โดรทาเวอรีน (Drotaverine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโดรทาเวอรีน (Drotaverine หรือ Drotaverin หรือ Drotaverine hydrochloride หรือ Drotaverine HCl) เป็นยาลดอาการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ทางคลินิกนำมาใช้ลดอาการปวดท้องชนิดต่างๆ เช่น ปวดประจำเดือน ปวดในระบบทางเดินปัสสาวะ(เช่น ปวดเกร็ง/ปวดบีบในกระเพาะปัสสาวะ) ปวดในระบบทางเดินอาหาร (เช่น ปวดจากนิ่วในถุงน้ำดี) รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาชนิดนี้มีทั้งเป็นยารับประทานและยาฉีด

การดูดซึมของยาโดรทาเวอรีนจากระบบทางเดินอาหารทำได้ประมาณ 65% ตับจะมีหน้าที่ทำลายโครงสร้างของยาชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลา 7–11 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาโดรทาเวอรีนออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ อาจกล่าวได้ว่าโดรทาเวอรีนเป็นยาบรรเทาปวดเกร็ง/ปวดบีบตามอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยไม่ใช่ยาที่ใช้รักษาต้นเหตุของอาการปวดเกร็งโดยตรง ผู้ป่วยจึงต้องให้แพทย์รักษาจากสาเหตุที่แท้จริง และการรับประทานยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

จากรายงานความปลอดภัยของการใช้ยาโดรทาเวอรีน พบว่า *ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะเกิด อาการอาเจียน มีภาวะลมชัก เกิดผลข้างเคียงสูง/เป็นพิษต่อหัวใจ ตลอดจนกระทั่งอาจทำให้เสียชีวิต

ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบ/ผลข้างเคียงอย่างรุนแรงจากการใช้ยาโดรทาเวอรีน เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยด้วยโรค ตับวาย ไตวาย ตลอดถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปีลงมา

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้กำหนดให้ยาชนิดโดรทาเวอรีน อยู่ในหมวดยาอันตราย และต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น

โดยทั่วไป เราสามารถพบเห็นการใช้ยาโดรทาเวอรีนตามสถานพยาบาล และมีจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดกลางขึ้นไป ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยเกี่ยวการใช้ยาโดรทาเวอรีนผู้ป่วย/ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษาหรือจากเภสัชกรตามร้านขายยาทั่วไป

โดรทาเวอรีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โดรทาเวอรีน

ยาโดรทาเวอรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการปวดเกร็งจาก นิ่วในไต ปวดกระเพาะอาหาร ปวดจากการทำงานของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร/ลำไส้แปรปรวน ปวดประจำเดือน ปวดจากถุงน้ำดีอักเสบ ปวดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปวดเกร็งจากหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจตีบ/กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

โดรทาเวอรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโดรทาเวอรีน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Phosphodiesterase ซึ่งมีหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารชีวะโมเลกุลที่มีชื่อว่า cAMP(Cyclic adenosine monophosphate,สารที่เป็นตัวส่งสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเอนไซม์ Phosphodiesterase) ทำให้ระดับ cAMP มีปริมาณเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อการดูดซึมเกลือแคลเซียมในระดับเซลล์ของผนังกล้ามเนื้อเรียบให้ลดน้อยลง จนเป็นเหตุให้ผนังกล้ามเนื้อเรียบคลายตัวและลดอาการปวดเกร็งได้ตามสรรพคุณ

โดรทาเวอรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ในประเทศไทยจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาโดรทาเวอรีน ในรูปแบบเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Drotaverine HCl ขนาด 40 มิลลิกรัม/เม็ด

โดรทาเวอรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโดรทาเวอรีน มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 40–80 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เช้า-กลางวัน-เย็น ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี: ห้ามรับประทานยานี้ ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เพียงพอในด้านความปลอดภัยของยานี้ในเด็กวัยนี้

*อนึ่ง:

  • ห้ามใช้ยานี้เกินคำสั่งแพทย์โดยเด็ดขาด ด้วยเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงที่รุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจระยะรุนแรง ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโดรทาเวอรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโดรทาเวอรีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโดรทาเวอรีน สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานที่ขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาโดรทาเวอรีน อาจก่อให้เกิดอาการปวดเกร็งตามมา

โดรทาเวอรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโดรทาเวอรีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก ผื่นคัน นอนไม่หลับ ใบหน้าแดง หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจพบความดันโลหิตต่ำได้บ้าง

มีข้อควรระวังการใช้โดรทาเวอรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโดรทาเวอรีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเองและใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกินคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ขณะใช้ยานี้ให้หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดโดยตรง เพราะอาจเกิดผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อค้นหาและรักษาต้นเหตุของอาการปวดที่รุนแรง
  • กรณีพบอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหลังได้รับยานี้ ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดรทาเวอรีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โดรทาเวอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโดรทาเวอรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดรทาเวอรีนร่วมกับยา Levodopa ด้วยจะทำให้ฤทธิ์การรักษาของ Levodopa ลดต่ำลง
  • เพิ่มความระวังเมื่อต้องใช้ยาโดรทาเวอรีนร่วมกับยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ และกับยาเบนโซไดอะซีปีน(Benzodiazepine)จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงที่สูงขึ้นจากยาทั้ง 2 ตัวที่ใช้ร่วมกันตามมา

ควรเก็บรักษาโดรทาเวอรีนอย่างไร?

ควรเก็บยาโดรทาเวอรีนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

โดรทาเวอรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโดรทาเวอรีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Deolin (ดีโอลิน)Unison
NO-SPA (โน-สปา)sanofi Aventis
Toverine (โทเวอรีน)T. O. Chemicals

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Adort, Arudol, Baralgan-D, Baralgan-DM, Dotacid

บรรณานุกรม

  1. https://www.tabletwise.com/medicine/drotaverine[2017,Sept23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Drotaverine[2017,Sept23]
  3. http://www.medindia.net/doctors/drug_information/drotaverine.htm[2017,Sept23]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/deolin/?type=brief[2017,Sept23]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/drotaverine/?type=brief&mtype=generic[2017,Sept23]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB06751[2017,Sept23]