โทรวาฟลอกซาซิน (Trovafloxacin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 กุมภาพันธ์ 2562
- Tweet
- บทนำ
- โทรวาฟลอกซาซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โทรวาฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โทรวาฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โทรวาฟลอกซาซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โทรวาฟลอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โทรวาฟลอกซาซินอย่างไร?
- โทรวาฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโทรวาฟลอกซาซินอย่างไร?
- โทรวาฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)
- ควิโนโลน (Quinolones)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ
ยาโทรวาฟลอกซาซิน(Trovafloxacin) จัดเป็นยาปฏิชีวนะประเภท Fluoroquinolone รุ่นที่4 ที่มีการออกฤทธิ์กว้าง(Broad-spectrum antibacterial agent) กลไกการออกฤทธิ์คล้ายกับยา Ciprofloxacin และสามารถใช้ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด Pneumococci ได้เป็นอย่างดี
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโทรวาฟลอกซาซิน มีทั้งแบบรับประทาน และแบบยาฉีด กรณียารับประทานมีตัวยาสำคัญ คือ ‘Trovafloxacin mesilate’ ซึ่งมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกายได้เป็นอย่างดี ขณะที่ยาฉีดจะใช้ตัวยาสำคัญที่มีชื่อเรียกว่า ‘อะลาโทรฟลอกซาซิน(Alatrofloxacin)’ ซึ่งเป็นตัวยาที่ยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ เมื่อฉีดเข้าสู่กระแสเลือด ร่างกายจะเปลี่ยนสารอะลาโทรฟลอกซาซินไปเป็น โทรวาฟลอกซาซิน เสียก่อนจึงสามารถแสดงฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียได้
ในปี ค.ศ.1996(พ.ศ.2539) มีการนำยาโทรวาฟลอกซาซินไปช่วยเหลือเด็ก ในประเทศไนจีเรียที่ป่วยด้วยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ(Meningitis) พบว่ายานี้สามารถ ส่งผลเสียต่อการทำงานของ ตับ ตา การได้ยิน และสามารถสร้างความเสียหายต่อสมองจึงมีข้อสรุปและบันทึกข้อมูลทางคลินิกถึงข้อห้ามใช้และข้อควรระวังอีกมากมายของยานี้ อาทิ
- ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง, ผู้ที่แพ้ยากลุ่ม Quinolones, เด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี, สตรีในภาวะให้นมบุตรและสตรีมีครรภ์, ห้ามใช้ยาโทรวาฟลอกซาซินโดยเด็ดขาด
- ใช้โทรวาฟลอกซาซินอย่างระมัดระวังกับ ผู้ป่วยโรคตับ, ผู้ที่มีภาวะร่างกายขาด เอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD Deficiency), ผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคทางสมอง
- ระหว่างที่ได้รับยาโทรวาฟลอกซาซิน ยังต้องระมัดระวังเรื่องการออกไปสัมผัสกับแสงแดด ด้วยตัวยาจะทำให้ผิวหนังแพ้แสงแดด/ผื่นแพ้แสงแดดได้ง่ายขึ้น
- ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที หากพบว่ามีอาการปวดเส้นเอ็น หรือมีภาวะเส้นเอ็นอักเสบเกิดขึ้น
- การใช้ยาชนิดนี้นานเกิน 2 สัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงสร้างความเป็นพิษกับตับ
ดังนั้น การใช้ยาโทรวาฟลอกซาซินจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันการนำตัวยาชนิดนี้มาใช้จึงมีน้อยลง และบางประเทศอย่างอเมริกา ได้ยกเลิกการใช้ยาโทรวาฟลอกซาซิน และหันไปใช้ยาอื่นๆที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า
โทรวาฟลอกซาซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโทรวาฟลอกซาซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียของอวัยวะต่างๆ เช่น
- โรคปอดบวม
- โรคติดเชื้อทางผิวหนัง
- การติดเชื้อภายในช่องท้อง
- การติดเชื้อในทางเดินสืบพันธุ์
- การติดเชื้อของอุ้งเชิงกราน รวมถึง
- การติดเชื้อที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน
โทรวาฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาโทรวาฟลอกซาซินมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 2 ชนิดของแบคทีเรีย คือ
- DNA gyrase: ซึ่งทำหน้าที่จำลองและถอดรหัสในสารพันธุกรรม รวมถึงซ่อมแซมสารพันธุกรรมที่เสียหายเพื่อสร้างความพร้อมในการเจริญเติบโต
- Topoisomerase: เป็นเอนไซม์ที่ใช้แบ่งแยกสารพันธุกรรมขณะที่แบคทีเรีย มีการแบ่งเซลล์
ด้วยกลไกข้างต้น จึงส่งผลให้แบคทีเรียหมดความสามารถในการสร้างสารพันธุกรรม หยุดการแบ่งเซลล์ และตายลงในที่สุด
โทรวาฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโทรวาฟลอกซาซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีตัวยา Trovafloxacin mesylate 100 และ 200 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Alatrofloxacin mesylate เทียบเท่าตัวยา Trovafloxacin ขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยมีขนาดบรรจุ 40 และ 60 มิลลิลิตร/ขวด
โทรวาฟลอกซาซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโทรวาฟลอกซาซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้เยา เช่น
ก. สำหรับการติดเชื้อปอดบวม, การติดเชื้อที่ผิวหนัง: เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 200 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
- กรณีของโรคปอดบวม อาจใช้เวลารับประทานยา 7–14 วัน
- กรณีของโรคติดเชื้อทางผิวหนัง อาจใช้เวลารับประทานยา 10–14 วัน
ข. สำหรับการติดเชื้อในช่องท้อง, การติดเชื้อในทางเดินสืบพันธุ์, การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, และการติดเชื้อปอดบวมในโรงพยาบาล: เช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 300 มิลลิกรัม ห้ามฉีดยาเข้าหลอดเลือดในครั้งเดียว ทางคลินิกให้หยดยาเข้าหลอดเลือดฯโดยใช้เวลา 60 นาทีขึ้นไป จากนั้นแพทย์อาจใช้ยารับประทาน 200 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
- สำหรับการติดเชื้อปอดบวมในโรงพยาบาล แพทย์อาจให้ยารับประทาน 10–14 วัน
- กรณีติดเชื้อในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานอาจใช้ยารับประทานนาน 7–14 วัน
อนึ่ง:
- ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาโทรวาฟลอกซาซิน ก่อน หรือ หลัง อาหารก็ได้
- กรณียาฉีด ห้ามละลายตัวยาด้วยสารละลาย 0.9% Sodium chloride หรือ Lactated Ringer’s ด้วยจะทำให้เกิดสภาพความไม่คงตัวของยาฉีด
- สารละลายที่แนะนำสำหรับเจือจางยาฉีด ได้แก่ 5% Dextrose หรือ 0.45% Sodium chloride หรือ 5% Dextrose + 0.45% Sodium chloride หรือ 5% Dextrose + 0.2% Sodium chloride
- เด็ก/ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในด้านประสิทธิผลและผลข้างเคียงจากยานี้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโทรวาฟลอกซาซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโทรวาฟลอกซาซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิด ผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโทรวาฟลอกซาซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
โทรวาฟลอกซาซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทรวาฟลอกซาซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ เกิดอาการชัก ความดันในกะโหลกศีรษะสูง มีอาการสั่น กระสับกระส่าย
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เลือดออกง่าย ปริมาณสาร Prothrombin มีระดับลดลง มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เป็นตะคริว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อสภาพทางจิตใจ: เช่น เห็นภาพหลอน
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ทำให้ผิวหนังแพ้แสงแดด/ผื่นแพ้แสงแดดง่ายขึ้น มีภาวะ Stevens-Johnson syndrome เกิดผื่นคัน มีเหงื่อออกมาก ผิวหนังเย็น
- ผลต่อตับ:เช่น เป็นพิษกับตับ/ ตับอักเสบ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หรือไม่ก็ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นช้า หรือไม่ก็หัวใจเต้นเร็ว
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ น้ำลายมาก อาเจียน ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Pseudomembranous colitis)
- ผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์: เช่น ช่องคลอดอักเสบ
มีข้อควรระวังการใช้โทรวาฟลอกซาซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้โทรวาฟลอกซาซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานานเกินคำสั่งแพทย์
- ระหว่างได้รับยานี้ หากเกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาห็ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโทรวาฟลอกซาซิน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โทรวาฟลอกซาซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโทรวาฟลอกซาซิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโทรวาฟลอกซาซิน ร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs อาจทำให้เกิด การกระตุ้นสมองจนเกิดอาการชักตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาโทรวาฟลอกซาซิน ร่วมกับยาลดกรดกลุ่มที่มีแมกนีเซียม(เช่นยา Magnesium hydroxide) และอะลูมิเนียม (เช่นยา Aluminium hydroxide)เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะส่งผลต่อการดูดซึมของยาโทรวาฟลอกซาซินจนทำให้ประสิทธิภาพของการรักษาด้อยลง
- การใช้ยาโทรวาฟลอกซาซิน ร่วมกับยากลุ่มสเตียรอยด์ เช่นยา Prednisone, Triamcinolone อาจทำให้เกิดภาวะเส้นเอ็นอักเสบจนถึงขั้นปริแตก โดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโทรวาฟลอกซาซิน ร่วมกับยาTramadol ในผู้ป่วยที่มีประวัติเป็น โรคลมชัก ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะทำให้เกิดความเสี่ยงกระตุ้นให้เกิดอาการชักมากยิ่งขึ้น
- ห้ามใช้ยาโทรวาฟลอกซาซิน ร่วมกับยาTeriflunomide ด้วยทำให้เกิดพิษกับตับ ของผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาโทรวาฟลอกซาซินอย่างไร
ควรเก็บรักษายาโทรวาฟลอกซาซิน เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
- ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ
โทรวาฟลอกซาซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
โทรวาฟลอกซาซิน มีชื่อการค้าที่วางจำหน่ายคือ ‘Trovan’ แต่ในปัจจุบันด้วยอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นกับตับ ทำให้การใช้ยานี้ค่อยๆเสื่อมความนิยมไป
บรรณานุกรม
- file:///C:/Users/apai/Downloads/20060713_da9b26bb-d2d7-4113-a0f9-c6c2280f4875.pdf [2019,Feb2]
- https://www.drugs.com/mtm/trovafloxacin.html [2019,Feb2]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/trovafloxacin%20mesilate/?type=brief&mtype=generic[2019,Feb2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Trovafloxacin [2019,Feb2]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00685[2019,Feb2]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/trovafloxacin-index.html?filter=3#M [2019,Feb2]