โตแล้วก็มีพยาธิได้ (ตอนที่ 1)

โตแล้วก็มีพยาธิได้-1

      

จากเฟซบุ๊กได้มีการโพสต์ข้อความเตือนภัยคนที่ไม่ชอบใส่รองเท้า ถูกพยาธิตัวอ่อน ไชทะลุผิวหนัง สู่กระแสเลือด ก่อนไปโตในร่างกาย อาการหนักสุด ติดเชื้อถึงตายได้ พร้อมข้อความระบุว่า พยาธิสตรองจิลอยด์ (Strongyloides stercoralis) พบในการตรวจอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์ และอธิบายว่า

พยาธิสตรองจิลอยด์ในวัยเด็ก ใช้ชีวิตอยู่ตามพื้นดินได้ รอคนที่ไม่ใส่รองเท้าเดินมาเหยียบ แล้วไชทะลุผิวหนังคน เข้าสู่กระแสเลือด ผ่านหัวใจ ปอด หลอดลม คอหอย หลอดอาหาร แล้วกลับเข้ามาในลําไส้ เจริญเติบโตเป็นพยาธิเต็มวัย

อาการหลังติดพยาธิ ไม่ชัดเจน เพราะมันไชไปทั่ว มีตั้งแต่คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ท้องผูก เป็นลมพิษ ท้องเดินเป็นครั้งคราว สลับกับท้องผูก บางคนก็มีอาการหนัก เพราะมันลามไปอวัยวะสำคัญ จนติดเชื้อตายได้

เพราะฉะนั้น อย่าเดินเท้าเปล่า ไม่ใช่เห็นสนามหญ้าสวย ก็ถอดรองเท้าไปวิ่งเล่น เวลากินผัก ก็ต้องล้างให้สะอาด เพราะบางทีปนเปื้อนพยาธิตามพื้นดินได้ และล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร ก็จะช่วยป้องกันได้อีกทาง

โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ (Strongyloidiasis) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พยาธิเส้นด้าย (Threadworms) เป็นภาวะติดเชื้อพยาธิตัวกลม Strongyloides stercoralis มีขนาดเล็ก โดยขนาดยาวที่สุดอยู่ประมาณ 600 มิลลิเมตร จึงไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า พบได้บ่อยในประเทศเขตร้อนหรือค่อนข้างร้อน เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง เช่น การเดินเท้าเปล่า

พยาธิสตรองจิลอยด์ถือเป็นพยาธิที่ติดต่อผ่านดิน (Soil-transmitted helminth) เมื่อพยาธิสัมผัสกับผิวหนังจะสามารถเจาะทะลุผิวหนังเข้าสู่ร่างกายไห้ และฝังตัวอยู่ที่ลำไส้เล็กเพื่อวางไข่ โดยตัวอ่อนเหล่านี้จะถูกขับออกมาพร้อมอุจจาระ แต่ก็มีตัวอ่อนอีกหลายตัวที่เจริญเติบโตอยู่ในร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อทั้งในผนังลำไส้หรือรอบทวารหนัก

โดยโรคพยาธิสตรองจิลอยด์จะเป็นโรคที่มีการติดเชื้อด้วยตัวเอง (Auto-infection) ซึ่งหมายความว่า ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่ติดเชื้อก็จะมีการติดเชื้อไปตลอดชีวิต

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อเพราะอาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น แต่ในกรณีของผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำหรืออยู่ระหว่างการรักษาด้วยวิธีการกดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressive therapies) อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายและเสียชีวิตได้

นอกจากการติดต่อผ่านทางดินและการติดเชื้อด้วยตัวเองแล้ว อาจมีการติดเชื้อจากแหล่งดังต่อไปนี้ (แต่พบได้น้อย)

  • การปลูกถ่ายอวัยวะ (Organ transplantation)
  • สถานพยาบาลผู้ป่วยสมองเสื่อมที่ต้องการการช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน
  • สถานพยาบาลระยะยาว
  • ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก (Daycare centers)

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือนคนไม่ชอบใส่รองเท้า พยาธิยั้วเยี้ย ไชทะลุผิวหนัง เข้าสู่กระแสเลือด. https://www.thairath.co.th/news/society/1684821?cx_testId=2&cx_testVariant=cx_1&cx_artPos=3#cxrecs_s[2020, January 8].
  2. Strongyloidiasis. https://www.cdc.gov/parasites/strongyloides/ [2020, January 8].
  3. Strongyloidiasis. https://www.who.int/intestinal_worms/epidemiology/strongyloidiasis/en/ [2020, January 8].