โปรตามีน ซัลเฟต (Protamine sulfate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโปรตามีนซัลเฟต(Protamine sulfate หรือบางท่านสะกดว่า Protamine sulphate) หรือบางท่านเรียกสั้นๆว่า Protamine เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของยาเฮพาริน (Heparin) ในยุคแรกๆนักวิทยาศาสตร์ต้องนำเอาอสุจิของปลาแซลมอล(Salmon)มาแยกสกัดสารโปรตีนที่ชื่อว่าโปรตามีน(Protamine)และใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาโปรตามีนซัลเฟต แต่ปัจจุบัน การสังเคราะห์สาร/ยาโปรตามีนซัลเฟตได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่าวิธีการดั้งเดิม ทั้งนี้รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโปรตามีนซัลเฟตเป็นแบบ ยาฉีด หลังจากได้รับยาชนิดนี้เข้าสู่กระแสเลือด ภายใน 5 นาที ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ แต่ก็จะถูกกำจัดออกจากร่างกายประมาณ 50% จากปริมาณที่ได้รับภายในประมาณ 7.4 นาทีเช่นกัน

ประโยชน์ทางคลินิกของยาโปรตามีนซัลเฟตที่สามารถสรุปได้มีดังนี้ ได้แก่

  • ใช้เป็นยารักษาสมดุลการทำงานของยาเฮพาริน ขณะที่ต้องทำหัตถการถ่ายเลือดไหลเวียนออกนอกร่างกายแล้วบังคับให้เลือดกลับเข้าสู่ร่างกายใหม่ (Extracorporeal circulation) เช่น กระบวนการฟอกเลือดของเครื่องไตเทียม(การล้างไต) หรือการผ่าตัดหัวใจ
  • ใช้กับสตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับยาเฮพารินและใกล้คลอด ยาโปรตามีนซัลเฟตจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะเลือดออกง่ายจากยาเฮพาริน(Heparin neutralization in pregnant women near delivery)
  • ใช้บำบัดผู้ป่วยที่ได้รับยาประเภทเฮพารินโมเลกุลเล็ก(Low molecular weight heparin/LMWH) และ Unfractionated heparin(UFH) เกินขนาด

อนึ่ง ขนาดการใช้ยาโปรตามีนซัลเฟตจะขึ้นกับปริมาณยาเฮพารินที่ผู้ป่วยได้รับ โดยการออกฤทธิ์ของยาโปรตามีนซัลเฟตจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามการใช้ยาโปรตามีนซัลเฟตยังมีข้อพึงระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ อาทิ ตัวยาชนิดนี้/ตัวยานี้สามารถทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ การทำงานของหัวใจและปอดผิดปกติจนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นขณะที่ได้รับยาโปรตามีนซัลเฟต แพทย์ พยาบาล จะคอยควบคุมสัญญาณชีพผู้ป่วย เช่น ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อใช้เป็นดัชนี/ตัวชี้วัดที่บ่งบอกอาการของผู้ป่วยว่าปลอดภัยมากน้อยเพียงใด

*กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาโปรตามีนซัลเฟตเกินขนาด ก็อาจทำให้เลือดออกง่ายได้เช่นเดียวกัน ทำให้ขัดต่อความรู้สึกของผู้อ่านบทความหลายคน มีคำอธิบายได้ดังนี้ ขณะที่โปรตามีนซัลเฟตเข้ารวมตัวกับยาเฮพาริน(UFH และ LMWH)เพื่อยับยั้งการทำงานของยาเฮพารินทั้งสองชนิด ยาโปรตามีนซัลเฟตที่เกินความต้องการ จะเข้ารบกวนการทำงานของเกล็ดเลือดและFibrinogen ทำให้เกล็ดเลือดและ Fibrinogen ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เช่นกัน แต่ฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดจากโปรตามีน ซัลเฟตจะเกิดขึ้นในระดับต่ำๆและอาจกินเวลา 30 นาที ถึง 18 ชั่วโมง สำหรับการแก้ไข/รักษาการได้รับยาโปรตามีนซัลเฟตเกินขนาด แพทย์จะรักษาตามอาการ(การรักษาประคับประคองตามอาการ) เช่น ให้ยา Epinephrine หรือ Dopamine เมื่อผู้ป่วยเกิดความดันโลหิตต่ำ หรือใช้วิธีให้เลือดหรือพลาสมาเข้าทดแทนเลือดของผู้ป่วยที่มีตัวยาโปรตามีนซัลเฟตเกินขนาด

*ข้อพึงระวังอีกประการที่บุคลากรทางการแพทย์ให้ความสำคัญและยึดเป็นแนวทางปฏิบัติ คือ การฉีดยาโปรตามีนซัลเฟตให้ผู้ป่วยนั้น ต้องใช้เวลาในการฉีดยา นาน 10 นาทีขึ้นไป การให้ยากับผู้ป่วยเร็วเกินไปจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหัวใจเต้นช้า หายใจไม่ออก/หายใจขัด/หายใจลำบาก รู้สึกร้อนตามร่างกาย ใบหน้าแดง ความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง หรือไม่ก็อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา

ทั้งนี้ กฎหมายยาของไทยได้ระบุให้ยาโปรตามีนซัลเฟตอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว

โปรตามีน ซัลเฟตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โปรตามีนซัลเฟต

ยาโปรตามีน ซัลเฟตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาต้านฤทธิ์ของยาเฮพาริน และช่วยบำบัดอาการเลือดออกมากผิดปกติจากการได้รับยาเฮพารินเกินขนาด

*หมายเหตุ: หากยาโปรตามีนฯ ถูกนำไปผสมกับยาอินซูลินแอสพาร์ท(Insulin aspart) จะทำให้ได้ยาอินซูลินที่ออกฤทธิ์ได้นานยิ่งขึ้น

โปรตามีน ซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโปรตามีนซัลเฟตคือ ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับยาเฮพาริน ทำให้คุณสมบัติต้านการจับตัวของเกล็ดเลือดของยาเฮพารินหมดฤทธิ์ลง

โปรตามีน ซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโปรตามีน ซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่มีองค์ประกอบของ Protamine sulfate 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และมีขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร/ขวด

โปรตามีน ซัลเฟตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโปรตามีน ซัลเฟตมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. ใช้ต่อต้านฤทธิ์ของยาHeparin(Unfractionated heparin):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาโปรตามีน ซัลเฟตเข้าหลอดเลือดดำ โดยคำนวณการใช้ยาโปรตามีนซัลเฟต 1 มิลลิกรัมต่อยาเฮพาริน/เฮพาริน โซเดียมไม่ต่ำกว่า 100 ยูนิตสากล การให้ยาโปรตามีน ซัลเฟตกับผู้ป่วยควรปฏิบัติภายใน 2–3 นาที เมื่อทราบว่าผู้ป่วยได้รับยาเฮพารินเกินขนาด

ข. ใช้ต้านฤทธิ์ยาเฮพารินโมเลกุลเล็ก(Low molecular weight heparin):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาโปรตามีน ซัลเฟตเข้าหลอดเลือดดำ โดยคำนวณการใช้ยาโปรตามีนซัลเฟต 10 มิลลิกรัมต่อยาเฮพารินโมเลกุลเล็ก โดยคำนวณเทียบกับ Anti-factor Xa(การตรวจเลือดวัดค่ายาเฮพารินในน้ำเลือด) ทุกๆ 1,000 ยูนิตสากล

อนึ่ง:

  • การใช้ยาโปรตามีนซัลเฟตสามารถเจือจางด้วย 5% Dextrose หรือ 0.9% Sodium chloride สัดส่วนการเจือจางให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเอก สารกำกับยา
  • การใช้ยาโปรตามีนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับยาเฮพารินเกินขนาด ไม่ควรใช้เวลาในการเตรียมยานานเกินไป ผู้ป่วยต้องได้รับยาทันเวลาและมีขนาดที่แม่นยำเหมาะสม
  • การใช้ยาโปรตามีน ซัลเฟตเกินขนาด แพทย์จะรักษาตามอาการผู้ป่วย และอาจต้องใช้การให้เลือดหรือให้พลาสมาทดแทนเพื่อช่วยผู้ป่วย
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโปรตามีนซัลเฟต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปรตามีน ซัลเฟตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โปรตามีน ซัลเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโปรตามีนซัลเฟตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบโลหิตวิทยา: เช่น ทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายซึ่งมีสาเหตุจากการได้รับยาโปรตามีนซัลเฟตเกินขนาด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า ใบหน้าแดง
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น รู้สึกร้อนตามร่างกาย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง

มีข้อควรระวังการใช้โปรตามีน ซัลเฟตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรตามีนซัลเฟต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้อาหารทะเล
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที และรีบให้แพทย์ทำการรักษาโดยเร็ว
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโปรตามีน ซัลเฟตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โปรตามีน ซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโปรตามีนซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาโปรตามีน ซัลเฟตร่วมกับยา Azithromycin, Allopurinol ด้วยจะทำให้ร่างกายทำลายยาโปรตามีนซัลเฟตได้น้อยกว่าปกติ จนเป็นเหตุให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากยาโปรตามีนซัลเฟตรุนแรงมากขึ้น
  • ห้ามใช้ยาโปรตามีน ซัลเฟตร่วมกับ ยาAmobarbital เพราะจะทำให้ร่างกายเร่งการทำลายยาโปรตามีน ซัลเฟตได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาโปรตามีน ซัลเฟตด้อยลงไป
  • ห้ามใช้ยาโปรตามีน ซัลเฟตร่วมกับ ยาClopidogrel เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา

ควรเก็บรักษาโปรตามีน ซัลเฟตอย่างไร?

ควรเก็บยาโปรตามีน ซัลเฟตร่วมภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โปรตามีน ซัลเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโปรตามีน ซัลเฟต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Protamine Sulphate LEO (โปรตามีน ซัลเฟต ลีโอ)LEO Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugbank.ca/drugs/DB09141 [2017,Dec7]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Protamine_sulfate [2017,Dec7]
  3. http://www.mims.com/philippines/drug/info/protamine%20sulfate?mtype=generic [2017,Dec7]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/protamine%20sulphate%20leo/?type=brief [2017,Dec7]
  5. https://www.drugs.com/monograph/protamine-sulfate.html [2017,Dec7]
  6. https://www.drugs.com/pro/protamine-sulfate-injection.html [2017,Dec7]
  7. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/16#item-9117 [2017,Dec7]
  8. https://www.drugs.com/sfx/protamine-side-effects.html [2017,Dec7]
  9. https://reference.medscape.com/drug/protamine-343746#3 [2017,Dec7]