โทโคไลติก (Tocolytic)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- โทโคไลติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- โทโคไลติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โทโคไลติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โทโคไลติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โทโคไลติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โทโคไลติกอย่างไร?
- โทโคไลติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโทโคไลติกอย่างไร?
- โทโคไลติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์ (Intrauterine fetal demise)
- เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
- แคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blocker)
บทนำ
ยาโทโคไลติก (Tocolytic) หรือชื่ออื่นคือ Anti-contraction medication หรือ Labor repressant เป็นกลุ่มยาที่นำมาใช้ยับยั้งการหดตัวของมดลูกเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ช่วยยืดระยะเวลาการคลอดบุตรออกไปได้อีก 1 - 2 วันโดยอาจมีวัตถุประสงค์ช่วยให้ปอดของทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตเต็มที่เสียก่อน ยานี้จะใช้ไม่ได้ผลในกรณีถุงน้ำคร่ำแตกหรือปากมดลูกเปิดกว้างมากกว่า 2 - 4 เซนติเมตร
มีข้อห้ามใช้ยาไทโคไลติกอีกหลายกรณีที่ควรทราบเช่น
- มีการติดเชื้อในบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆตัวทารก
- มารดามีโรคหัวใจหรือมีอาการป่วยอย่างรุนแรงจากโรคต่างๆ
- มารดามีอาการครรภ์เป็นพิษหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์แล้ว
การใช้ยากลุ่มไทโคไลติกมักต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น และอาจจะแบ่งกลุ่มยาไทโคไลติกออกเป็นรายการต่างๆได้ดังนี้
ก. Terbutaline: เป็นยาในกลุ่ม Beta 2-adrenergic receptor agonist ปกติจะใช้รักษาอาการหอบหืด (โรคหืด) แต่ยาTerbutaline ยังช่วยยับยั้งการคลอดได้อีกด้วยโดยใช้ในลักษณะของยาชนิดรับประทาน แต่หากให้ยาทางหลอดเลือดดำก็ต้องควบคุมอัตราการหยดยาอย่างเหมาะสมและ ต้องเฝ้าระวังการบีบตัวของมดลูกอย่างใกล้ชิด หลังการใช้ยานี้แล้วยังพบอาการมดลูกบีบตัวอยู่อีก แพทย์จะฉีดยา Terbutaline เข้าใต้ผิวหนังซ้ำ ผู้ป่วยอาจได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆจากยานี้ได้เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว น้ำตาลในเลือดสูง คลื่นไส้ โพแทสเซียมในเลือดต่ำ นอกจากนี้ยาTerbutaline ยังสามารถส่งผลข้างเคียงกับตัวทารกได้เช่นกันอาทิเช่น หัวใจเต้นเร็ว น้ำตาลในเลือดอาจสูงหรือต่ำ โดยทั่วไปเมื่อเป็นการใช้ยานี้ชนิดฉีด ทีมแพทย์จะเป็นผู้เฝ้าระวังสัญญาณชีพของมารดาและของทารกอย่างใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติของมารดาเช่น แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบากหรือแม้แต่มดลูกยังมีการบีบตัว ทีมแพทย์จะเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเร็ว
ข. Ritodrine: อยู่ในกลุ่ม Beta 2 agonist (Beta 2-adrenergic receptor agonist) เช่นกัน ถูกใช้ชะลอการคลอดโดยมีรูปแบบเป็นยาฉีดที่ให้ทางหลอดเลือดดำ การออกฤทธิ์และผลข้างเคียงคล้าย ยา Terbutaline ก่อนการใช้ยานี้ผู้ป่วยควรต้องแจ้งประวัติโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง เช่น ป่วยด้วยโรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
ค. Nifedipine: อยู่ในกลุ่มยา Calcium channel blocker สามารถลดการบีบตัวของมดลูกและชะลอเวลาคลอดออกไปได้เช่นกัน มีรูปแบบเป็นยาชนิดรับประทาน อาการข้างเคียงบางอย่างที่พบเห็นหลังการใช้คือ มีอาการหน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ชีพจรเต้นผิดปกติ แต่จะไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงรุนแรงกับทารกแต่อย่างใด
ง. Magnesium sulfate: เป็นอีกหนึ่งตัวยาที่สามารถยับยั้งการบีบตัวของมดลูกได้ดีพอๆกับนำไปป้องกันและรักษาอาการชักในผู้ป่วยครรภ์เป็นพิษ มีทั้งรูปแบบยาเม็ดเพื่อรับประทานตลอดจนยาฉีดแบบให้ทางหลอดเลือดดำ อาการข้างเคียงที่พบเห็นหลังการใช้ยานี้เช่น มีอาการหน้าแดง คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า คัดจมูก ท้องผูก เป็นต้น การใช้ตัวยา Magnesium sulfate จะต้องระมัดระวังกับผู้ที่ มีโรคประจำตัวต่างๆดังต่อไปนี้เช่น เคยป่วยด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้น โรคหัวใจล้มเหลว โรคไต และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผลต่อทารกในครรภ์เท่าที่พบเห็นจะเป็นเรื่องทำให้หัวใจทารกเต้นช้าลง ทารกที่เกิดมาระหว่างที่ต้องใช้ยานี้อาจจะมีอาการเซื่องซึม ง่วงตลอดเวลา ร้องไห้งอแง และดื่มนมน้อย
จ. Indomethacin: อยู่ในกลุ่ม ยา NSAID ปกติใช้เป็นยาแก้ปวดแต่ก็มีฤทธิ์ช่วยชะลอการคลอดก่อนกำหนดของเด็กทารกได้ด้วย จะใช้เป็นลักษณะยาเม็ดชนิดรับประทานหรือใช้ในรูปแบบยาเหน็บทวารก็ได้ ผลข้างเคียงที่เด่นๆและพบเห็นบ่อยได้แก่ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ซึมเศร้า วิงเวียน หากใช้เป็นเวลานานๆยานี้ก็สามารถสร้างผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้เช่นเดียวกัน อาจจะเกิดอันตรายได้มากถ้ามารดามีประวัติเลือดออกง่าย หรือเคยแพ้ยาแอสไพริน หรือป่วยเป็นโรคไตมาก่อน
ฉ. Betamethasone: อยู่ในกลุ่ม Glucocorticoid steroid เป็นยาอีกหนึ่งรายการที่ทำให้อวัยวะปอดของทารกในครรภ์มีการพัฒนาการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งมักจะใช้ในรูปของยาฉีด ผลข้างเคียงที่อาจพบเห็นได้เช่น ทำให้มารดามีระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอนไม่หลับ และกับทารกในครรภ์จะทำให้มีการเคลื่อนไหวน้อยลง
นอกจากนี้ยังมียาชนิดอื่นๆอีกที่มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของมดลูกที่ไม่สามารถนำมากล่าวอ้าง ในบทความนี้ได้หมดอาทิเช่น Fenoterol, Salbutamol, Hexoprenaline, Atosiban และ Sulidac การจะเลือกใช้ยาเหล่านี้ชนิดใดเพื่อนำมารักษาผู้ป่วยด้วยวัตถุประสงค์ชะลอการคลอด แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะเป็นผู้พิจารณาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยที่สุด
โทโคไลติกมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโทโคไลติกมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- ป้องกันหรือชะลอการคลอดก่อนกำหนด
- ช่วยยืดระยะเวลาการคลอดออกไปเพื่อให้ปอดของทารกในครรภ์มีการพัฒนาอย่างเต็มที่
โทโคไลติกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
หากมองในภาพรวมๆของกลุ่มยาโทโคไลติกจะพบว่ายาในกลุ่มโทโคไลติกจะมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของมดหรือทำให้มดลูกผ่อนคลาย ส่งผลชะลอการคลอดได้ระดับหนึ่ง จนเป็นที่มาของการรักษาตามสรรพคุณ
โทโคไลติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
กลุ่มยาโทโคไลติกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเม็ด, ยาแคปซูล ชนิดรับประทาน และ
- ยาฉีด
โทโคไลติกมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ในบทความนี้ขอไม่กล่าวถึงขนาดการบริหารยา/ใช้ยาโทโคไลติกด้วยตัวยาในกลุ่มยาโทโคไลติกมีหลายรายการที่มีข้อแตกต่างทั้งในรูปลักษณะของผลิตภัณฑ์ (เช่น ยารับประทาน ยาฉีด) ความแรงของยา อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยา ซึ่งมีทั้งคล้ายกันหรือแตกต่างกัน ดังนั้นขนาดยากลุ่มนี้จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะเป็นผู้คัดกรองการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องปลอดภัยที่สุด
อนึ่งอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของแต่ละตัวยาที่ได้กล่าวในหัวข้อ “บทนำ” ได้ในเว็บ haamor. com เช่นยา Terbutaline, Ritodrine เป็นต้น
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดร่วมยาโทโคไลติกผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโทโคไลติกอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยากลุ่มโทโคไลติกมักมีการใช้แต่ในสถานพยาบาล โอกาสการลืมใช้ยาจึงเป็นไปได้น้อยมาก
โทโคไลติกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
อาจแยกผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์และกับมารดาจากการใช้ยาโทโคไลติกดังนี้เช่น
ก. อาการข้างเคียงที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นเร็ว น้ำตาลในเลือดต่ำ ฮอร์โมนอินซูลินในเลือดสูง หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ มีภาวะสารบิลิรูบินในเลือดเพิ่มสูง ความดันโลหิตต่ำหรือความดันโลหิตสูง หลอดลมหดเกร็งตัว มีภาวะกดการทำงานของระบบการหายใจ
ข. อาการข้างเคียงที่อาจเกิดกับมารดา: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะน้ำท่วมปอด/ปอดบวมน้ำ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว น้ำตาลในเลือดสูง เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ กระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ ประสาทหลอน วิงเวียน วิตกกังวล มีอาการตัวสั่น ความดันโลหิตต่ำ ตัวบวม หน้าแดง ปวดศีรษะ แสบร้อนกลางอก หัวใจล้มเหลวจนถึงขั้นอาจเสียชีวิต
มีข้อควรระวังการใช้โทโคไลติกอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทโคไลติกเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาต่างๆในกลุ่มโทโคไลติก
- ห้ามใช้ยานี้กับทารกในครรภ์ที่มีอายุ 34 สัปดาห์ขึ้นไป
- ห้ามใช้ยานี้กับมารดาที่ปากมดลูกเปิดเกิน 4 เซนติเมตร
- ห้ามใช้ยานี้กับมารดาที่ทารกตายในครรภ์
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีเลือดออกจากช่องคลอด ผู้ที่มีโรคหัวใจ มารดาที่มีภาวะถุงน้ำคร่ำแตก
- หากพบอาการแพ้ยากลุ่มนี้เช่น แน่นหน้าอก มีผื่นคันเต็มตัว ตัวบวม ต้องหยุดการใช้ยาทันทีแล้วแจ้งแพทย์พยาบาลทันที
- ขณะใช้ยานี้ควรเฝ้าระวังสัญญาณชีพของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทโคไลติกด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โทโคไลติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโทโคไลติกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยา Terbutaline ร่วมกับกลุ่มยาที่เป็นอนุพันธุ์แซนทีน (Xanthine derivatives) จะทำ ให้เกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หากเป็นไปได้ควรเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยา Ritodrine ร่วมกับยา Dolasetron, Droperidol, Methadone อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Nifedipine ร่วมกับยาที่มีส่วนประกอบของ Calcium (เช่น Calcium carbonate) อาจทำให้ฤทธิ์ของการรักษาด้วยยา Nifedipine ด้อยประสิทธิภาพลงไป หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาโทโคไลติกอย่างไร?
ควรเก็บยาโทโคไลติกตามข้อกำหนดในเอกสารกำกับยา เก็บผลิตภัณฑ์ยานี้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดง ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โทโคไลติกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทโคไลติกที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bucanyl (บูคานิล) | Burapha |
Broncholine (บรอนโคใลน์) | T. O. Chemicals |
Cofbron (คอฟบรอน) | MacroPhar |
Framagon (ฟรามากอน) | Bangkok Lab & Cosmetic |
P-Canyl (พี-คานิล) | Osoth Interlab |
Proasma (โปรแอสมา) | Medicine Products |
Terbu (เทอร์บู) | Suphong Bhaesaj |
Terbulin Chinta (เทอร์บูลิน) | Chinta |
Terbutaline Sulfate GPO (เทอร์บูทาลีน ซัลเฟต จีพีโอ) | GPO |
Terbutaline T.O. (เทอร์บูทาลีน ที.โอ.) | T.O. Chemicals |
Tolbin (โทลบิน) | Unison |
Vacanyl (วาคานิล) | Atlantic Lab |
Feto Care (เฟโท แคร์) | Swiss Pharma Pvt. Ltd. |
Gynospa (จายโนสปา) | Saimark Biotech Pvt. Ltd. |
Miolene (มิโอลีน) | Menarini Raunaq Pharma Limited |
Pregtaer (เพร็กแทร์) | Shreeyam Health Care |
Ristore (ริสโทร์) | East West Pharma |
Ritodine (ริโทดีน) | Troikaa Parenterals Pvt. Ltd. |
Ritolan (ริโทแลน) | Juggat Pharma |
Ritopar UR (ริโทพาร์ ยูอาร์) | Mercury Laboratories Ltd. |
Ritrod (ริทรอด) | Neon Laboratories Ltd. |
Tocopar (โทโคพาร์) | Dewcare Concept |
Utdrine (อัทดรีน) | Mediwin Pharmaceuticals |
Utgard (อัทการ์ด) | Ind-Swift Limited |
Adalat CR (แอดาแลท ซีอาร์) | Bayer HealthCare Pharma |
Adipine (แอดิปีน) | Patar Lab |
Calcigard Retard (แคลซิการ์ด รีทาร์ด) | Torrent |
Depin-E Retard (ดิปิน-อี รีทาร์ด) | Zydus Cadila |
Nelapine/Nelapine SR (เนลาปีน/เนลาปีน เอสอาร์) | Berlin Pharm |
Nicardia (นิคาร์เดีย) | J.B. Chemicals |
Nicardia CD (นิคาร์เดีย ซีดี) | Unique |
Nicardia Retard (นิคาร์เดีย รีทาร์ด) | J.B. Chemicals |
Nifedi-Denk 20 Retard | E Denk |
Nifedipin T20 Stada Retard (ไนเฟดิปิน ที20 สตาดา รีทาร์ด) | Stada |
Nifelat (ไนเฟเลท) | Remedica |
Nifelat Q (ไนเฟเลท คิว) | Remedica |
Magfifty (แมกฟิฟตี้) | Umeda |
Maglax (แมกแลกซ์) | New York Chemical |
Magnesium Sulphate Atlantic (แมกนีเซียมซัลเฟตแอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Multicap (มัลติแคป) | Sriprasit Dispensary |
บรรณานุกรม
- http://www.spensershope.org/Tocolytic%20Medications.html [2016,May14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tocolytic [2016,May14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Terbutaline [2016,May14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ritodrine [2016,May14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nifedipine [2016,May14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Indometacin [2016,May14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Magnesium_sulfate [2016,May14]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Betamethasone [2016,May14]