน้ำเฉียบพลัน ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับ น้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วยไตวาย ผู้ที่มีแผลฉีกขาด
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะท้องเสียมาเป็นเวลายาวนาน ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอา หาร-ลำไส้
- ระหว่างการใช้ยานี้ต้องคอยควบคุมระดับโปแตสเซียมในกระแสเลือดให้เป็นปกติอย่างสม่ำเสมอจากการตรวจเลือด และต้องมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจควบคู่กันไปตามคำแนะนำของ แพทย์ผู้รักษา
- ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ผู้ป่วยควรเรียนรู้การบริโภคอาหารที่มีเกลือโปแตสเซียมให้เหมาะสมกับร่างกายตนเอง
- หยุดการใช้ยานี้เมื่อมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง หรือเมื่อพบอาการผิดปกติของช่องท้องเช่น ปวดท้องมาก
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโปแตสเซียมกลูโคเนตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โปแตสเซียมกลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโปแตสเซียมกลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาบางประเภทร่วมกับโปแตสเซียมกลูโคเนตจะทำให้ไตขับโปแตสเซียม/โพแทส เซ๊ยมออกจากร่างกายได้มากจนก่อให้เกิดผลกระทบตามมาภายหลัง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะเฝ้าระวังระดับเกลือโปแตสเซียมในร่างกายให้คงระดับปกติอยู่ตลอดเวลา ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Amphotericin B, ยาประเภทคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid), Gentamicin และ Poly myxin B
- การใช้ยาบางกลุ่มร่วมกับโปแตสเซียมกลูโคเนตสามารถทำให้ระดับโปแตสเซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือเกิดภาวะไตวายตามมา ยากลุ่มดังกล่าวเช่น ACE inhibitor, Heparin, Cyclosporin, ยากลุ่มNSAIDs, ยาขับปัสสาวะที่ชดเชยการสูญเสียของเกลือโปแตสเซียม หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาโปแตสเซียมกลูโคเนตร่วมกับยากลุ่ม Digitalis, Glycoside อาจทำให้ผู้ป่วยได้ รับพิษจาก Digitalis, Glycoside ติดตามมา
- ห้ามใช้ยาโปแตสเซียมกลูโคเนตกับผู้ป่วยโรคไตในระยะรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะไตวาย ด้วยเกลือโปแตสเซียมจะถูกขับออกโดยผ่านอวัยวะไต ขณะที่ไตไม่สามารถทำงานได้ปกติและร่างกายได้รับยากลุ่มโปแตสเซียมอาจก่อให้เกิดภาวะโปแตสเซียมในเลือดเกิน/สูงจนมีผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นติดตามมา
ควรเก็บรักษาโปแตสเซียมกลูโคเนตอย่างไร?
ควรเก็บยาโปแตสเซียมกลูโคเนตภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โปแตสเซียมกลูโคเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโปแตสเซียมกลูโคเนตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Kaon (คาออน) | CANTABRIA S.A. |
Kaon elixir (คาออน อีลิกเซอร์) | CANTABRIA S.A. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Potassium_gluconate [2015,Aug8]
- http://healthyeating.sfgate.com/potassium-gluconate-good-for-10453.html [2015,Aug8]
- http://www.livestrong.com/article/271927-what-are-the-benefits-of-potassium-gluconate-supplements/ [2015,Aug8]
- http://www.health.com/health/gallery/0,,20721159_2,00.html [2015,Aug8]
- http://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/Potassium_oral_solution_dr_1376470422854.pdf [2015,Aug8]
- http://www.reviewstream.com/reviews/?p=130344 [2015,Aug8]
- http://www.buymedicinesx.org/buy-kaon-elixir-312mgml-price-side-effects-atc/ [2015,Aug8]
- http://www.virbacvet.com/pdf/product_pdfs/TUMIL_K_Potassium_Gluconate_Supplement_Gel_msds.pdf [2015,Aug8]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/potassium-gluconate-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Aug8]
- http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/potassium-supplement-oral-route-parenteral-route/proper-use/drg-20070753 [2015,Aug8]
- http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-851-potassium%20gluconate%20(potassium).aspx?activeingredientid=851&activeingredientname=potassium%20gluconate%20(potassium) [2015,Aug8]
- http://www.healthbanks.com/PatientPortal/MyPractice.aspx?UAID=3F99B7E2-285D-41AD-AE57-D4403735C409&ID=HW5d03789a1&Title=potassium-gluconate [2015,Aug8]