โดเพ็กซามีน (Dopexamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 1 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- โดเพ็กซามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โดเพ็กซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โดเพ็กซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โดเพ็กซามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- โดเพ็กซามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โดพามีน อะโกนิสต์อย่างไร?
- โดเพ็กซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโดเพ็กซามีนอย่างไร?
- โดเพ็กซามีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ (Heart anatomy) / สรีรวิทยาของหัวใจ (Heart physiology)
- โดพามีน (Dopamine)
- Dopamine receptor antagonists
- เบต้า 2 แอดริเนอร์จิก อโกนิสท์ (Beta2 - adrenergic agonists)
บทนำ
ยาโดเพ็กซามีน(Dopexamine หรือ Dopexamine hydrochloride) เป็นสารประกอบชนิดสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับสารโดพามีน (Dopamine) ทางคลินิกจะใช้ยานี้ในลักษณะของยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ร่างกายคนปกติสามารถขับยานี้ออกจากกระแสเลือดภายในระยะเวลาประมาณ 6–7 นาทีหลังตัวยาอยู่ในกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปทางปัสสาวะเป็นส่วนใหญ่ และส่วนน้อยทางอุจจาระ แต่ในผู้ป่วยด้วยอาการหัวใจล้มเหลว ร่างกายอาจใช้เวลานานขึ้นเป็นประมาณ 11 นาทีในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย
ในสถานพยาบาล จะใช้ยาโดเพ็กซามีนเพื่อบำบัดอาการหัวใจล้มเหลว ซึ่งรวมถึงผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวด้วยสาเหตุจากการผ่าตัดหัวใจ ปัจจุบัน เราไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยาโดเพ็กซามีนบ่อยเท่าใดนัก ด้วยมียาทางเลือกอื่นที่ดีกว่าอีกหลายตัวที่สามารถนำมาใช้ทดแทนยาโดเพ็กซามีนได้ อย่างเช่นยา Dopamine, Dobutamine, Norepinephrine, Epinephrine, และ Levosimendan
ยาโดเพ็กซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ในเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ 3 ชนิดตัวรับ ได้แก่ Beta-2 adrenergic receptors, Dopamine receptor ชนิดย่อย D1(Dopamine 1), และ Dopamine receptor ชนิดย่อย D2 (Dopamine2)
ยาโดเพ็กซามีน มิได้ออกฤทธิ์กระตุ้นที่ตัวรับ Alpha-adrenergic agonist จึงไม่ทำให้เส้นเลือด/หลอดเลือดหดตัว แต่จะทำให้ปริมาตรเลือดที่ออกจากหัวใจมีปริมาณเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทำได้ดีขึ้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาโดเพ็กซามีน เท่าที่พบเห็น เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หรือบางรายหัวใจเต้นช้าลง คลื่นไส้ ตัวสั่น ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ อาเจียน เหงื่อออกมาก
ทั้งนี้ ยาโดเพ็กซามีน มีข้อจำกัดการใช้งานเช่นเดียวกับยาอื่นๆ อาทิเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีปริมาตรเลือดในร่างกายน้อยกว่าปกติ
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วย Pheochromocytoma ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ที่มีการไหลเวียนของเลือดที่หัวใจอุดตัน
โดยทั่วไป การใช้ยาโดเพ็กซามีน มักพบแต่ในสถานพยาบาล ขนาดการใช้ยาที่ถูกรับรองประสิทธิผล จะมีเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น และยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก และเราอาจไม่พบเห็นการใช้ยาโดเพ็กซามีนในประเทศไทย ด้วยมีตัวยาทางเลือกอีกหลายตัวที่มีประสิทธิผลดีกว่า มารองรับ ประกอบกับ ปัจจุบัน ผู้ผลิตยาโดเพ็กซามีนมีแผนปรับปรุงสูตรตำรับเพื่อให้มีประสิทธิผลครอบคลุมและก่อให้เกิดประโยชน์ทางคลินิกมากยิ่งขึ้น
โดเพ็กซามีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโดเพ็กซามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดภาวะหัวใจล้มเหลวจากสาเหตุทั่วไป หรือสาเหตุจากการผ่าตัดหัวใจ
- ช่วยบำบัดอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดหรือมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ และผู้ที่มีภาวะช็อก
โดเพ็กซามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโดเพ็กซามีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับที่มีชื่อว่า Beta-2 adrenergic receptor รวมถึง Dopamine receptor D1, และ Dopamine receptor D2 ส่งผลยับยั้งการดูดคืนกลับของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Norepinephrine ส่งผลทำให้หัวใจสามารถบีบตัวและเพิ่มปริมาณเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้มากยิ่งขึ้น จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
โดเพ็กซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโดเพ็กซามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีดที่บรรจุตัวยา Dopexamine hydrochloride ขนาด 50 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร หรือ 50,000 ไมโครกรัม/5 มิลลิลิตร
โดเพ็กซามีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโดเพ็กซามีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ โดยเริ่มต้นที่ 0.5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที(หยดยาใน 1 นาที) แพทย์อาจปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นครั้งละ 0.5–1ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที โดยเว้นระยะห่างกันทุก 15 นาที หรือเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยแพทย์อาจปรับขนาดการให้ยาผู้ป่วยได้ถึง 6 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที และหยดยาเข้าหลอดเลือดดำต่อเนื่องแต่มักไม่เกิน 48 ชั่วโมง
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก
อนึ่ง: ก่อนการใช้ยาโดเพ็กซามีนหยดเข้าหลอดเลือดดำ ต้องเจือจางตัวยาด้วยสารละลายตามที่เอกสารกำกับยากำหนดไว้ เช่น 0.9% Sodium chloride หรือ 5% Dextrose
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโดเพ็กซามีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆเช่น โรคความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโดเพ็กซามีนอาจส่งผลให้อาการของโรค เหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช่อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
โดเพ็กซามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโดเพ็กซามีน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดออกง่าย มีภาวะโลหิตเป็นพิษ(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ตัวสั่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ค่า ECG ผิดปกติ ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ชีพจรเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า เกิดอาการหัวใจล้มเหลวมากกว่าเดิม
- ผลต่อไต: เช่น ไตวาย
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน มีเหงื่อออกมาก
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก
*อนึ่ง กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาโดเพ็กซามีน เกินขนาด จะมีอาการ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ตัวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก หายใจขัด เจ็บหน้าอก หากพบอาการเหล่านี้ ต้องหยุดให้ยานี้ แล้วแจ้งแพทย์ทันที ซึ่งการรักษาจะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ จนกระทั่งอาการผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ
มีข้อควรระวังการใช้โดเพ็กซามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโดเพ็กซามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยด้วยความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง ผู้ที่มีปริมาตรเลือดน้อย
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป มีผง หรือมีการตกตะกอนของตัวยา
- หากมีอาการแพ้ยานี้ เช่น มือ-เท้า-ใบหน้าบวม มีผื่นคัน-ลมพิษขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องหยุดการใช้ยานี้ และแจ้งแพทย์ทันที
- หากมีอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ระหว่างใช้ยานี้ แพทย์ /พยาบาล จะตรวจวัดสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยตลอดเวลา
- มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดเพ็กซามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โดเพ็กซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโดเพ็กซามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาโดเพ็กซามีนร่วมกับยา Beta2-adrenergic หรือ Dopamine receptor antagonists ด้วยจะทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาโดเพ็กซามีนด้อยประสิทธิภาพลง
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดเพ็กซามีนร่วมกับยา Noradrenaline ด้วยจะทำให้การ ออกฤทธิ์ของยาโดเพ็กซามีนเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาโดเพ็กซามีนกับผู้ป่วยสูงขึ้นตามมา
ควรเก็บรักษาโดเพ็กซามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาโดเพ็กซามีนตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์ ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โดเพ็กซามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโดเพ็กซามีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Dopacard (โดพาการ์ด) | Hospira |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Dopexamine [2017,Jan14]
- http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=1449&type=1#Dosage [2017,Jan14]
- http://www.wikiwand.com/en/Dopexamine [2017,Jan14]
- https://www.medicines.org.uk/emc/PIL.5578.latest.pdf [2017,Jan14]
- https://books.google.co.th/books?id=wwPnAwAAQBAJ&pg=PA92&lpg=PA92&dq=Dopexamine++is+eliminated+by&source=bl&ots=rVyJoFRDBd&sig=M67o7dbzD0nXaVoJZTkz6ezBnrI&hl=en&sa=X&ved=0ahUKEwih4ILh6JPRAhUBsI8KHTs0CF8Q6AEINDAI#v=onepage&q=Dopexamine%20%20is%20eliminated%20by&f=false [2017,Jan14]