โทรปิคาไมด์ (Tropicamide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโทรปิคาไมด์ (Tropicamide) เป็นยาประเภท Anticholinergic ถูกนำมาใช้เป็นยาขยายรูม่านตา เป็นยาช่วยในการทำหัตถการกับลูกตาของจักษุแพทย์เช่น การตรวจสอบแก้วตา น้ำวุ้นตา/วุ้นตา และจอตา/จอประสาทตา นอกจากนี้ยังมีการใช้ยานี้ก่อนและหลังผ่าตัดอีกด้วย

ยาโทรปิคาไมด์เป็นยาที่ออกฤทธิ์ระยะสั้น (ประมาณ 4 - 8 ชั่วโมง) หลังการหยอดยาม่านตาจะค่อยๆกลับสู่สภาพเดิมภายในระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โทรปิคาไมด์เป็นที่นิยมมากกว่ายา Atropine ด้วย Atropine จะออกฤทธิ์ที่นานกว่า บางครั้งกับผู้ป่วยบางรายทำให้การมองเห็นภาพไม่ชัดเจนนานเป็นสัปดาห์ก็มี

เคยมีรายงานที่พบว่า ผู้ป่วยเด็กที่มีตาสีฟ้าจะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ได้ง่ายกว่าคนกลุ่มอื่น ซึ่งผลข้างเคียงของยานี้ที่พบบ่อยๆได้แก่ เกิดตาพร่าและมีอาการตาแพ้แสงสว่างได้ง่าย ดังนั้นหลังการใช้ยานี้ แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยสวมแว่นกันแดดเพื่อลดอาการแพ้แสงดังกล่าว

ยาโทรปิคาไมด์ได้รับการรับรองและบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยระบุวัตถุประสงค์ของการใช้ เพื่อขยายม่านตาและตรวจสอบความผิดปกติทางสายตาของผู้ป่วยในสถานพยาบาล และการใช้ยานี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

โทรปิคาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โทรปิคาไมด์

ยาโทรปิคาไมด์มีสรรพคุณใช้ขยายรูม่านตาก่อนการตรวจสอบ/ทดสอบ/รักษาทางสายตาของจักษุแพทย์

โทรปิคาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโทรปิคาไมด์คือ ตัวยาจะทำให้เกิดการขยายของรูม่านตาโดยแสดงฤทธิ์เป็น Antimuscarinic ที่ทำให้กล้ามเนื้อลูกตาไม่ทำงาน รูม่านตาจึงขยายและลูกตาไม่สามารถปรับระยะการรับภาพ (Loss of accommodation) ได้ในช่วงระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ ส่งผลให้ง่ายต่อการตรวจสอบทดสอบหรือการรักษาทางสายตาของแพทย์

โทรปิคาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโทรปิคาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาหยอดตาขนาดความเข้มข้น 0.5% และ 1% (เทียบเท่า 5 และ 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร)

โทรปิคาไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโทรปิคาไมด์มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาดังนี้เช่น

ก.สำหรับขยายรูม่านตา:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: หยอดยาขนาดความเข้มข้น 0.5% ปริมาณ 1 - 2 หยดที่ลูกตา รอประมาณ 15 - 20 นาทีก่อนการทำหัตถการของจักษุแพทย์

ข.สำหรับวัดและตรวจสอบสภาพสายตา:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: หยอดยาขนาดความเข้มข้น 1% ปริมาณ 1 - 2 หยดที่ลูกตา หากจำเป็นอาจหยอดซ้ำอีกครั้งภายในประมาณ 5 นาที จากนั้นทำการทดสอบทางสายตาภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโทรปิคาไมด์ (Tropicamide) ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยา บาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำ บาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโทรปิคาไมด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โทรปิคาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโทรปิคาไมด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น เกิดความดันภายในลูกตาเพิ่มสูง เกิดอาการปากแห้ง ตาพร่า ตาแพ้แสง หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ หากเป็นผู้ป่วยเด็กอาจมีภาวะรบกวนการทำงานในสมองอย่างรุนแรง

มีข้อควรระวังการใช้โทรปิคาไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โทรปิคาไมด์ดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน (Narrow-angle glaucoma)
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดา
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • แพทย์อาจนวดคลึงเบาๆในบริเวณใกล้ถุงน้ำตาเพื่อทำให้การดูดซึมยานี้เป็นไปอย่างเหมาะสม
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทรปิคาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โทรปิคาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโทรปิคาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาโทรปิคาไมด์ร่วมกับยา Phenylephrine อาจส่งผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจและ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ยาโทรปิคาไมด์สามารถรบกวนหรือต่อต้านการออกฤทธิ์ของยาหยอดตาประเภทอื่นได้เช่น Carbachol และ Pilocarpine หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในเวลาเดียวกัน

ควรเก็บรักษาโทรปิคาไมด์อย่างไร?

ควรเก็บยาโทรปิคาไมด์ (Tropicamide) ในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น

โทรปิคาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโทรปิคาไมด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mydriacyl (มายเดรียซิล)Alcon

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Tropicamide[2015,April18]
2. http://www.drugs.com/cdi/tropicamide.html [2015,April18]
3. http://en.wikipedia.org/wiki/Anticholinergic [2015,April18]
4. http://www.drugs.com/cons/tropicamide-ophthalmic.html [2015,April18]
5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/164#item-8935 [2015,April18]
6. https://www.mims.com/USA/drug/info/tropicamide/?type=full&mtype=generic[2015,April18]
7. http://www.rutningimbel.com/eye_know.html[2015,April18]
8. http://www.drugs.com/drug-interactions/tropicamide-ophthalmic- index.html?filter=2&generic_only=#C [2015,April18]
9. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Mydriacyl/[2015,April18]
10. http://www.unitedpharmacies.com/Tropicacyl-Plus-Opthalmic-Solution-Topicamide-Phenylephrine.html[2015,April18]