โทพิราเมท (Topiramate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 เมษายน 2564
- Tweet
- บทนำ:คือยาอะไร?
- โทพิราเมทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- โทพิราเมทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โทพิราเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โทพิราเมทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โทพิราเมทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โทพิราเมทอย่างไร?
- โทพิราเมทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโทพิราเมทอย่างไร?
- โทพิราเมทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไมเกรน (Migraine)
- ลมชัก (Epilepsy)
- Carbonic anhydrase inhibitor
- นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)
- ยาเม็ดคุมกำเนิด (Birth control pill)
บทนำ:คือยาอะไร?
โทพิราเมท (Topiramate) คือ ยาตัวหนึ่งในกลุ่มยาคาร์บอนิก แอนไฮเดรส อินฮิบิเตอร์ (Carbonic anhydrase inhibitor) ใช้รักษาอาการของโรคลมชัก และป้องกันการเกิดไมเกรน ยานี้ถูกค้นพบและพัฒนาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) ถูกรับรองในประเทศอเมริกาเมื่อปี ค.ศ.1996 (พ.ศ. 2539)
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาเม็ดและยาแคปซูลชนิดรับประทาน ชื่อการค้าที่เป็นที่รู้จักกันดีของยานี้คือ ‘Topamax’
ตัวยาโทพิราเมทสามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประมาณ 80% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 13 - 17% ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้อยู่ตลอดเวลา และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 19 - 25 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยขับผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุวัตถุประ สงค์เพื่อรักษาโรคลมชักและใช้เป็นยาทางเลือกสำหรับรักษาไมเกรนในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล ทั้งนี้สามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วไป
โทพิราเมทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโทพิราเมทมีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคลมชัก
- ป้องกันการเกิดไมเกรน
โทพิราเมทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโทพิราเมทยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่ายานี้มีผลต่อการทำงานของกระแสประสาท และยังมีการรบกวนการส่งผ่านของเกลือโซเดียม อีกทั้งส่งเสริมการทำงานของสารสื่อประสาทบางตัวภายในสมองอีกด้วยเช่น GABA (Gamma-aminobutyric acid) จากกลไกที่ได้กล่าวมานี้จึงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
โทพิราเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโทพิราเมทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50, 100 และ 200 มิลลิกรัม/แคปซูล
โทพิราเมทมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
เนื่องจากการใช้ยาโทพิราเมทในการป้องกันโรคปวดศีรษะไมเกรน และในกรณีโรคลมชักที่ใช้ยานี้ร่วมกับยากันชักชนิดอื่น แพทย์จะต้องปรับขนาดยาเป็นกรณีไปขึ้นกับอาการและยาอื่นๆที่ใช้ร่วมด้วย
ดังนั้นในบทความนี้จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะในการรักษาโรคลมชักและเฉพาะกรณีที่ใช้ยาโทพิราเมทเป็นยารักษาเพียงตัวเดียว (ไม่ใช้ร่วมกับยาอื่น) เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นที่สัปดาห์แรก 25 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน, ในสัปดาห์ถัดมา สามารถเพิ่มขนาดรับประทานอีก 25 - 50 มิลลิกรัมซึ่งต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา, หากขนาดรับประทานมากกว่า 25 มิลลิกรัมต้องแบ่งรับประทานเป็นวันละ 2 ครั้ง, ขนาดรับประทานปกติของยานี้จะอยู่ในช่วง 100 - 400 มิลลิกรัม/วัน, และขนาดรับประทานยานี้สูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)อายุ 10 - 16 ปี: ในสัปดาห์แรกเริ่มต้นรับประทาน 0.5 - 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโล กรัมวันละครั้งก่อนนอน, ในสัปดาห์ถัดมาอาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา, โดยขนาดรับประทานปกติอยู่ที่ 3 - 6 มิลลิกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน, หากขนาดรับประทานเกิน 25 มิลลิกรัม/วันควรแบ่งรับประทานวันละ 2 ครั้ง, ขนาดยารับประทานสูงสุดไม่เกิน 16 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี: การใช้ยานี้และขนาดยาในเด็กกลุ่มนี้จะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโทพิราเมท ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโทพิราเมทอาจส่งผลให้อาการโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโทพิราเมท สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โทพิราเมทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทพิราเมท สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการสับสน
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- ความคิดอ่านช้า
- การควบคุมสติเป็นไปได้ยากขึ้น
- มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักตัวลด
- อารมณ์แปรปรวน
- ซึมเศร้า
- อ่อนแรง
- หงุดหงิด
- รู้สึกกังวล
- ตัวร้อน
*อนึ่ง ลักษณะของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด เช่น อาจมีอาการชัก, ง่วงนอนมาก, พูดไม่ชัด, ขาดสติ, ความดันโลหิตต่ำ, ปวดท้องมาก, วิงเวียนมาก, ซึมเศร้ามาก , ตาพร่า, ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวหรือสงสัยได้รับยานี้เกินขนาด ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน การแก้ไขภาวะนี้จากแพทย์ คือ ใช้วิธีล้างท้องและให้ผู้ป่วยรับประทานยาถ่านกำมันต์ (Activated charcoal) เพื่อลดการดูดซึมตัวยานี้เข้าสู่ร่างกาย
มีข้อควรระวังการใช้โทพิราเมทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้โทพิราเมท เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต และหญิงตั้งครรภ์
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ต้องระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากผลข้างเคียงของยาที่ทำให้ง่วงนอน
- การรับประทานยานี้ต้องดื่มน้ำตามเป็นปริมาณที่เพียงพอเพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต
- ระหว่างใช้ยานี้ต้องคอยตรวจปริมาณเกลือแร่ในร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอโดยการตรวจเลือดตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
- หลีกเลี่ยงการหยุดยานี้โดยกะทันหันซึ่งแพทย์จะค่อยๆปรับลดขนาดยาลงประมาณ 100 มิลลิกรัม/สัปดาห์
- ถ้ามีอาการตาพร่าหรือปวดลูกตาให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที
- ยานี้จะทำให้ร่างกายลดการหลั่งเหงื่อจึงทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น/มีไข้ โดยเฉพาะ ผู้ป่วยที่มีที่อยู่อาศัยในเขตอากาศร้อน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทพิราเมทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โทพิราเมทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโทพิราเมทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโทพิราเมท ร่วมกับ ยากันชักตัวอื่น เช่นยา Phenytoin, Carbamazepine ,และ Phenobarbital สามารถรบกวนและทำให้ความเข้มข้นของยาโทพิราเมทลดน้อยลงไป จนอาจส่งผลต่อการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาโทพิราเมท ร่วมกับยา Acetazolamide อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นนิ่วในไต การจะใช้ยาร่วมกันต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยแพทย์จะปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสม และแนะนำผู้ป่วยให้ดื่มน้ำเป็นปริมาณที่เพียงพอทุกครั้งที่รับประทานยานี้
- การใช้ยาโทพิราเมท ร่วมกับ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะเกิดความเสี่ยงต่อการกดประสาทส่วนกลางหรือสมองจึงห้ามรับประทานยาพร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
- การใช้ยาโทพิราเมท ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดจะส่งผลให้ฤทธิ์การคุมกำเนิดด้อยประสิทธิภาพลงไป ผู้ป่วยควรใช้วิธีคุมกำเนิดวิธีอื่นร่วมด้วยเช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
ควรเก็บรักษาโทพิราเมทอย่างไร?
ควรเก็บยาโทพิราเมท:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โทพิราเมทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทพิราเมท มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
EPIMATE (อีพิเมท) | Psycorem |
EPITOME (อีพิโทม) | Triton (Calyx) |
EPITOP (อีพิท็อป) | Micro Synchro |
NEXTOP (เนคท็อป) | Torrent (Mind) |
NUROMATE (นูโรเมท) | Invision |
TOPAMATE (โทพาเมท) Cipla | |
TOPAZ (โทพาซ) | Intas |
Topamax (โทพาแมกซ์) | Janssen-Cilag |
TOPEX (โทเพ็ค) | Cipla |
Topper (ท็อปเปอร์) | Lifecare |
Trokendi XR (โทรเคนได เอ็กอาร์) | Supernus Pharmaceuticals, Inc. |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Carbonic_anhydrase_inhibitor#Natural_sources [2021, March27]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Topiramate [2021, March27]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/topiramate?mtype=generic [2021, March27]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB00273 [2021, March27]
- https://www.drugs.com/imprints/spn-200-21427.html [2021, March27]