โทลคาโปน (Tolcapone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 กันยายน 2560
- Tweet
- บทนำ
- โทลคาโปนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โทลคาโปนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โทลคาโปนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โทลคาโปนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โทลคาโปนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โทลคาโปนอย่างไร?
- โทลคาโปนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโทลคาโปนอย่างไร?
- โทลคาโปนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แคทิคอล-โอ-เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) อินฮิบิเตอร์ (Catechol-O-methyl transferase (COMT) inhibitors)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- กล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)
- โรคตับ (Liver disease)
- ตับวาย ตับล้มเหลว (Liver failure)
บทนำ
ยาโทลคาโปน (Tolcapone)เป็นยาในกลุ่ม Catechol-O-methyl transferase (COMT) inhibitors มีกลไกที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Catechol-O-methyl transferase(เอนไซม์ที่ใช้ทำลายสารสื่อประสาทบางชนิด เช่น Dopamine)ทำให้สารสื่อประสาท อย่างเช่น Dopamine, Norepinephrine, Epinephrine, ในสมองมีปริมาณมากขึ้น และส่งผลต่อกระบวนการควบคุมการเคลื่อนไหวตลอดจนการทรงตัวของร่างกายให้ดีขึ้น ทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาอาการโรคพาร์กินสัน(Parkinson’s disease) แต่ยาโทลคาโปนสามารถก่อให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อตับ จึงเป็นเหตุผลให้ยานี้ถูกระงับการใช้เป็นเวลายาวนานมากกว่า 10 ปี แต่ ปัจจุบัน แพทย์ได้กลับมาใช้ยาโทลคาโปนในการรักษาโรคพาร์กินสันอีกครั้ง โดยมุ่งเน้น กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นๆรักษาแล้วไม่ได้ผล โดยในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาโทลคาโปนไป 3 สัปดาห์แล้ว อาการของโรคยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะสั่งหยุดการใช้ยานี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับตับนั่นเอง
ยังมีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังในการใช้ยาโทลคาโปน ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบอาทิ
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคตับ
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับผู้ที่ได้รับยากลุ่ม MAOI อย่างเช่น Phenelzine ด้วยการใช้ยา ร่วมกัน จะก่อให้เกิดความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงตามมา นอกจากนี้ยังมียาอื่นๆอีก มากมายหลายรายการ ที่เมื่อใช้ร่วมกับยาโทลคาโปน แล้วสามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับ ผลกระทบ/อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้มากมาย เช่นยา Warfarin, Apomorphine Dobutamine, Isoproterenol, Levodopa, Methyldopa, Albuterol และ Pseudoephedrine
- ห้ามหยุดใช้ยานี้กะทันหัน เพราะจะทำให้มีอาการโรคพาร์กินสันเกิดขึ้น รวมถึงพบเห็นอาการไข้ และมีความรู้สึกสับสนตามมา
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนมากยิ่งขึ้น
- ยาโทลคาโปนอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้เมื่อเริ่มรับประทานในครั้งแรก หรือผู้ป่วยบางรายจะมีอาการท้องเสีย กรณีนี้ให้รีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อเยียวยาอาการข้างเคียงดังกล่าว และไม่สมควรไปซื้อหายาบรรเทาอาการคลื่นไส้หรือท้องเสียมารับประทานเอง
- ยาโทลคาโปนสามารถทำให้สูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้อของแขน-ขา กราม ลิ้น แก้ม หากพบเห็นกรณีดังกล่าว ให้ผู้ป่วยรีบ กลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลสถานเดียวโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- *ห้ามรับประทานยานี้เกินขนาด เพราะจะก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน
ทั้งนี้ การใช้ยาโทลคาโปนเพื่อรักษาอาการโรคพาร์กินสัน ต้องอาศัยการใช้ยานี้อย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้วันละ 3 ครั้ง เพื่อให้เกิดฤทธิ์ควบคุมอาการพาร์กินสันได้อย่างเป็นปกติ และในต่างประเทศเราอาจพบเห็นการจัดจำหน่ายยา นี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Tasmar”
โทลคาโปนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโทลคาโปนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาอาการโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
โทลคาโปนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
สาร Levodopa เป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทตัวอื่นๆ อย่างเช่น Dopamine , Norepinephrine และ Epinephrine ซึ่งยาโทลคาโปนจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่คอยทำลายสาร Levodopa จึงส่งผลให้สารสื่อประสาทต่างๆเหล่านั้นในสมอง มีปริมาณพอเพียงและเกิดสมดุลอย่างเหมาะสม ปริมาณสารสื่อประสาทดังกล่าวที่เหมาะสมนี่เอง ที่ทำให้ร่างกายมนุษย์สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมถึงการควบคุมการเคลื่อนไหว ได้เป็นปกติ จากกลไกนี้เองทำให้ยาโทลคาโปนมีฤทธิ์รักษาอาการโรคพาร์กินสันได้ตามสรรพคุณ
โทลคาโปนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโทลคาโปนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Tolcapone ขนาด 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
โทลคาโปนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโทลคาโปน มีขนาดรับประทานสำหรับบำบัดอาการโรคพาร์กินสัน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เช้า-กลางวัน-เย็น ขนาดรับประทานยานี้สูงสุดไม่เกินครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตในระยะรุนแรง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโทลคาโปน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาโทลคาโปน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโทลคาโปน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโทลคาโปน ตรงเวลา
โทลคาโปนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทลคาโปนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น เกิดพิษกับตับอย่างรุนแรงจนอาจเกิดตับวายจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องเสียหรือท้องผูก อาเจียน ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องอืด และปากแห้ง
- ผลต่อกล้ามเนื้อและข้อ: เช่น เกิดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง เป็นตะคริว ข้ออักเสบ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่าย หายใจขัด/หายใจลำบาก แน่น/คัดจมูก
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่าย สีของปัสสาวะซีดจาง
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีเลือดออกใต้ผิวหนังได้ง่าย ผมร่วง เหงื่อออกมาก อาจกระตุ้นการเกิดเนื้องอกที่ผิวหนัง
- ผลต่อตา: เช่น เกิดภาวะต้อกระจก เยื่อตาอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ นอนไม่หลับ ฝันประหลาด ง่วงนอน วิงเวียน รู้สึกสับสน ปวดศีรษะ ประสาทหลอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน สูญเสียการทรงตัว
มีข้อควรระวังการใช้โทลคาโปนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทลคาโปน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ยากลุ่ม Catechol-O-methyl transferase (COMT) inhibitor
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุนอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ ให้ระวังการเกิดภาวะ ความดันโลหิตต่ำ ประสาทหลอน การเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก หรือแม้แต่ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโทลคาโปนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยา ใช้เองเสมอ
โทลคาโปนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโทลคาโปนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโทลคาโปนร่วมกับยา Clemastine , Propoxyphene, อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆ ตามมา เช่น วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ขาดสมาธิ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามใช้ยาโทลคาโปนร่วมกับยา Methylene blue ด้วยจะเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูง และ เกิดภาวะ/กลุ่มอาการที่เรียกว่า Serotonin syndrome ติดตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโทลคาโปนร่วมกับยา Sodium oxybate เพราะจะทำให้เกิดอาการความดันโลหิตต่ำ ง่วงนอน วิงเวียน รู้สึกสับสน ซึม หายใจช้าลง และกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดภาวะโคม่าและส่งผลให้เสียชีวิตได้
ควรเก็บรักษาโทลคาโปนอย่างไร?
ควรเก็บยาโทลคาโปนภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โทลคาโปนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทลคาโปน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tasmar (ทาสมาร์) | Valeant Pharmaceuticals International |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tolcapone#Mechanism_of_action[2017,Sept9]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00323[2017,Sept9]
- https://www.drugs.com/cdi/tolcapone.html[2017,Sept9]
- https://www.drugs.com/dosage/tolcapone.html[2017,Sept9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/L-DOPA#Medical_use[2017,Sept9]
- http://www.mims.com/malaysia/drug/info/tolcapone?mtype=generic[2017,Sept9]