โปรแลคติโนมา (Prolactinoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

โปรแลคติโนมา(Prolactinoma)คือ เนื้องอกชนิดทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็งที่เกิดกับต่อมใต้สมอง จัดเป็นเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดสร้างฮอร์โมน ซึ่งฮอร์โมนที่สร้างจากเนื้องอกนี้ชื่อ โปรแลคติน/โปรแลกติน(Prolactin, ย่อว่า PRL) ในธรรมชาติ โปรแลกตินจะสร้างจากต่อมใต้สมองและทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างน้ำนม, การมีประจำเดือน, การตกไข่, การมีความรู้สึกทางเพศ, และเกิดภาวะแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย(ในเพศชาย)

โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง เป็นเนื้องอกพบน้อย ดังนั้น โปรแลคติโนมาจึงเป็นเนื้องอกพบน้อยเช่นกัน แต่เป็นชนิดพบบ่อยที่สุดของเนื้องอกต่อมใต้สมองทั้งหมด ทั้งนี้มีรายงานจากสหราชอาณาจักร พบโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองได้ 77.6 รายต่อประชากร 1แสนคน ในการนี้เป็นโปรแลคติโนมา 44.4 รายต่อประชากร 1 แสนคน

พบโปรแลคติโนมาได้ทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้สูงในช่วงอายุ 20-50 ปี พบโรคนี้น้อยมากในเด็ก มีรายงานพบได้ประมาณ 100 รายในเด็ก 1ล้านคน และพบโรคนี้ในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายประมาณ 10 เท่า

อะไรเป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเนื้องอกโปรแลคติโนมา?

โปรแลคติโนมา

ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเนื้องอกโปรแลคติโนมา เพียงแต่พบว่า ปัจจัยเสี่ยงไม่น่าเกิดจากเชื้อชาติ และไม่มีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้

โรคเนื้องอกโปรแลคติโนมามีอาการอย่างไร?

อาการของโปรแลคติโนมา ได้แก่ อาการจากเนื้องอกสร้างฮอร์โมน โปรแลกติน(โปรแลคติน) ที่ส่งผลให้มีฮอร์โมนโปรแลคตินสูงในเลือด (Hyperprolactinemia), และร่วมกับอาการจากก้อนเนื้องอกกดเบียดทับเนื้อเยื่อสมองข้างเคียง

ก. อาการจากมีโปรแลคตินสูงในเลือด:

  • ในผู้หญิง: อาการพบบ่อยคือ
    • มีประจำเดือนผิดปกติ เช่น
      • อาจมีเลือดประจำเดือนแต่ละครั้งปริมาณน้อยกว่าปกติ
      • นานๆจึงจะมีประจำเดือน
      • เกิดการขาดประจำเดือน
    • ช่องคลอดแห้ง,
  • ในผู้ชาย: อาการที่พบในผู้ชาย เช่น
    • นกเขาไม่ขัน
    • อาจมีเต้านมใหญ่ขึ้น /ผู้ชายมีนม
  • ในทั้งสองเพศ: อาการที่พบในทั้ง 2 เพศ เช่น
    • มีน้ำนมผิดปกติ (อาการน้ำนมไหล) อาจเกิดข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างของเต้านม โดยในสตรีจะเกิดในภาวะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
    • ภาวะมีบุตรยาก
    • ความรู้สึกทางเพศลดลง
    • กระดูกบางหรือกระดูกพรุน
    • ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
    • บางครั้งอาจพบอาการเป็นสิวมากผิดปกติ
    • อาจมีภาวะขนดก ที่มักพบในผู้หญิงมากกว่าในผู้ชาย

ข. อาการจากตัวเนื้องอกกดเบียดทับเนื้อเยื่อสมองข้างเคียง:

  • กรณีก้อนเนื้อโปรแลคติโนมาที่มีขนาดเล็ก คือโตน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ที่เรียกว่า “Microprolactinoma” มักไม่ก่อให้เกิดการเบียดทับเนื้อเยื่อสมอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมักไม่มีอาการเฉพาะที่จากตัวก้อนเนื้อโตจนกดเบียดทับเนื้อเยื่อสมองข้างเคียง
  • แต่ถ้าโปรแลคติโนมาโตมากกว่า 10 มิลลิเมตรที่เรียกว่า “Macroprolactinoma” จะส่งผลให้
    • ก้อนเนื้อกดเบียดทับเนื้อเยื่อสมองข้างเคียง ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรัง
    • เมื่อกดเบียดทับประสาทตา จะส่งผลให้ตามองเห็นภาพผิดปกติ ตาพร่า และโดยเฉพาะมักมองไม่เห็นภาพทางด้านข้าง ซึ่งอาจเกิดกับตาข้างใดข้างหนึ่งหรือกับทั้ง 2 ตาพร้อมกัน
    • อาจกดเนื้อเยื่อต่อมใต้สมองส่วนต่างๆจนส่งผลให้การทำงานสร้างฮอร์โมนต่างๆของต่อมใต้สมองลดลง เช่น
      • เกิดโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ลดลง
      • เกิดโรคเบาจืดจากต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมนเพื่อคงสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย(Antidiuretic hormone)ลดลง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอโดยเฉพาะการมีอาการน้ำนมไหล(Galactorrhea)ผิดปกติ

แพทย์วินิจฉัยโรคเนื้องอกโปรแลคติโนมาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกโปรแลคตินได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ โดยเฉพาะการมีน้ำนมไหลผิดปกติ
  • การตรวจร่างกาย และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • การตรวจภายใน ในสตรี
  • การตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมน โปรแลกติน (Prolactin) และฮอร์โมนต่างๆ เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมน/ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
  • การตรวจตา
  • การตรวจภาพสมอง และ/หรือภาพต่อมใต้สมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/(ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ
  • การตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อการสืบค้นตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น การตรวจลานสายตา

อนึ่ง การวินิจฉัยโปรแลคติโนมามักไม่จำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคในสมอง/ต่อมใต้สมองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา แต่แพทย์จะตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเฉพาะกรณีที่อาการและผลตรวจต่างๆดังกล่าวในตอนต้นไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนว่าเป็น โปรแลคติโนมา

รักษาโรคเนื่องอกโปรแลคติโนมาได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโปรแลคติโนมา คือ การใช้ยา, การผ่าตัด, และ/หรือ การฉายรังสีรักษา

ก. การใช้ยา: ได้แก่ การใช้ยาต้านการสร้างฮอร์โมนโปรแลกตินของเซลล์เนื้องอกนี้ เช่น

  • ยาในกลุ่ม Dopamine agonist : เช่นยา Bromocriptine, Cabergoline

โดยการใช้ยา มักเป็นวิธีแรกที่แพทย์เลือกใช้ โดยเฉพาะกรณีเนื้องอกมีขนาดเล็ก และผู้ป่วยไม่มีอาการจากการที่เนื้องอกฯกดเบียดทับเนื้อเยื่อสมองข้างเคียง

ข. การผ่าตัด: แพทย์จะเลือกใช้รักษาในกรณีก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ที่ผู้ป่วยมีอาการจากก้อนเนื้อกดเบียดทับเนื้อเยื่อสมองข้างเคียง โดยอาจใช้การผ่าตัดร่วมกับการใช้ยา หรือ อาจใช้ในกรณีที่การใช้ยาแล้วไม่ได้ผล ซึ่งการผ่าตัด แพทย์มักเลือกการผ่าตัดต่อมใต้สมองผ่านทางโพรงไซนัสที่อยู่ติดกับต่อมใต้สมอง(Sphenoidal sinus) โดยผ่านเข้าทางจมูก ที่เรียกการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ว่า Transphenoidal hypophysectomy

ค. การฉายรังสีรักษา: การฉายรังสีรักษาบริเวณรอยโรค ที่จะใช้ในกรณีเมื่อใช้ยา หรือการผ่าตัดไม่ได้ผล หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

โรคเนื้องอกโปรแลคติโนมามีความรุนแรง/การพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โปรแลคติโนมา จัดเป็นเนื้องอกสมอง/เนื้องอกต่อมใต้สมองที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี/โรคไม่รุนแรง แพทย์มักรักษาควบคุมโรคได้ดีสูงถึงประมาณ 95%ของผู้ป่วย แต่โรคก็มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำหลังการรักษาได้ แต่แพทย์ก็ยังสามารถรักษาควบคุมโรคที่กลับเป็นซ้ำนี้ได้โดยอาจด้วยการใช้ยา, การผ่าตัด, หรือการฉายรังสีรักษา ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย, สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากโรคนี้ เช่น

  • ภาวะมีบุตรยาก
  • โรคกระดูกบาง หรือ กระดูกพรุน
  • โรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • โรคเบาจืด

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคเนื้องอกโปรแลคติโนมา?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคโปรแลคติโนมา ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่ง ให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่ลืมกินยาบ่อยๆ ไม่หยุดยาเอง
  • ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจต่างๆเพื่อการดูแลรักษาผลข้างเคียงจากโรคนี้ตามแพทย์นัดเสมอ เช่น การตรวจความหนาแน่มวลกระดูกที่แพทย์มักให้ตรวจปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น
  • พบแพทย/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลง เช่น น้ำนมไหลมากขึ้น การเห็นภาพผิดปกติมากขึ้น ประจำเดือนมามาก หรือมาบ่อยจนเกิดภาวะ/โรคซีด
  • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดหัวมากต่อเนื่อง
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้-อาเจียนมาก ท้องเสียมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบโรคเนื้องอกโปรแลคติโนมาไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบเนื้องอกโปรแลคติโนมาตั้งแต่เริ่มเกิดโรค ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ เพื่อให้ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆที่จะส่งให้ผลการรักษาควบคุมโรคมีประสิทธิภาพดีที่สุด

ป้องกันโรคเนื้องงอก โปรแลคติโนมาได้อย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่ทราบทั้งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นจึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคโปรแลคติโนมา แต่การดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ เพื่อให้ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆที่จะส่งให้ผลการรักษาควบคุมโรค มีประสิทธิภาพดีที่สุด

บรรณานุกรม

  1. Rabinovich, I H. et al. Endocrinol Nutr. 2013;60(6):308-319
  2. https://emedicine.medscape.com/article/124634-overview#showall [2020, May 2].
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Prolactinoma [2020, May 2].
  4. https://medlineplus.gov/ency/article/000336.htm [2020, May 2].
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/16411062 [2020, May 2].