โบรมาซีแพม (Bromazepam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโบรมาซีแพม(Bromazepam)เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซิปีน (Benzodiazepine) ตามกฎหมายไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ระบุให้ยาโบรมาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท4 สถานพยาบาลที่มียานี้จะต้องได้รับอนุญาตการมีไว้ครอบครองและจำหน่ายอย่างถูกต้อง รวมถึงการสั่งจ่ายยานี้จะต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น ทางคลินิกได้ใช้ยานี้เพื่อบำบัดอาการวิตกกังวล รวมถึงใช้ลดความกังวลกับคนไข้ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโบรมาซีแพม จะเป็นยาชนิดรับประทาน ที่สามารถถูกดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร หากรับประทานยานี้พร้อมอาหารจะทำให้อัตราการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยลง เมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือด จะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 70% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ผู้ที่ได้รับยาโบรมาซีแพมต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ จะเกิดความเสี่ยงต่อการติดยา หรือกรณีที่ใช้ยานี้เป็นเวลาตั้งแต่ 4 สัปดาห์ต่อเนื่อง แล้วหยุดการใช้ยานี้ทันที ผู้ป่วยอาจจะพบว่าเกิดอาการวิตกกังวลกลับคืนมาและเกิดภาวะถอนยาได้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะถอนยาดังกล่าว เมื่อจะหยุดใช้ยานี้ แพทย์จึงต้องค่อยๆปรับลดขนาดรับประทานของยานี้ลงอย่างเป็นลำดับ

ยาโบรมาซีแพม สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบได้บ่อย เช่น ง่วงนอน เดินเซ ความจำแย่ลง และวิงเวียน และการรับประทานยานี้ร่วมกับการดื่มสุรา จะทำให้ภาวะการเรียนรู้ของผู้ป่วยแย่หนักลงไปกว่าเดิม หรือการใช้ยานี้ในขนาดสูง สามารถทำให้ผู้ใช้ยาไม่สามารถจดจำเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ และการรับประทานยานี้เกินขนาดสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะโคม่าขึ้นได้

ข้อจำกัดบางประการของยาโบรมาซีแพม ที่ไม่เหมาะจะนำมาใช้กับผู้ป่วย อาทิ เช่น

  • เป็นผู้ที่ต้องควบคุมการทำงานของเครื่องจักร หรือขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ ด้วยอาการวิงเวียน ง่วงนอน จากยานี้ อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงรุนแรง ด้วยยานี้หากผ่านเข้าถึงทารก อาจทำอันตรายต่อทารกได้ เคยมีรายงานว่ายาโบรมาซีแพมเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของทารกมาแล้ว
  • ผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัวบางอย่าง ก็ไม่ควรใช้ยาโบรมาซีแพม อาทิเช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคตับระยะรุนแรง รวมถึงผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เราจะพบเห็นการใช้ยาโบรมาซีแพมได้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และไม่สามารถซื้อหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป นอกจากร้านยาที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายยานี้เท่านั้น

อนึ่ง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค/ผู้ป่วย การใช้ยาโบรมาซีแพมจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาอย่างเคร่งครัด

โบรมาซีแพมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โบรมาซีแพม

ยาโบรมาซีแพมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดอาการวิตกกังวล
  • ลดอาการกังวลกับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด

โบรมาซีแพมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโบรมาซีแพม มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า GABA receptor จึงก่อให้เกิดการยับยั้งอิทธิพลของสาร GABA ยานี้มีการออกฤทธิ์ได้นาน จึงก่อให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาท GABAในสมองอย่างเหมาะสม จนทำให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โบรมาซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโบรมาซีแพมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 1.5 และ 3 มิลลิกรัม/เม็ด

โบรมาซีแพมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโบรมาซีแพมมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 6 – 18 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้งตามแพทย์สั่ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้สูงอายุ: ขนาดรับประทานเริ่มต้นสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/วัน และแพทย์จะค่อยๆปรับเพิ่มขนาดรับประทานตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก

*อนึ่ง:

  • ผู้ป่วยโรคไตไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทาน
  • ผู้ป่วยโรคตับระดับไม่รุนแรงถึงระดับความรุนแรงปานกลาง แพทย์จะปรับขนาดรับประทานลงมา และห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับในระดับรุนแรง
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลังอาหารก็ได้ แต่ไม่ควรรับประทานพร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโบรมาซีแพม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโบรมาซีแพมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโบรมาซีแพม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2เท่า

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาโบรมาซีแพมบ่อยครั้ง อาจนำมาซึ่งภาวะถอนยา

โบรมาซีแพมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโบรมาซีแพม สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ เดินเซ ตัวสั่น มีอาการชัก
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ก้าวร้าว ซึมเศร้า ฝันร้าย รู้สึกสับสน ประสาทหลอน
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น กดการหายใจ เช่น หายใจเบา หายใจตื่น อัตราการหายใจลดลง จนถึงหยุดหายใจ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

มีข้อควรระวังการใช้โบรมาซีแพมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโบรมาซีแพม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยาโบรมาซีแพมสามารถส่งผลกระทบ(ผลข้างเคียง)อย่างรุนแรง การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาเท่านั้น
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานาน เพื่อป้องกันการถอนยา หรือการติดยา โดยทั่วไป ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 2 – 4 สัปดาห์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคหลอดเลือดสมอง โรคต้อหิน และผู้ที่ติดสุรา
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องระมัดระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโบรมาซีแพมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกร ประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โบรมาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโบรมาซีแพมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโบรมาซีแพมร่วมกับยา Cimetidine, Fluvoxamine, และ Propranolol สามารถส่งผลให้ระดับขอยาโบรมาซีแพมอยู่ในเลือดได้ยาวนานขึ้น จนเป็นเหตุให้ได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นตามมาจากยาโบรมาซีแพม หากไม่มีความจำเป็นใดๆ จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโบรมาซีแพมร่วมกับยาที่กดการทำงานของสมอง เช่นยา Barbiturates, Phenothiazines, ยานอนหลับ, ยาสลบ
  • การใช้ยาโบรมาซีแพมร่วมกับอาหาร จะทำให้การดูดซึมยานี้ลดน้อยลง จนอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา

ควรเก็บรักษาโบรมาซีแพมอย่างไร?

ควรเก็บยาโบรมาซีแพมภายใต้อุณหภูมิต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โบรมาซีแพมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโบรมาซีแพมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Lexotan (เลโซแทน)Roche

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Lectopam, Lexilium, Lexaurin, Brazepam, Rekotnil, Bromaze, Somalium, Lexotanil

บรรณานุกรม

  1. http://www.medbroadcast.com/Drug/GetDrug/Bromazepam [2016,Sept24]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/bromazepam?mtype=generic [2016,Sept24]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Bromazepam [2016,Sept24]