โปรโมทหนังใหม่แนวเชื้อไวรัสด้วยบิลบอร์ดแบคทีเรีย
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 28 กันยายน 2554
- Tweet
คนเรามักสับสนระหว่างไวรัสกับแบคทีเรีย แม้หลายคนอาจจะเข้าใจตัวอย่างโรคที่เกิดจากไวรัส อาทิ หวัด , SARS, Ebola, HIV และตัวอย่างโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย อาทิ E. Coli (ที่ทำให้เกิดลำไส้อักเสบ) และอหิวาต์ (ที่ทำให้เกิดท้องร่วง)
แต่ Warner Brothers ที่ประเทศแคนาดา เสนอคำตอบของความสับสนดังกล่าวอย่างชาญฉลาดไว้ในภาพยนตร์ชื่อ “Contagion” (โรคติดต่อผ่านการสัมผัสโดยทางตรงหรือทางอ้อม) โดยผู้กำกับชื่อดัง Steven Soderbergh ซึ่งจะเปิดรอบปฐมทัศน์ในเมืองไทยวันพฤหัสที่ 29 กันยายน ศกนี้
นักวิทยาศาสตร์ ได้สร้างบิลบอร์ดมหึมา 2 แผ่นหน้าห้างในเมืองโตรอนโต้ แล้วเพาะแบคทีเรียในจานขนาดยักษ์บนบิลบอร์ด จากนั้นก็ปล่อยให้เชื้อดังกล่าวเจริญเติบโตไปตามกาลเวลา
ผลลัพธ์ที่ตามมา ก็เป็นไปตามที่ชื่อภาพยนตร์ได้สื่อความหมายไว้ เพียงเสริมแต่งด้วยเครื่องหมายเตือนอันตรายทางชีวภาพ (Biohazard) เล็กๆ แต่น่ารัก เราสามารถชมวิวัฒนาการของจุลินทรีย์จากวิดีโอลิงก์ในแหล่งอ้างอิง ข้างบนนี้
ผู้ชมจะเห็นเบื้องหลังการถ่ายทำวีดีโอ ตั้งแต่การเพาะเชื้อแบคทีเรียจากห้องแลบ ในจานบนแผ่นบิลบอร์ดที่บรรจงละเลงเป็นชื่อภาพยนตร์ แล้วนำไปติดตั้งหน้าห้างให้ผู้คนที่สัญจรไปมาได้พบเห็น นับเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติการณ์ จากนั้นเราจะเห็นวิวัฒนาการของเชื้อแบคทีเรียในแต่ละวันที่ผ่านไป และสีหน้าของผู้คนที่มองดูประดิษฐกรรมชิ้นนี้ด้วยความน่าทึ่งในวันแรก แต่ต่อเนื่องเป็นความสยดสยองและขยะแขยงในวันต่อๆมา แล้วลงเอยด้วยวันเปิดรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ นับเป็นการฉีกแนวโฆษณาที่ได้ผลกระทบอย่างแรง
ส่วนเนื้อหาที่แท้จริงของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของเชื้อไวรัส โดยที่ผู้ป่วยด้วยเชื้อดังกล่าวมักร้องขอ ยาปฏิชีวนะ แต่ไม่เข้าใจว่าการสั่งยาปฏิชีวนะเกินขนาดของแพทย์ มักนำไปสู่การดื้อยา ทำให้การเยียวยานั้นไร้ประสิทธิผล
ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขทุกแห่งหน หวังให้เราเข้าใจความแตกต่างระหว่างเชื้อไวรัสกับแบคทีเรียจากภาพยนตร์ และจากบิลบอร์ดโฆษณา รวมทั้งบทบาทของ ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention; CDC) ในภาวะฉุกเฉิน
แต่บทเรียนพื้นฐานจากภาพยนตร์เรื่องนี้ อยู่ที่การติดเชื้อจากการสัมผัสเพียงครั้งเดียว แล้วระบาดไปทั่วโลก จึงต้องตอกย้ำเรื่องการล้างมืออย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะ ก่อนรับประทานอาหาร และหลังออกจากห้องสุขา ตามที่เราได้ร่ำเรียนมาในวิชาสุขศึกษาตั้งแต่เล็กจนโต เพียงหมั่นถามตัวเองว่า “วันนี้คุณลงมือปฏิบัติ (ล้างมือ) แล้วหรือยัง?”
แหล่งข้อมูล : Katherine Hobson ใน http://blogs.wsj.com/health/2011/09/09/studio-promotes-killer-virus-movie-with-bacterial-billboard/