โซเดียม สติโบกลูโคเนต (Sodium stibogluconate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โซเดียม สติโบกลูโคเนตอย่างไร?
- โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโซเดียม สติโบกลูโคเนตอย่างไร?
- โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
บทนำ
ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนต หรือเกลือโซเดียม สติโบกลูโคเนต (Sodium stibogluconate หรือ Stibogluconate sodium) เป็นสารประกอบประเภทเกลือที่มีธาตุพลวง(Sb) อยู่ในแกนกลางของโมเลกุล ทางคลินิก ใช้ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตมาเป็นยารักษาโรคลิชมาเนีย(Leishmaniasis) ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อโปรโตซัว โดยมีแมลงที่เรียกว่า ริ้นฝอยทราย(Sand fly) เป็นพาหะนำโรค/พาหะโรค การถ่ายทอดโปรโตซัวลิชมาเนียจะเกิดขึ้นขณะริ้นฝอยทรายดูดเลือดมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์พบว่า มีเชื้อโปรโตซัวลิชมาเนียมากกว่า 20 ชนิดที่สามารถก่อโรคลิชมาเนียได้ อาการโรคลิชมาเนียที่เกิดกับมนุษย์มีลักษณะต่างๆ เช่น เกิดที่เฉพาะผิวหนัง (Cutaneous leishmaniasis) โดยโปรโตซัวที่ก่อโรคจะเข้าทำลายและก่อให้เกิดบาดแผลกับผิวหนังที่มีการติดเชื้อเท่านั้น กรณีโปรโตซัวลิชมาเนีย เข้าเล่นงานอวัยวะภายใน(Visceral leishmaniasis)จะส่งผลให้ช่วงแรกๆเกิดแผลที่ผิวหนังจากนั้นจะแสดงอาการ มีไข้ ระดับเม็ดเลือดแดงต่ำ ตับและม้ามโต เป็นต้น
นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นคว้าศึกษาวิจัยและค้นพบว่า มียาบางประเภทที่สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อลิชมาเนียในร่างกาย โดยยาแต่ละตัวมีความจำเพาะเจาะจงต่อตัวเชื้อลิชมาเนียแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกัน กลุ่มยาดังกล่าวได้แก่ Liposomal amphotericin B, Paramycin, Miltefosine, Fluconazole, และPentamidine เป็นต้น
สำหรับยาโซเดียม สติโบกลูโคเนต เป็นยาอีกหนึ่งรายการ ที่องค์การอนามัยโลกได้รับรองว่าสามารถต่อต้านเชื้อลิชมาเนียได้ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาเกลือโซเดียม สติโบกลูโคเนตเป็นแบบยาฉีด สามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ของโปรโตซัวลิชมาเนียที่มีชื่อว่า DNA topoisomerase I ทำให้โปรโตซัวหมดความสามารถในการสังเคราะห์สารพันธุกรรม(DNA)ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการแพร่พันธุ์
ในทางคลินิกระบุว่า การใช้ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตเพื่อรักษาโรคลิชมาเนียอย่างได้ผลนั้น จะต้องให้ยานี้เป็นปริมาณที่สูงๆและให้ยาในอัตราช้าๆ อาจเป็นด้วยเหตุผลที่ต้องการให้ตัวยานี้ได้มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโปรโตซัวลิชมาเนียได้มากที่สุด ระยะเวลาในการรักษาด้วยยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตก็มีความแตกต่างกันตามตำแหน่งของรอยโรค เช่น การติดเชื้อลิชมาเนียที่ผิวหนังอาจใช้ยานี้ไม่เกิน 2 วันก็เพียงพอต่อการรักษาโรค ในขณะที่ต้องใช้เวลาประมาณ 20 วันเป็นอย่างต่ำเพื่อรักษาโรคลิชมาเนียที่ติดเชื้อในอวัยวะภายในร่างกาย(Visceral Leishmaniasis) อย่างไรก็ตามภูมิคุ้มกันโรค/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/สารภูมิต้านทาน หรือที่เรียกว่า แอนตีบอดี(Antibody) ที่เกิดจากการได้รับเชื้อลิชมาเนียจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 4–24 เดือนเท่านั้น จึงทำให้แพทย์ต้องขอนัดตรวจร่างกายผู้ป้วยเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ภายในระยะเวลา 2–6 เดือน
สำหรับข้อห้ามใช้ของยาโซเดียม สติโบกลูโคเนต ถูกระบุไว้เพียงบางประการ เช่น
- ห้ามใช้โซเดียม สติโบกลูโคเนตกับผู้ป่วยโรคไต
- ห้ามใช้กับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
หลังจากได้รับยาโซเดียม สติโบกลูโคเนต ผู้ป่วยจำนวน 1–2% มักจะมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และ/หรือมีอาการปวดท้อง ซึ่งโดยทั่วไป อาการเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อหมดฤทธิ์ของยานี้
ปัจจุบันเราจะไม่พบเห็นการใช้ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนต ในประเทศไทยด้วยไม่มีการระบาดของโรคลิชมาเนียอย่างเด่นชัด แต่กลับพบเห็นการใช้ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตร่วมกับยาชนิดอื่นๆเพื่อรักษาโรคลิชมาเนียในต่างประเทศ อาทิ อินเดียอัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน จีน อาเซอไบจาน อิหร่าน และ อิสราเอล เป็นต้น
โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาอาการโรคลิชมาเนียทั้งประเภทการติดเชื้อที่ผิวหนัง และที่อวัยวะภายใน
โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตมีกลไกการออกฤทธ์โดย ตัวยาจะยับยั้งเอนไซม์ ชื่อ DNA topoisomerase ทำให้เชื้อลิชมาเนียหมดสภาพในการสังเคราะห์สารพันธุกรรมDNA ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเชื้อนี้ เชื้อนี้จึงหยุดกระจายพันธุ์ นักวิทยาศาตร์ยังตั้งข้อสันนิษฐานต่ออีกว่ายาโซเดียม สติโบกลูโคเนตยังช่วยยับยั้งการสังเคราะห์ ATP (Adenosine triphosphate, สารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้พลังงานของเซลล์)ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของเชื้อลิชมาเนียอีกด้วย จากกลไกที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลให้เกิดกลไกการรักษาโรคนี้ได้ตามสรรพคุณ
โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Sodium stibogluconate ขนาด 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยมีขนาดบรรจุ 100 มิลลิกรัม/ขวด
โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีขนาดบริหารยาอย่างไร?
ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตมีขนาดบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก.สำหรับกรณีการติดเชื้อลิชมาเนียที่อวัยวะภายในร่างกาย (Visceral Leishmaniasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำวันละ 10–20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลาติดต่อกัน 20 วันเป็นอย่างต่ำ ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 850 มิลลิกรัม/วัน หลังการบำบัดรักษาด้วยยานี้และผู้ป่วยหายจากโรคแล้ว ต้องมารับการตรวจเลือดทุก 2–6 เดือนหรือตามคำสั่งแพทย์เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของโรคนี้
ข. สำหรับการติดเชื้อโรคลิชมาเนียที่ผิวหนัง(Cutaneous leishmaniasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังบริเวณที่มีอาการโรคขนาด 100–300 มิลลิกรัม วันละ 1–2 ครั้ง แพทย์อาจให้ยาเป็นเวลา 1–2 วัน โดยขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานี้ กรณีนี้ ตัวยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตจะใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อลิชมาเนียสายพันธุ์ L. aethiopia
อนึ่ง:
- การฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำ ต้องใช้เวลาในการให้ยา/เดินยาอย่างช้า (5 นาทีขึ้นไป) ทั้งนี้เพื่อป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือดในบริเวณหลอดเลือดที่ได้รับการฉีดยานี้
- เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็กให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา โซเดียม สติโบกลูโคเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียม สติโบกลูโคเนต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถมารับการฉีดยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตได้ตามนัดหมาย ควรรีบติดต่อ แพทย์ พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ ที่ตรวจรักษา/ดูแลผู้ป่วย และทำการนัดหมายมารับการฉีดยานี้โดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรคนี้ในร่างกาย ที่อาจลุกลามและก่อให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงตามมา
แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตเพื่อรักษาโรคลิชมาเนีย ต้องอาศัยความต่อเนื่องและเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการรักษาไปเฉยๆโดยมิได้ขอคำปรึกษากับแพทย์
โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน ตับอ่อนอักเสบ การรับรสชาติเปลี่ยนไป
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น กรณีที่ได้รับยานี้ขนาดสูงอาจเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีการอักเสบของหลอดเลือด/ หลอดเลือดอักเสบ กับหลอดเลือดที่ได้รับการฉีดยานี้
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
มีข้อควรระวังการใช้โซเดียม สติโบกลูโคเนตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ตรวจสอบยาเตรียมโซเดียม สติโบกลูโคเนตก่อนฉีดให้ผู้ป่วย ต้องไม่มีตะกอนหรือเศษผงปะปนในสารละลายของตัวยา
- ป้องกันการติดเชื้อโรคลิชมาเนียโดย นอนกางมุ้ง ใช้ยาทากันแมลง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีแมลงริ้นฝอยทรายชุกชุม
- มารับการตรวจร่างกาย/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่พบเห็นปฏิกิริยาระหว่างยา ระหว่างยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตกับยารับประทานชนิดใดๆ อย่างไรก็ตามกรณีที่มีการใช้ยาชนิดอื่นร่วมกับยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดผื่นคัน และอื่นๆ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพื่อทำการรักษาทันที
ควรเก็บรักษาโซเดียม สติโบกลูโคเนตอย่างไร?
ควรเก็บยาโซเดียม สติโบกลูโคเนตภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โซเดียม สติโบกลูโคเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโซเดียม สติโบกลูโคเนต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
PENTOSTAM (เพนโทสแตม) | Glaxo Operations (UK) Limited |
SODIUM STIBO GLUCONATE (โซเดียม สติโบ กลูโคเนต) | ALB. DAVID |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Leishmaniasis[2017,Dec.9]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Leishmaniasis#Treatment[2017,Dec.9]
- http://www.mims.com/india/drug/info/sodium%20stibo%20gluconate%20(alb.%20david)/sodium%20stibo%20gluconate%20(alb.%20david)%20inj[2017,Dec.9]
- http://www.pharmaline.co.il/images/newsletterregistration/gsk/2013/25.07.13/pentostam_dr.pdf[2017,Dec.9]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB05630[2017,Dec.9]
- http://www.who.int/medicines/publications/essentialmedicines/EML_2015_FINAL_amended_NOV2015.pdf?ua=1[2017,Dec.9]