โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 ธันวาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์อย่างไร?
- โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโซเดียมไฮโปคลอไรท์อย่างไร?
- โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ สารระงับเชื้อ (Antiseptics)
- สารฟอกขาวในอาหาร (Bleaching agents)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
บทนำ
โซเดียมไฮโปคลอไรท์(Sodium hypochlorite)เป็นสารประกอบประเภทเกลือ มีสูตรเคมี คือ “NaClO” ถูกผลิตเพื่อใช้งานครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) โดยเมื่อโซเดียมไฮโปคลอไรท์ละลายน้ำ จะมีคุณสมบัติในการฟอกขาว หรือเป็นสารฟอกขาว(Bleach or Liquid bleach) และจะมีการปลดปล่อยสารคลอรีน(Chlorine,สารฆ่าเชื้อ/สารระงับเชื้อ) ประกอบกับมีค่าความเป็นกรดด่างประมาณ 11 (pH = 11) จึงส่งผลให้มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้หลายชนิด โซเดียมไฮโปคลอไรท์เจือจาง 2% ในน้ำอุ่นก็สามารถใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคของอุปกรณ์ต่างๆได้แล้ว นอกจากนี้ กระบวนการผลิตอาหาร ก็มีการใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์เช่นกัน โดยมีข้อควรระวัง คือ ต้องล้างทำความสะอาดมิให้มีสารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ตกค้างจนไปปนเปื้อนกับอาหาร คลินิกทันตกรรมก็ใช้สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ทำความสะอาดและกำจัดเศษเนื้อเยื่อรวมถึงทำลายแบคทีเรียในบริเวณรากฟัน ในปี ค.ศ.2013 (พ.ศ.2556) นักวิจัยได้ใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ขนาดความเข้มข้น 0.005% เพื่อบำบัดอาการอักเสบของผิวหนังอันเนื่องมาจากการได้รับรังสี ทั้งนี้ มีข้อสรุปจากห้องทดลองว่า สัตว์ทดลองที่ได้รับแสงแดดจนผิวหนังเสียหาย เมื่อใช้สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ล้างทำความสะอาดผิวหนัง จะทำให้บาดแผลตามผิวหนังสมานตัว(แผลหาย/แผลติด) ลดความเสียหายของผิวหนังได้ดีกว่าการใช้น้ำเปล่าทำความสะอาดเพียงอย่างเดียว
การใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะต้องเลือกความเข้มข้นที่เหมาะสมต่องานที่จะนำไปใช้ การที่ใช้สารนี้ในความเข้มข้นสูงเกินไป กลับจะก่อให้เกิดพิษต่อตัวผู้ใช้เอง
ผลิตภัณฑ์โซเดียมไฮโปคลอไรท์เป็นสารละลายที่ไม่มีความเสถียรเท่าใดนัก การสัมผัสกับแสงแดดหรือสัมผัสสารที่มีฤทธิ์เป็นกรด จะทำให้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ปลดปล่อยแก๊สคลอรีนออกมาจนเกิดอันตรายต่อผู้สูดดมได้ ดังนั้นผู้บริโภคควรต้องระวังเรื่องการจัดเก็บผลิตภํณฑ์นี้ให้เหมาะสม
กรณีมีข้อผิดพลาด อย่างเช่น ผู้บริโภคกลืนโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้าร่างกาย จะทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง แสบร้อนในท้อง ท้องเสีย อาเจียน เกิดแผลในคอ ไอ หากสารนี้สัมผัสผิวหนังและตา จะก่อให้เกิดอาการปวด แสบปวดร้อน ทำให้ตาแดง หรือการทิ้งโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้นลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถเป็นพิษต่อสัตว์น้ำและกระตุ้นให้สัตว์น้ำเกิดการกลายพันธุ์ได้
มนุษย์ยังได้นำโซเดียมไฮโปคลอไรท์มาใช้กับสระว่ายน้ำโดยมีวัตถุประสงค์ฆ่าเชื้อโรคชนิดต่างๆ ผู้ที่ว่ายน้ำในสระอาจได้กลิ่นคล้ายแก๊สคลอรีน และอาจรู้สึกแสบคันตามผิวหนัง และเป็นเหตุให้ตาแดงได้ ซึ่งหากพบอาการดังกล่าวควรขึ้นจากสระ ใช้น้ำสะอาดล้าง เช็ดตัวให้แห้ง และผึ่งร่างกายสักครู่ อาการดังกล่าวก็จะทุเลาลง นอกจากนี้ บางสถานพยาบาล ใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อผิวหนังก่อนและหลังผ่าตัด หรือใช้ทำความสะอาดบาดแผลตามร่างกาย
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุโซเดียมไฮโปคลอไรท์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์การใช้งานเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคในบริเวณรากฟันนั่นเอง
โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
น้ำยาโซเดียมไฮโปคลอไรท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณผิวหนังก่อนและหลังผ่าตัด
- ใช้ทำความสะอาดบาดแผล
- ใช้ฆ่าเชื้อและทำความสะอาดรากฟันในคลินิกทันตกรรม
- ใช้ป้องกันและฆ่าเชื้อเครื่องมืออุปกรณ์การผลิตอาหาร
- ใช้ฆ่าเชื้อในสระว่ายน้ำ
- ใช้ฆ่าเชื้อกับสุขภัณฑ์
โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่ละลายน้ำแล้วจะเกิดการแตกตัวของโมเลกุลและปลดปล่อยกรดไฮโปคลอรัส (HClO) และออกซิเจน (O) ที่เป็นออกซิไดซิ่งเอเจนต์ที่แรงที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา จากกลไกนี้ จึงทำให้เกิดฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ตามสรรพคุณ
โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น สารละลายที่มีขนาดความเข้มข้นแตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้งาน เช่น น้ำยาเข้มข้น 2% ที่ใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคของอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น
โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีขนาดการบริหาร/การใช้ ดังตัวอย่าง สำหรับทำความสะอาดรากฟัน เช่น
- ผู้ใหญ่: ใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์เจือน้ำสะอาดจนได้ความเข้มข้น 0.1% บ้วนปากขณะทำหัตถการทางด้านทันตกรรม
- เด็ก: การใช้สารนี้ในเด็ก ขึ้นกับดุลพินิจของทันตแพทย์
อนึ่ง:
- ปัจจุบันโซเดียมไฮโปคลอไรท์ถูกนำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ ที่ความเข้มข้น 3 – 6% ใช้ฆ่าเชื้อในครัวเรือน ฟอกขาวเสื้อผ้า ในกระบวนการรีดนมวัว ใช้ในโรงพยาบาล ใช้กับกระบวนการผลิตอาหาร ฟาร์มเห็ด ฟาร์มสัตว์ปีก การประมง, ที่ความเข้มข้น 12 – 16% ใช้ฆ่าเชื้อในสระว่ายน้ำ ใช้บำบัดบ่อน้ำเสีย
- ไม่ควรให้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่เข้มข้นสัมผัสร่างกาย
*****หมายเหตุ: ขนาดยา/ผลิตภัณฑ์ยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยา/ผลิตภัณฑ์ยาของแพทย์ได้ การใช้ยา/ผลิตภัณฑ์ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงโซเดียมไฮโปคลอไรท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยา แพ้สารเคมีทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยา/สารเคมีแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ ขึ้นผื่น แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา/ใช้สารเคมีอะไรอยู่ เพราะยา/สารเคมีเหล่านั้น อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยา/สารเคมีหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
โซเดียมไฮโปคลอไรท์อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น ผิวหนังที่สัมผัสสารนี้ เกิดระคายเคืองผิวหนัง ทำให้ผิวหนังมีสีแดง ปวด แสบ บวม และอาจพบอาการอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ซึ่งเมื่อพบอาการนี้หลังสัมผัสหรือสูดดมสารนี้ ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้โซเดียมไฮโปคลอไรท์
- ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามรับประทานหรือให้เข้าตาโดยเด็ดขาด
- ห้ามผสมโซเดียมไฮโปคลอไรท์ร่วมกับแอมโมเนีย ด้วยจะทำให้สารผสมดังกล่าวมี ความเป็นด่าง และก่อให้เกิดพิษต่อผิวหนัง/เนื้อเยื่อที่สัมผัสสารผสมนี้ได้มากยิ่งขึ้น
- สวม ถุงมือ แว่นตา หน้ากาก ป้องกันการสัมผัสโซเดียมไฮโปคลอไรท์เมื่อต้องใช้ สารเคมีชนิดนี้ในปริมาณสูง
- ระวังโซเดียมไฮโปคลอไรท์สัมผัสเสื้อผ้าโดยตรง ด้วยอาจทำให้เกิดรอยด่างขาว เกิดขึ้น
- เรียนรู้วิธีใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ โดยศึกษาจากคู่มือการใช้งาน เพื่อการปฏิบัติได้ อย่างถูกต้อง
- หากพบอาการแพ้ยา/แพ้สารนี้ เช่น เกิดภาวะหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- เก็บผลิตภัณฑ์โซเดียมไฮโปคลอไรท์ให้พ้นแสงแดด ปิดภาชนะบรรจุให้มิดชิด หลังจากใช้งาน เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ห้ามใช้สารที่หมดอายุ
- ห้าเก็บสารที่หมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโซเดียมไฮโปคลอไรท์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
เนื่องจากสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ ใช้แต่ภายนอก จึงยังไม่มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษาโซเดียมไฮโปคลอไรท์อย่างไร?
ควรเก็บผลิตภัณฑ์โซเดียมไฮโปคลอไรท์ในสถานที่เย็น ห้ามเก็บผลิตภัณฑ์ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บผลิตภัณฑ์ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โซเดียมไฮโปคลอไรท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Clorox (คลอรอกซ์) | Clorox company |
Dakin’s solution (ดาคินส โซลูชั่น) | CENTURY Pharmaceuticals |
Dakin's Solution Half Strength 0.25% (ดาคินส โซลูชั่น ฮาล์ฟ สเตรนท์ 0.25%) | CENTURY Pharmaceuticals |
อนึ่ง ชื่อการค้าของน้ำยาฆ่าเชื้อนี้ในต่างประเทศ เช่น Anasept, Hysept, Di-Dak-Sol
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_hypochlorite#Disinfection [2016,Dec3]
- http://www.lenntech.com/processes/disinfection/chemical/disinfectants-sodium-hypochlorite.html [2016,Dec3]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=sodium+hypochlorite [2016,Dec3]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=sodium+hypochlorite [2016,Dec3]
- https://scholarlyperio.wordpress.com/2013/08/20/sodium-hypochlorite-as-a-mouthwash/ [2016,Dec3]
- http://msdsdigital.com/system/files/cloroxclean-upcleanerwithbleach-spray.pdf [2016,Dec3]
- http://www.powellfab.com/technical_information/sodium_hypochlorite/what_is.aspx [2016,Dec3]