โปรเคนเอไมด์ (Procainamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาโปรเคนเอไมด์ (Procainamide) คือ ยารักษาและบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกาใน ปี ค.ศ 1950 (พ.ศ. 2493) ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Pronestyl” และได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) โดยบริษัทยา Bristol-Myers Squibb

จากการศึกษาการกระจายตัวของยาในร่างกายพบว่า การดูดซึมของตัวยาจากระบบทางเดินอา หารมีประมาณ 85% โดยเมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน 15 - 20% ตับจะเป็นอวัยวะหลักที่มีหน้าที่เปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของยานี้ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลา 2.5 - 5 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากร่างกายโดยขับผ่านออกไปกับปัสสาวะ

รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยานี้จะมีทั้งชนิดยารับประทานและยาฉีดเข้าหลอดเลือด การใช้ยารับประทานจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ส่วนยาฉีดจะต้องให้ยากับคนไข้โดยใช้หัตถการทางการแพทย์ที่ถูกต้องในสถานพยาบาลที่เหมาะสมและตรงตามมาตรฐานวิชาชีพ

โปรเคนเอไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โปรเคนเอไมด์

ยาโปรเคนเอไมด์มีสรรพคุณรักษาโรคอะไร/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Ventricular arrhythmias)
  • รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะระดับขั้นรุนแรงโดยใช้ระยะเวลาสั้นๆในการรักษา (Short - term management of severe or Symptomatic arrhythmias)

โปรเคนเอไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโปรเคนเอไมด์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์รบกวนโดยปิดกั้นการส่งผ่านเกลือโซเดียม แต่จะเพิ่มระยะเวลาการเกิดความต่างศักย์ของคลื่นไฟฟ้าในบริเวณเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นหัวใจให้เต้นอย่างเหมาะสมและดีขึ้น

โปรเคนเอไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโปรเคนเอไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาฉีด ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 500 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1 กรัม/เม็ด

โปรเคนเอไมด์มีขนาดรับประทานหรือการบริหารยาอย่างไร?

ยาโปรเคนเอไมด์มีขนาดรับประทานหรือการบริหารยา/การใช้ยา: เช่น

ก. สำหรับรักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Ventricular arrhythmias):เช่น

  • ยารับประทาน:เช่น
    • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานทุกๆ 3 - 6 ชั่ว โมง
    • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก):รับประทาน 15 - 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 4 ครั้ง/วัน (ทุก 6 ชั่วโมง)
  • ยาฉีด: เช่น
    • ผู้ใหญ่: เจือจางยาในสารละลายกลูโคส 5% แล้วหยดเข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วยในอัตรา 100 มิลลิกรัม/5 นาที ห้ามให้ยาเกิน 50 มิลลิกรัม/นาที ให้ยาจนกระทั่งอาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจดีขึ้น
    • เด็ก: ให้ยาครั้งแรก (Loading dose) 10 - 12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 20 - 75 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที

ข.สำหรับการรักษาในระยะสั้นของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะระดับรุนแรง

(Short - term management of severe or symptomatic arrhythmias ): เช่น

  • ยารับประทาน: เช่น
    • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานทุกๆ 3 - 6 ชั่ว โมง
    • เด็ก: รับประทาน 15 - 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน 4 ครั้ง/วัน (ทุก 6 ชั่วโมง)
  • ยาฉีด: เช่น
    • ผู้ใหญ่:เจือจางยาในสารละลายกลูโคส 5% แล้วหยดเข้าหลอดเลือดดำของผู้ป่วยในอัตรา 100 มิลลิกรัม/5 นาที ห้ามให้ยาเกิน 50 มิลลิกรัม/นาที ให้ยาจนกระทั่งอาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจดีขึ้น
    • เด็ก: ให้ยาครั้งแรก (Loading dose) 10 - 12 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จากนั้นหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ 20 - 75 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที

อนึ่ง:

  • สำหรับการใช้ยาในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะปรับลดหรือเพิ่มขนาดการใช้ยาเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป และในผู้ป่วยโรคตับแพทย์อาจลดขนาดการใช้ยาลงเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
  • ควรรับประทานยานี้ในช่วงท้องว่างหรือก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโปรเคนเอไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปรเคนเอไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โปรเคนเอไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง /อาการข้างเคียง)จากยาโปรเคนเอไมด์ที่อาจพบได้ เช่น

  • ความดันโลหิตต่ำมาก
  • การหยดยาเข้าหลอดดำเลือดเร็วเกินไปจะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ไข้
  • เกิดภาวะกดการทำงานของหัวใจ/หัวใจเต้นช้าลง
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ตับโต
  • ระคายเคืองที่ผิวหนัง (เช่น คัน แสบ ผื่น)
  • รู้สึกปั่นป่วนในทางเดินอาหาร
  • ผลกระทบต่อสมอง เช่น สับสน ประสาทหลอน

มีข้อควรระวังการใช้โปรเคนเอไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรเคนเอไมด์ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มี ภาวะหัวใจขัด (Heart block), ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (SLE), ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ, ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง, ผู้ป่วยที่ได้รับพิษหรือผลกระทบ/ผลข้างเคียงของยาไดจอกซิน (Digoxin) รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ, ผู้ป่วยด้วยโรคหืด
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
  • การให้ยาโปรเคนเอไมด์ทางหลอดเลือดดำควรต้องให้ในอัตราที่ช้าเพื่อป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ และทำให้ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจีผิดปกติ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโปรเคนเอไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โปรเคนเอไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโปรเคนเอไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโปรเคนเอไมด์ สามารถเพิ่มฤทธิ์ของยารักษาความดันโลหิตสูง (ยาลดความดัน), เพิ่มฤทธิ์ของยาอื่นๆที่รักษาภาวะ/โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, หรือยาในกลุ่มแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic), หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาด้วยความระมัดระวังเพื่อความเหมาะสมกับตัวผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาโปรเคนเอไมด์ ร่วมกับยา Trimethoprim (ยาปฏิชีวนะ) จะทำให้ความเข้ม ข้นของยาโปรเคนเอไมด์ในกระแสเลือดสูงขึ้นจนอาจทำให้ได้รับผลข้างเคียงหรือพิษของยาโปรเคนเอไมด์สูงขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโปรเคนเอไมด์ ร่วมกับ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะเร่งการกำจัดยา โปรเคนเอไมด์ออกจากร่างกาย ทำให้ลดประสิทธิภาพในการรักษา ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด

ควรเก็บรักษาโปรเคนเอไมด์อย่างไร?

สามารถเก็บยาโปรเคนเอไมด์ เช่น

  • เก็บยาโปรเคนเอไมด์ทั้งชนิดรับประทานและยาฉีด ภายใต้อุณหภูมิห้องแต่ไม่ควรเกิน 40 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • กรณียาฉีดที่เปิดเจือจางใช้แล้ว สามารถเก็บยาที่อุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง หรือเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียสจะเก็บต่อได้อีก 7 วัน
  • ห้ามเก็บยาทุกรูปแบบ/ทุกประเภทในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาทุกประเภทในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โปรเคนเอไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโปรเคนเอไมด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Procan (โปรแคน)Parke-Davis
Procapan (โปรคาแพน)Panray Pharmaceutical
Procanbid (โปรแคนบิด)Monarch
Pronestyl (โปรเนสติล)E. R. Squibb & Sons Limited

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Procainamide [2021,Aug14]
  2. https://www.mims.com/philippines/drug/info/procainamide?mtype=generic [2021,Aug14]
  3. https://www.mims.com/singapore/drug/info/procainamide%20astra[2021,Aug14]
  4. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682398.html#discontinued [2021,Aug14]
  5. https://www.medicinenet.com/procainamide/article.htm [2021,Aug14]
  6. https://www.drugs.com/monograph/procainamide.html [2021,Aug14]
  7. https://www.drugs.com/imprints/p-d-202-2743.html [2021,Aug14]