โทบรามัยซิน (Tobramycin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 พฤษภาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาโทบรามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาโทบรามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโทบรามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโทบรามัยซินมีวิธีการใช้อย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- ยาโทบรามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโทบรามัยซินอย่างไร?
- ยาโทบรามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโทบรามัยซินอย่างไร?
- ยาโทบรามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- เยื่อตาอักเสบ (Conjunctivitis)
- กระจกตาถลอก (Corneal abrasion)
- กระจกตาอักเสบ (Keratitis) กระจกตาเป็นแผล (Corneal ulcer)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
บทนำ
ยาโทบรามัยซิน (Tobramycin) ถูกพัฒนามาจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Streptomyces tene brarius เป็นยาปฏิชีวนะกลุ่ม Aminoglycoside มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด โดย เฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นเชื้อแกรมลบ (Gram negative) เช่น เชื้อ Pseudomonas ยาตัวนี้ไม่สามารถดูดซึมจากทางเดินอาหาร ต้องใช้ในรูปแบบของยาฉีดเข้าเส้นเลือดหรือกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังนำ มาผลิตเป็นรูปแบบของยาหยอดตา บางสูตรตำรับจะเพิ่มตัวยาสเตียรอยด์ Dexamethasone ผสม ร่วมด้วยเพื่อลดอาการระคายเคืองของดวงตา
ชื่อการค้าของยาโทบรามัยซินที่คุ้นหูกันในท้องตลาดคือ Tobrex และ TobraDex เป็นต้น
หลังได้รับยาโทบรามัยซินเข้าสู่ร่างกาย ระดับยาจะมีความเข้มข้นสูงสุดโดยใช้เวลา 30 – 90 นาที และถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะภายในเวลา 2 - 3 ชั่วโมง ยานี้จัดเป็นยาอันตรายต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเท่านั้น
ยาโทบรามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณของยาโทบรามัยซินในรูปแบบของยาหยอดตา รักษาภาวะหนังตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เยื่อตาอักเสบ รักษาการติดเชื้อในบริเวณกระจกตา (กระจกตาถลอก กระจกตาอักเสบ)
ยาโทบรามัยซินในรูปแบบของยาฉีด มีสรรพคุณรักษาการติดเชื้อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กทารก และรักษาการติดเชื้อในบริเวณอุ้งเชิงกราน
ยาโทบรามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโทบรามัยซิน คือยาจะเข้าไปจับกับ 30s Ribosome (สารพันธุ กรรมชนิดหนึ่ง) ซึ่งอยู่ในเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียไม่สามารถสังเคราะห์โปรตีนได้ จึงหยุดการเจริญเติบโตในที่สุด
ยาโทบรามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยมักพบยาโทบรามัยซินจัดจำหน่ายในรูปแบบยาหยอดตาที่ความเข้มข้น 0.3% ขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร, และขี้ผึ้งป้ายตาที่ความเข้มข้น 0.3% ขนาดบรรจุ 3.5 กรัม โดยยังไม่มียาในรูปแบบฉีด
ยาโทบรามัยซินมีวิธีการใช้อย่างไร?
วิธีการใช้ยาโทบรามัยซิน คือ
- ในรูปแบบของยาหยอดตา: หยอดตาข้างที่มีการอักเสบติดเชื้อครั้งละ 1 - 2 หยด ทุก 4 ชั่วโมง กรณีที่ติดเชื้อรุนแรง สามารถหยอดทุกชั่วโมง ครั้งละ 2 หยดจนกระทั่งอาการดีขึ้น
- ในรูปแบบยาขี้ผึ้งป้ายตา: ให้บีบยาเป็นทางยาวประมาณครึ่งนิ้ว ป้ายตาข้างที่มีการอักเสบวันละ 2 - 3 ครั้ง หากติดเชื้อรุนแรงให้ป้ายตาทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง จนกระทั่งอาการดีขึ้น
- ในรูปแบบยาฉีดใช้ขนาด 3 - 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 - 4 ครั้ง เป็นเวลา 7 - 10 วัน
ทั้งนี้ ขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมสามารถตรวจสอบจากฉลากยา และ/หรือเอกสารกำกับยา และควรต้องใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาโทบรามัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินหรือฉีดแล้ว มีอาการคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก หรือมีประวัติแพ้ยาหยอดตาบางตัวหรือไม่ (เช่น หยอดตาแล้ว เคืองตามากขึ้น คันตา ตาแดงมาก แสบตา น้ำตาไหล ตาพร่า ตาบวม)
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา หยอดยา อะไรอยู่ เพราะยาโทบรามัยซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนเกิดผลข้างเคียงได้
ยาโทบรามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโทบรามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ดังนี้
- ในรูปแบบยาหยอดตา สามารถก่อให้เกิดอาการ คัน บวมบริเวณตา เยื่อบุตาบวม และแดง
- ในรูปแบบของยาฉีด อาจพบว่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก คลื่นไส้ อา เจียน วิงเวียน มีอาการรู้สึกเหมือนบ้านหมุน ไตวายเฉียบพลัน เกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล มีอา การทางสมอง เช่น อาการสับสน ซึม ประสาทหลอน และการได้ยินของหูลดลง เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาโทบรามัยซินอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาโทบรามัยซิน ได้แก่
- ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาโทบรามัยซิน
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์
- ห้ามใช้ยาหยอดตาโทบรามัยซินที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์กับการติด เชื้อเริม เชื้อรา และเชื้อ Mycobacteria นอกจากนี้หากใช้หยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานานๆ อาจก่อให้เกิดต้อหิน หรือมีการทำลายของเส้นประสาทที่อยู่ในบริเวณลูกตา และต้องระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะกระจกตาบาง
- ระหว่างการหยอดตาโทบรามัยซินไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์
- สำหรับยาฉีด ควรระวังการใช้ยากับผู้ที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีอาการได้ยินผิดปกติ ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคพาร์กินสัน
- ระวังการใช้ยาโทบรามัยซินทุกรูปแบบจำหน่ายกับ ผู้สูงอายุ เด็กทารก และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทบรามัยซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโทบรามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปฏิกิริยาระหว่างยาโทบามัยซินกับยาตัวอื่นๆ คือ
- การใช้โทบรามัยซิน (ชนิดฉีด) ร่วมกับยาขับปัสสาวะ อาจก่อให้เกิดภาวะไตทำงานผิดปกติ สูญ เสียการได้ยิน ร่างกายขาดน้ำ ยาขับปัสสาวะดังกล่าว เช่น ฟูโลซิไมด์ (Furosemide )
- การใช้โทบรามัยซิน (ชนิดฉีด) ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว สามารถทำให้ระดับความเข้มข้นของยา นั้นสูงขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายที่ไตและเส้นประสาท โดยอาจพบอาการวิงเวียน การได้ยิน เสียงไม่ชัดเจน กล้ามเนื้อกระตุก (Muscle twitch) มีไข้ หนาวสั่น ยาปฏิชีวนะดังกล่าว ได้แก่ อะมิ คาซิน (Amikacin) แวนโคมัยซิน (Vancomycin)
- การใช้ยาโทบรามัยซิน (ชนิดฉีด) ร่วมกับยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งบางตัว สามารถก่อให้เกิดความเสียหายกับไต (ไตวาย) การหายใจติดขัด/หายใจลำบาก ยาเคมีบำบัดรักษามะเร็งดังกล่าว ได้แก่ ซิสพลาติน (Cisplatin)
ควรเก็บรักษายาโทบรามัยซินอย่างไร?
การเก็บรักษายาโทบรามัยซิน
- สำหรับยาหยอดตา ให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 8 - 27 องศาเซลเซียส (Celsius)
- สำหรับยาฉีดให้เก็บภายใต้อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ เก็บยาทุกรูปแบบ ให้พ้นแสงแดด ให้อยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาโทบรามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโทบรามัยซินในประเทศไทย มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
DW Tobramycin (ดีดับเบิ้ลยู โทบรามัยซิน) | Daewoong Pharma |
Tobradex (โทบราเดกซ์) | Alcon |
Tobramycin Alcon (โทบรามัยซิน อัลคอน) | Alcon |
Tobrex (โทเบรก) | Alcon |
Zylet (ไซเลต) | Bausch & Lomb |
บรรณานุกรม
1.https://www.mims.com/Thailand/drug/info/DW%20Tobramycin/?q=tobramycin&type=brief [2014,May1]
2. https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=tobramycin [2014,May1].
3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Zylet/?q=tobramycin&type=brief [2014,May1].
4. http://en.wikipedia.org/wiki/Tobramycin [2014,May1].
5. http://www.drugs.com/drug-interactions/tobramycin.html [2014,May1].
6. http://www.medicinenet.com/tobramcyin-ophthalmic_drops/page3.htm#Storage [2014,May1].
7. http://www.rxlist.com/tobramycin-injection-drug/indications-dosage.htm [2014,May1].
8. MIMS Pharmacy Thailand 9th Edition 2009 [2014,May1].