โทลาซาไมด์ (Tolazamide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 28 ธันวาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- โทลาซาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โทลาซาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โทลาซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โทลาซาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โทลาซาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โทลาซาไมด์อย่างไร?
- โทลาซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโทลาซาไมด์อย่างไร?
- โทลาซาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- ซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea)
- กลุ่มอาการคล้ายปฏิกิริยาจากยาไดซัลฟิแรม (Disulfiram-like Reaction)
บทนำ
ยาโทลาซาไมด์(Tolazamide หรือ Ben-zenesulfonamide) เป็นยาในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ทางคลินิกใช้ยานี้สำหรับรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยยาโทลาซาไมด์จะเข้าไปกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลในเลือดได้เป็นปกติ รูปแบบผลิตภัณฑ์ของยานี้ เป็นยาชนิดรับประทาน โดยรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้งหลังอาหารเช้าภายใน 20 นาที หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้จะเริ่มออกฤทธิ์โดยทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดลดลง ยานี้ออกฤทธิ์ได้ยาวนานประมาณ 10 – 24 ชั่วโมง และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
การใช้ยาโทลาซาไมด์ อาจไม่ใช่ทางเลือกต้นๆในการรักษาโรคเบาหวาน แพทย์จะหันมาใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อการใช้ยารักษาเบาหวานกลุ่มซัลโฟนิลยูเรียตัวอื่น ใช้ไม่ได้ผล หรือมีการตอบสนองต่อการรักษาต่ำ เคยมีการเปรียบเทียบความแรงของยารักษาเบาหวานพบว่า ยาโทลาซาไมด์ออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายาโทลบูตาไมด์ (Tolbutamide) ถึง 5 เท่า
อย่างไรก็ตาม มีคำเตือนของการใช้ยาโทลาซาไมด์ประการหนึ่งที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบคือ ยาโทลาซาไมด์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ และยานี้ไม่เหมาะกับสตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานร่วมด้วย(โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์) จากมีการศึกษาวิจัยพบว่า ยานี้อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของสตรีตั้งครรภ์ผิดปกติและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้
อาจสรุปข้อควรระวังและข้อพึงปฏิบัติต่างๆของการใช้ยาโทลาซาไมด์ได้ดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่อยู่ในภาวะเลือดเป็นกรด(Diabetic ketoacidosis) หรือ ในภาวะโคม่าจากเบาหวาน(Diabetic coma)
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยประเภทแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกในระดับความรุนแรงปานกลางจนถึงระดับรุนแรงมาก
- หากมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคตับ โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ โรคหัวใจ ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยยารักษาเบาหวานที่รวมถึงยาโทลาซาไมด์
- กรณีที่มียาอื่นใดที่ใช้อยู่ก่อน ต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบเช่นกัน เพราะยาต่างๆหลายรายการ สามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาโทลาซาไมด์ได้ อาทิเช่น ยากลุ่ม Beta-blockers, ACE inhibitor, ยาต้านการแข็งตัวของเลือดม ยารักษาเชื้อรา/ยาต้านเชื้อรา, ยากลุ่มMAOI, NSAIDs, ยา กลุ่มSulfonamides, Calcium channel blockers, ยาลดน้ำมูก, ยากลุ่มCorticosteroids, ยาขับปัสสาวะ, ยากลุ่มPhenothiazines, ยาเม็ดคุมกำเนิด ยากลุ่มSympathomimetics, ยาลดไขมันในเลือดบางชนิด อย่างเช่น Gemfibrozil และยากลุ่มไทรอยด์ฮอร์โมน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยาโรคไทรอยด์)
- โดยทั่วไป การรับประทานยาโทลาซาไมด์ เพียงวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้าก็เพียงพอต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การรับประทานยานี้ควรตรงตามเวลาในแต่ละวัน และห้ามปรับเพิ่มหรือลดขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ด้วยจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีอาการ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
- ควรต้องควบคุมอาหาร มีการออกกำลังกาย และมีการพักผ่อนให้เหมาะสมควบคู่ไปกับการใช้ยาโทลาซาไมด์ ที่จะทำให้เกิดประสิทธิผลของการรักษาโรค เบาหวานได้ดียิ่งขึ้น
- เรียนรู้ถึงอาการน้ำตาลในเลือดต่ำหรือน้ำตาลในเลือดสูงด้วยการสอบถามจาก แพทย์ พยาบาล และ/หรือเภสัชกร เพื่อเป็นการตรวจประเมินร่างกายเบื้องต้น เพราะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไป สามารถก่อผลเสียต่อตัวผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น และเมื่อเกิดภาวะดังกล่าว ผู้ป่วยควรรีบมาโรงพยาบาลเสมอโดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
- ห้ามนำยาโทลาซาไมด์ไปรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
- อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่พบบ่อยเมื่อมีการใช้ยาโทลาซาไมด์ คือ รู้สึกแน่นท้อง แสบร้อนกลางอก และมีอาการคลื่นไส้
- หากได้รับยานี้เกินขนาด อาจมีอาการดังต่อไปนี้เช่น เกิดอาการโคม่า รู้สึกสับสน ไม่สามารถครองสติได้ ปวดท้อง คลื่นไส้ ชีพจรเต้นเร็ว มีอาการชัก เหงื่อออกมาก ตัวสั่น และอาเจียน ซึ่งเมื่อรับประทานยานี้และเกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
อนึ่ง หากผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลของยาโทลาซาไมด์ เพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่รักษาโรคเบาหวาน หรือจากเภสัชกรได้ทั่วไป
โทลาซาไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโทลาซาไมด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Non-insulindependent typeII) โดยผู้ป่วยจะต้องควบคุมอาหาร ควบคุมน้ำหนักตัว และมีการออกกำลังกายร่วมด้วยเสมอ การควบคุมโรคเบาหวานจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด
โทลาซาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโทลาซาไมด์คือ ตัวยาจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน และช่วยเพิ่มการตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ร่างกายมีการใช้น้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดได้มากยิ่งขึ้น จนส่งผลให้เกิดฤทธิ์รักษาโรคเบาหวานได้ตามสรรพคุณ
โทลาซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโทลาซาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 และ 250 มิลลิกรัม/เม็ด
โทลาซาไมด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโทลาซาไมด์มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานยา 100 – 250 มิลลิกรัม วันละ1ครั้งหลังอาหารเช้าภายใน 20 นาที ทั้งนี้ขนาดยาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์โดยพิจารณาความรุนแรงของโรคเบาหวานขณะนั้น และขนาดรับประทานสูงสุดห้ามเกิน 1,000 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- การรับประทานยานี้หลังอาหารเช้า เพื่อให้ยาควบคุมระดับน้ำตาลในระหว่างวันได้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองขณะที่อยู่ในที่พักอาศัยตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ กรณีพบว่าการใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดแล้วไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ควรรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโทลาซาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคไทรอยด์ โรคหัวใจ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโทลาซาไมด์ อาจส่งผลให้ อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโทลาซาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการบำบัดอาการโรคเบาหวาน ควรรับประทานยาโทลาซาไมด์ตรงขนาดและตรงเวลาตามที่แพทย์สั่ง
โทลาซาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทลาซาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดอาการของ Disulfiram-like reaction และอาจพบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อาจมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดขาวต่ำ(Leukopenia) Agranulocytosis( เม็ดเลือดขาวชนิดGranulocyte ต่ำ) Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ) Pancytopenia(เม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ) โลหิตจางด้วยเม็ดเลือดแดงแตก
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบอาการ ผื่นคัน ลมพิษ เกิดผื่นที่คล้ายเป็นหัด ผิวหนังแพ้แสงแดดได้ง่าย
มีข้อควรระวังการใช้โทลาซาไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทลาซาไมด์ เช่น
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยากลุ่ม Sulfonylureas
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1
- ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดใหญ่
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยอาการติดเชื้อในระยะรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีบาดแผลฉีกขาดในระดับรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะไตทำงานบกพร่องอย่างรุนแรง เช่น ภาวะ Uraemia
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มจีซิกพีดี (G6PD,ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี) ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
- ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย พักผ่อนอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้อาการเบาหวานกลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทลาซาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกร ประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โทลาซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
โทลาซาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโทลาซาไมด์ร่วมกับยาต้านเชื้อรา เช่น Miconazole, Fluconazole, อาจทำให้ระดับยาโทลาซาไมด์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำตาล ในเลือดต่ำตามมา กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโทลาซาไมด์ร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยเสี่ยงต่อการมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ก็ต่ำ ซึ่งภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออาการเบาหวานของผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น
- การใช้ยาโทลาซาไมด์ร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs อย่างเช่น Ibuprofen อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาโทลาซาไมด์ร่วมกับยา Hydrocortisone อาจทำให้ประสิทธิภาพของ ยาโทลาซาไมด์ด้อยลงไปจนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาโทลาซาไมด์อย่างไร?
ควรเก็บ ยาโทลาซาไมด์ในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โทลาซาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทลาซาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tolinase (โทลิเนส) | Pharmacia Corp |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/pro/tolazamide.html [2016,Dec10]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/tolazamide?mtype=generic [2016,Dec10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tolazamide [2016,Dec10]
- http://www.webmd.com/drugs/2/drug-8719/tolazamide-oral/details#uses [2016,Dec10]