โซเดียมแลคเตท (Sodium Lactate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโซเดียมแลคเตท (Sodium Lactate) เป็นสารประกอบเคมีประเภทเกลือโซเดียมของกรดแลคติก (Lactic acid) มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ละลายน้ำได้ดี นักวิทยาศาสตร์นำ โซ เดียมแลคเตทไปใช้กับอุตสาหกรรมอาหารเพื่อช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและช่วยปรับสมดุล กรด - ด่างของผลิตภัณฑ์อาหาร แม้แต่การผลิตเครื่องสำอางสามารถผสมโซเดียมแลคเตทในแชมพูสระผมจะคอยทำหน้าที่เพิ่มความชุ่มชื้น ให้กับผิวหนัง

สำหรับประโยชน์ทางคลินิก โซเดียมแลคเตทจะถูกใช้เพื่อบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือให้ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำเพื่อควบคุมภาวะ Metabolic acidosis (ภาวะร่างกายเป็นกรดผิด ปกติ) แต่ห้ามใช้กับภาวะ Lactic acidosis (ภาวะร่างกายเป็นกรดจากสาร Lactate)

ผลิตภัณฑ์โซเดียมแลคเตทที่มีใช้ตามสถานพยาบาลจะมีลักษณะเป็นสารละลาย โดยใช้โซเดียมแลคเตท (Sodium lactate) 18.7 กรัมละลายในน้ำกลั่นที่ปราศจากเชื้อ 1,000 มิลลิ ลิตร บรรจุในขวดพลาสติกขนาด 500 และ 1,000 มิลลิลิตร มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาอาการผู้ ป่วยที่เสียน้ำและเกลือแร่ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดการขับปัสสาวะและทำให้เลือดมีสภาวะความเป็นด่างเพิ่มขึ้น การจะใช้สารละลายชนิดนี้กับผู้ป่วยจะต้องมีใบสั่งแพทย์ที่ระบุปริมาณ การใช้และกำกับอัตราการหยดโซเดียมแลคเตททางหลอดเลือดมาด้วยกัน

โซเดียมแลคเตทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โซเดียมแลคเตท

โซเดียมแลคเตทมีสรรพคุณดังนี้เช่น

  • ใช้รักษาสำหรับผู้ป่วยที่สูญเสียน้ำและเกลือแร่จากร่างกาย
  • ใช้ช่วยปรับค่าความเป็นกรด - ด่างของเลือดภายในร่างกาย

โซเดียมแลคเตทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาสารละลายโซเดียมแลคเตทคือ ตัวยาจะช่วยชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปพร้อมกับช่วยปรับภาวะความเป็นกรด - ด่างของเลือดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

โซเดียมแลคเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโซเดียมแลคเตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น จำหน่ายในรูปสารละลายที่มีขนาดความจุ 500 และ 1,000 มิลลิลิตร/ขวด

โซเดียมแลคเตทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การบริหารยา/ใช้ยาโซเดียมแลคเตทต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ โดยอาศัยผลการตรวจ สอบเลือดของผู้ป่วยเป็นแนวทางวินิจฉัย สามารถหารายละเอียดข้อมูลการใช้เพิ่มเติมจากเอก สารกำกับยาที่แนบมาพร้อมผลิตภัณฑ์

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโซเดียมแลคเตท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียมแลคเตทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โซเดียมแลคเตทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซเดียมแลคเตทอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น อาจพบภาวะเกลือโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ มีภาวะบวมน้ำและมีเกลือโซเดียมเกินในเลือด การใช้ยาเป็นเวลานานอาจทำให้สภาวะสมดุลของกรด - ด่างในเลือดเสียไป อาจมีอาการเจ็บหน้าอก รู้สึกสับสน กล้ามเนื้อเกร็งตัว/เป็นตะคริว จนถึงขั้นหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก

มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมแลคเตทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโซเดียมแลคเตทดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาโซเดียมแลคเตท
  • หยุดการให้ยาสารละลายโซเดียมแลคเตททันทีหากพบว่าขณะผู้ป่วยได้รับยาแล้วมีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะบวมน้ำหรือมีเกลือโซเดียมเกินในเลือด
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อก หัวใจล้มเหลว ด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะเกลือแลคเตท(Lactate) สูงอยู่แล้ว
  • ห้ามใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะ Lactic acidosis
  • ระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะเกลือโซเดียมหรือมีน้ำเกินในร่างกาย
  • ระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการใช้กับเด็กด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกสนับสนุนถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้สาร ละลายโซเดียมแลคเตทกับเด็ก
  • ระวังการใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การให้โซเดียมแลคเตทมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะ Metabolic alkalosis การหยดโซเดียมแลคเตทเข้าหลอดเลือดดำต้องใช้อัตราการหยดที่เหมาะสมโดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะมีน้ำเกินในร่างกายหรือเกิดการเสียสมดุลเกลือแร่ในเลือด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโซเดียมแลคเตทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ใน เว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โซเดียมแลคเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซเดียมแลคเตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาโซเดียมแลคเตทร่วมกับยา Aspirin อาจทำให้ฤทธิ์การรักษาของ Aspirin ลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกัน
  • การใช้ยาโซเดียมแลคเตทร่วมกับยา Pseudoephedrine อาจทำให้ผลข้างเคียงของ Pseudoephedrine เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีอาการตัวสั่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโซเดียมแลคเตทอย่างไร?

สามารถเก็บยาโซเดียมแลคเตทภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โซเดียมแลคเตทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซเดียมแลคเตทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Compound Sodium Lactate Intravenous Infusion BP (คอมพาวด์โซเดียมแลคเตทอินทราวีนัสอินฟิวชั่น บีพี) Baxter

บรรณานุกรม


1. http://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_lactate [2015,May2]
2. http://www.drugs.com/pro/sodium-lactate [2015,May2]
3. http://www.drugs.com/drug-interactions/sodium-lactate [2015,May2]
4. http://www.mims.com/usa/drug/info/sodium%20lactate/?type=full&mtype=generic#Dosage[2015,May2]
5. http://www.drugs.com/drug-interactions/sodium-lactate-index[2015,May2]
6. http://www.mhra.gov.uk/home/groups/spcpil/documents/spcpil/con1418098583458[2015,May2]